หน้าแรก

สวัสดีค่ะ พี่น้องมิตรชาวไร่ที่เคารพรักทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ผู้ร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ของวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนจากชุมชนไร่อ้อยของพี่น้องมิตรชาวไร่ให้เป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกัน ครั้งนี้จะพาไปติดตามความก้าวหน้า และผลการดำเนินงานโครงการ ทำตามพ่อฯ ในช่วงที่ผ่านมากันค่ะ

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงของการน้อมนำเอาความรู้ และหลักการปฏิบัติตามแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้รับการอบรม จากศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ทั้ง 7 แห่ง มาปรับใช้สู่การปฏิบัติจริงตามพิมพ์เขียว หรือแบบแปลนการพัฒนาพื้นที่เกษตร ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดการจัดทำพิมพ์เขียว หรือการออกแบบแปลนให้เหมาะสมกับบริบท และสภาพพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละคน ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานภายใต้หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่อง ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ คือ “การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ ในสังคมวิทยา คือนิสัย ใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ และเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”

และจากการน้อมนำความรู้สู่การปฏิบัติภายใต้ภูมิสังคมนั้น พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 297 ครอบครัว ได้มีการปฏิบัติจริงจนทำให้เกิดผลดี มีรูปธรรมความสำเร็จ เกิดการพัฒนา และความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวเกษตรกร ในหลากหลายมิติ ได้แก่

  1. การมีครอบครัวอบอุ่น ดังตัวอย่างครอบครัว คุณสุพล ไชยนา เกษตรกร ในโครงการทำตามพ่อ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร กล่าวว่า การที่คนในครอบครัวได้ช่วยกันทำมาหากิน ทำให้เรามีเวลาอยู่ด้วยกัน มากขึ้น เราลงมือทำให้ลูกได้เห็นให้เค้าได้เรียนรู้และซึมซับวิถีปลูก อยู่ปลูกกิน ผมว่าสิ่งเหล่านี้ คือ ความสุข
  2. การมีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค และแบ่งปัน ดังตัวอย่างครอบครัว คุณสมควร บุญขันธ์ เกษตรกร ในโครงการทำตามพ่อ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “ที่บ้านผมแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว และผลไม้ไว้สำหรับกินเองในครอบครัว และผมก็ดีใจมากที่ได้แบ่งปันผักผลไม้ปลอดสารที่ผมตั้งใจปลูกให้คนอื่น ๆ ได้กินด้วยกัน
  3. การได้พึ่งพาตนเองและ ภูมิใจในอาชีพ ดังตัวอย่างครอบครัว คุณปรีชา สุขสำราญ เกษตรกร โครงการทำตามพ่อ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า “พอเปลี่ยนมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตื่นเช้ามาเราได้ทำไร่ทำนาอยู่บนที่ที่เป็นของเรา เอง ถึงจะมีไม่มากแต่ก็มีเพียงพอแบบไม่ต้องพึ่งพาหาซื้อจากข้าง นอก เป็นความสุขใจและเราภูมิใจในอาชีพทำนา
  4. การลดรายจ่าย และมีรายได้เสริม ดังตัวอย่างครอบครัว คุณพยุง ธัญญเจริญ เกษตรกรในโครงการทำตามพ่อ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี สุขจากความพอใจที่ได้ใช้ชีวิตตามวิถีพอเพียง จากจุดเริ่มต้นทำเกษตรแบบ เกษตรพอดี วิถีพอเพียง ที่นอกจากจะช่วยลดรายจ่าย ยังสามารถ เพิ่มรายได้พิเศษให้กับครอบครัวได้ด้วย

ถ้าพี่น้องมิตรชาวไร่คิดว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ไกลตัวและเข้าใจยาก เราขอนำแนวคิดง่าย ๆ เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาฝากค่ะ โดยนำแนวคิดจาก คุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2558 ในฐานะที่ปรึกษาโครงการทำตามพ่อฯ กลุ่มมิตรผล ที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ตามศาสตร์พระราชากับพี่น้องในโครงการระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมแปลงเกษตรกรทั้ง 8 จังหวัด โดยมีหลักการ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ทฤษฎี หรือ ความรู้ วิชาการต่าง ๆ ที่จำเป็น และเหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่มาปรับใช้
  2. หลักการปฏิบัติ คือ นำเอาความรู้ หรือวิชาการต่าง ๆ จากการศึกษาเรียนรู้และอบรม นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง ด้วยวิธีทำๆ ท่อง ๆ จนเกิดความชำนาญ
  3. ระเบิดจากข้างใน คือ ทำจนเกิดองค์ความรู้ เกิดเป็นเคล็ดลับวิชา หรือการแตกตัวขององค์ความรู้
  4. การเกิดนวัตกรรม คือ การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิม กับองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันจนเกิดเป็นวิธีการ ใหม่ ๆ
  5. การทำแบบคนจน คือ เริ่มต้นทำจากสิ่งที่มีอยู่ รู้จักตนเอง ทำจากง่ายไปหายาก ลงทุนน้อยไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่น สร้าง และสะสมความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นฐานในการสร้างความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

จากการลงพื้นที่ของคุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ นอกจากจะเป็นการสร้างกำลังใจให้กับพี่น้องเกษตรกรแล้ว ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจ และเห็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ และการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ทฤษฎีใหม่ เพิ่มเติมและง่ายขึ้นอีกด้วย

ข่าวปักหมุด