หน้าแรก

พิมล กับหนทางสู่เป้าหมายของ หนองแซงโมเดล

พิมล สุภาพเพชร มิตรชาวไร่จากเขตส่งเสริมอ้อยที่ 10 โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว อาจเรียกได้ว่า เขาคือกลุ่มผู้บุกเบิกการจัดตั้ง “หนองแซงโมเดล” ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบอ้อยสดสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งคุณพิมล จะมาพูดคุยเกี่ยวกับหนองแซงโมเดล กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และแนวทางต่อไป โดยเฉพาะการใช้รูปแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มกับการทำงานของกลุ่ม

ก่อนจะเป็นหนองแซงโมเดล        

“แต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้ปลูกมัน ก่อนโรงงานมาตั้งเมื่อปี 2527 จึงเริ่มมีการปลูกอ้อย ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ใกล้โรงงาน ห่างจากโรงงานประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ที่นี่เรียกว่า หนองแซง เป็นหมู่บ้าน ขึ้นตรงกับ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หนองแซง จริง ๆ มี 2 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 2,000 คน มีอาชีพทำไร่อ้อย 100%” คุณพิมลเล่าถึงภูมิหลัง เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วก่อนที่หมู่บ้านแห่งนี้จะถูกจัดตั้งเป็นหนองแซงโมเดล

หนองแซงโมเดล-001.jpg

รวมกันเพื่อความยั่งยืน

เมื่อมีโรงงานน้ำตาล จึงเริ่มมีไร่อ้อย แต่การทำไร่อ้อยแบบต่างคนต่างทำนั้นเหนื่อยมากกว่า และได้ผลน้อยกว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยแห่งบ้านหนองแซงจึงรวมตัวกันฉันญาติมิตร ตั้งกลุ่มหนองแซงโมเดล เพื่อร่วมกันพัฒนาอาชีพเกษตรกรไร่อ้อยให้มีความมั่งคั่งยั่งยืน

“หนองแซงโมเดล คือ การจับกลุ่มทำอ้อยแบบสมัยใหม่ เราเอาเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วย สมัยก่อนหนองแซงใช้แรงงานมากที่สุดในเขตน้ำตาลภูเขียว ปัจจุบันใช้แรงงานน้อยที่สุดในเขตอำเภอภูเขียว ตอนแรกไม่ได้นึกถึงการประกวดอะไรเลย  เริ่มจากปี 2554 ไปดูงานที่ออสเตรเลียของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เราหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรไม่ได้ ก็คุยกันในเครือญาติก่อน คนที่มีรถบรรทุกอยู่แล้วก็จับกลุ่มกัน มีรถไถก็รวมกลุ่มกัน มาแชร์กัน ผลตอบรับก็โอเค กลุ่มเริ่มขยาย พอปีที่ 4 ก็เริ่มมีคันที่ 2 มา ปัญหาเริ่มหายไป”

“ช่วงแรกไม่ได้เชิญให้มาเข้าร่วม พอเขาเห็นก็เลยเริ่มเข้ามา เขาเริ่มเห็นความสบายของกลุ่ม อย่างของพ่อประสิทธิ์ แกมีรถแทรกเตอร์ มีรถไถเล็ก ก็ไปให้น้ำด้วยระบบโซลาเซลล์ ได้รับโล่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว พี่ปี เกลี้ยงคำ เรื่องจัดการผลผลิต ได้มาเกือบ 20 ตัน หลายคนที่เข้ามาก็เริ่มสร้างจุดเด่นของตัวเอง ก่อนมีโมเดลนี้ทุกคนก็แข่งขันกันด้านผลผลิต แต่ทุกคนก็เป็นเครือญาติกัน การบริหารจัดการก็ง่าย จะมีการประชุมกัน วางแผนกันว่าใครจะรื้อ ใครจะตัดก่อนตัดหลัง เราจะคุยกันก่อนเปิดหีบ กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็มีการพาลูกน้องไปพักผ่อน ถ้าได้ตามเป้า ต้องมีเป้า ถึงไม่ถึงก็อีกเรื่องหนึ่ง”

5 ร” เข็มทิศนำทางหนองแซงโมเดล

ปัจจุบันหนองแซงโมเดลถือว่าเป็นโมเดลที่ประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน พร้อมอนุรักษ์ดินน้ำและอากาศจนได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก Bonsucro ซึ่งคุณพิมล ได้พูดถึงการนำหนองแซงโมเดลเข้าประกวด ซึ่งมี “5 ร” เป็นเสมือนเข็มทิศนำทาง พากลุ่มเดินไปข้างหน้า  

“ตัวนี้เป็นโมเดลใหม่ ๆ ที่คนส่วนมากมารวมกันย่อมจะไปด้วยกันยาก แต่เราไม่มีปัญหา มิตรผลเห็นเราทำกัน เห็นจุดเด่นของเรา เลยนำโมเดลนี้ไปประกวด เราจัดทำสารคดี สัมภาษณ์ทุกคนในกลุ่ม มีการสรุปด้วยตัวอักษร “5 ร” คือ รวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ที่เราเอามาใช้ เรารวมกันได้อย่างไร คิดได้อย่างไร “ร” สุดท้ายก็มา “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล ก่อนที่จะมีหนองแซงโมเดล ผมก็เข้าประกวดคนเดียว ก็ได้ที่ 2 ตอนนี้ก็มีคนมาดูงานทุกเดือน เดือนที่แล้วก็ของกระทรวงเกษตร หลัก ๆ เขาก็ให้ความสนใจเยอะ แต่เขาก็ยังคิดว่าร่องแคบจะได้ผลผลิตเยอะ เราก็ให้เขาดูในสนามจริงเลย ผมก็เอาโมเดิร์นฟาร์มมาดัดแปลงตามแบบชาวไร่แบบผม มาประยุกต์ใช้”

หนองแซงโมเดล-002.jpg

แผนในอนาคต

“ในอนาคตผมจะอยู่ที่ประมาณนี้ บริหารจัดการแค่นี้ ถ้าเยอะไปจะซ้ำซ้อนกัน ถ้าเพิ่มจะขยายไปไกล เราจะบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตมากกว่า ก่อนจะทำผมก็มีแปลงทดลองให้ชาวไร่ได้ดูอยู่แล้ว ให้เห็นถึงผลประโยชน์ ในช่วงแรกใช้รถตัดแค่ 20% ตอนนี้ใช้ประมาณ 90% พื้นที่หนองแซงมีประมาณ 9,000 กว่าไร่ ไร่อ้อยประมาณ 170,000-180,000 ไม่เกิน 2-3 ปี น่าจะใช้รถตัด 100% 5-6 ปีที่ผ่านมาถือว่าก้าวมาเร็ว”  ดูเหมือนว่าแผนในอนาคตของคุณพิมล ไม่ได้มุ่งเน้นขยายกลุ่มให้กว้างออกไป แต่เป็นการมุ่งมั่นพัฒนากลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้คุณพิมล ยังมีข้อแนะนำสำหรับการรวมกลุ่มแบบหนองแซงโมเดลสำหรับมิตรชาวไร่ในคอลัมน์วิถีคนสู้นี้มาด้วย

“อยากให้จับกลุ่มกัน การลงทุนจะได้ไม่สูงมาก ต้องจับกลุ่มกับคนที่รู้ใจ มีอุดมการณ์เดียวกัน 500 - 600 ไร่ ก็ถือว่าไม่เยอะ พื้นที่ของผม ใช้รถตัดคันเดียวก็โอเค แต่ตอนนี้มี 3 คัน ลงทุนไปเกือบ 20 กว่าล้าน ถ้าเราจับกลุ่มกัน พื้นที่เราจะแน่น ทุกคนจะมีรายได้เยอะร่วมกัน เราไม่ต้องไปวิ่งเต้นหาพื้นที่เพิ่ม ตัดกันในกลุ่ม การลงทุนจะได้ไม่สูงมาก คันแรกของผมก็ 6 ปี ก็หมดไปแล้ว รถบรรทุกของผมก็ 24 คัน ถ้าลงทุนคนเดียวก็เสี่ยงเหมือนกัน ผลประโยชน์ก็ของใครของมัน ถ้าใครไม่มีอะไรเราก็มาช่วยกัน เราจะดูแลคนในกลุ่มของเราก่อน ก่อนที่จะไปรับเหมาคนข้างนอก เราต้องบริหารจัดการให้เสร็จในกลุ่มของเราก่อน”

ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต กับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

เพราะความขาดแคลนด้านแรงงาน การแก้ปัญหาของกลุ่มหนองแซงโมเดลจึงอาศัยการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในไร่

“การเอาเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วย ผมก็อยากไปดู พอมิตรผลเข้ามาผมก็เข้าไปทดลองก่อนใคร ในปี 2554 ผมได้ไปดูงานที่ออสเตรเลีย ของโมเดิร์นฟาร์ม ก็เอากลับมาวิเคราะห์กับเครื่องมือที่เรามี ปีที่ผ่านมาก็ได้ไปบลาซิล ก็คล้าย ๆ กับโมเดิร์นฟาร์ม ต่างกันที่เครื่องไม้เครื่องมือที่เอามาใช้ ผลผลิตก็โอเคอยู่ ชาวไร่อย่างเราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ คนส่วนมากจะคิดว่าต้นทุนจะสูง แต่ถ้าทำแบบผม รวมกลุ่มกัน ก็ช่วยประหยัดต้นทุนได้เยอะ ทั้งเรื่องท่อนพันธุ์ก็ประหยัด ปุ๋ย ยา ก็ประหยัด ถ้าเราบริหารจัดการเร็ว เราจะบำรุงรักษาได้เร็ว อ้อยก็จะแตกต่างกัน คุณภาพจะดีกว่า ก่อนมีนาคม อ้อยผมต้องเสร็จหมดแล้ว ถ้ามีโอกาสแนะนำให้จัดการเลย เราต้องเตรียมแปลงให้ถูกอย่างที่โมเดิร์นฟาร์มเขาทำ ปัญหาหลัก ๆ คือ การเตรียมแปลง ถ้าเตรียมได้ก็ไม่มีปัญหา ที่ผมเห็นเขาทำอย่างบลาซิล ต้นทุนเขาต่ำอยู่แล้ว บางคนพื้นที่อาจจะไม่เหมาะ แต่ถ้าทำแบบโมเดิร์นฟาร์ม ก็จะลดต้นทุนด้านแรงงานไปได้ แต่ก่อนคนหนึ่งทำไร่ไม่ถึง 20 ไร่ก็ถือว่ายาก เดี๋ยวนี้ผมทำ 700 ไร่ใช้แรงงานคนไม่กี่คน แต่ก่อนเริ่มจากระบบให้น้ำ ใช้น้ำราดวันหนึ่งได้ไม่กี่ไร่สองไร่ ใช้น้ำหยดวันหนึ่งได้วันละ 4-5 ไร่ นี่คือข้อแตกต่าง สะดวกและได้งานเยอะขึ้น”

นอกจากจะยึดหลักเกษตรสมัยใหม่แล้ว สำหรับคุณพิมลเรื่องความจริงใจและซื่อสัตย์ก็ต้องยึดถือไว้ไม่แพ้กัน “ก่อนปี 2527 เราก็ไม่ส่งให้โรงงานอื่น พอมิตรผลเข้ามาเราก็ส่งให้กับมิตรผล ที่สำคัญคือ สัจจะวาจา เราต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่เคยไปไกล ไปไกลสุดคือหนองเรือ ก็ในเครือมิตรผลอีก มิตรผลเป็นพี่เลี้ยงใหญ่ มีอะไรพูดคุยกันได้ ถ้าไม่มีตัวนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน”  

แน่นอนว่าก่อนที่ใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ หนทางก่อนหน้านั้นเขาย่อมเจออะไรมามากมาย แต่เพราะไม่ได้เดินทางคนเดียว พิมล สุภาพเพชร จึงไม่หวาดหวั่น และยังคงมุ่งมั่นที่จะทำให้กลุ่มแข็งแรงไปพร้อมกัน ภายใต้โครงสร้างของหนองแซงโมเดล 

ข่าวปักหมุด