หน้าแรก

เมื่อพูดถึงตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการทำไร่อ้อย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “เครื่องจักรทางการเกษตร” ยิ่งในยุค 4.0 ด้วยแล้ว ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องจักรสมัยใหม่กำลังก้าวเข้ามาเป็นผู้ช่วยหลักที่ทรงประสิทธิภาพของชาวไร่

อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรสมัยใหม่มักมีหลายรูปแบบ หลายวัตถุประสงค์การใช้งาน ประกอบกับมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ชาวไร่หลายรายไม่กล้าตัดสินใจนำเครื่องจักรเหล่านั้นเข้ามาใช้งาน

วันนี้คนเก่งเกษตรสมัยใหม่ มีมิตรชาวไร่ที่ไม่กลัวที่จะลองนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในไร่อ้อย จนได้รับฉายา ผู้บุกเบิกการนำรถตัดอ้อยเข้ามาใช้เป็นรายแรกของจังหวัดเลย

คุณไฉน ศรีเชียงษา ชาวไร่มิตรภูหลวง สังกัดเขตส่งเสริมอ้อยที่ 3 คือคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ที่เรากำลังพูดถึง ซึ่งในอดีต คุณไฉนเป็นนักธุรกิจเจ้าของกิจการรับเหมาและขายวัสดุก่อสร้าง แต่ต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตกช่วงปี 2540 จึงเริ่มมองหาลู่ทางในการทำธุรกิจใหม่ ๆ จนหันมาสนใจในการทำไร่อ้อย ด้วยมองว่า ถ้าหากทำไร่อ้อย เราก็จะมีอ้อยอยู่ในมือ ถ้าเราทำได้ผลผลิตดี ก็จะมีรายได้ที่มั่นคง เพราะมีการรับซื้อจากโรงงานน้ำตาล แต่การขายวัสดุก่อสร้าง บางครั้งเมื่อไม่มีลูกค้า ก็เท่ากับว่ารายได้จะหายไป

คุณไฉนเล่าถึงจุดเริ่มต้นทำไร่อ้อยว่า “เหตุผลหนึ่งที่มาทำไร่อ้อยคือ เดิมคุณพ่อของเราทำอาชีพค้าขายพวกข้าวโพด ข้าว แต่ว่ามีโรงงานมาตั้งอยู่ที่ภูเขียวพอดี พ่อก็เลยบอกว่าจะเปลี่ยนมาทำอ้อย เพราะว่าทำอ้อยมันก็ดีกว่าข้าว ทนแล้งกว่าด้วย”

ไฉน-ศรีเชียงษา-003.jpg

ในยุคแรกเริ่มของการทำไร่อ้อยนั้น คุณไฉนเล่าว่า ในไร่มีเครื่องจักรเพียงชนิดเดียวคือรถไถ เพื่อใช้ในการปลูกอ้อย แต่ต่อมาเมื่อแรงงานคนเริ่มลดน้อยลงจนส่งผลต่อการตัดอ้อย คุณไฉนจึงมีความสนใจที่จะนำเครื่องจักรการเกษตรอื่นเข้ามาใช้ในไร่

“ตอนนั้นมีปัญหาแรงงานคนตัดอ้อยหายาก แล้วเราอยู่ไกล กว่าจะตัดแล้วขนส่งไปที่ภูเขียวได้ ระยะทางก็เกือบหนึ่งร้อยกิโลเมตร เกิดปัญหาค่าขนส่ง กับแรงงานตัดไม่ทัน แรงงานนี่แหละสำคัญ บางครั้งเราจ่ายค่าจ้างไปแล้วเขาก็ไม่มาตัดอ้อยให้เรา ว่าง่าย ๆ ก็คือโดนโกง เก็บหนี้ก็ไม่ได้ ตัดอ้อยก็ไม่เสร็จ เป็นปัญหาใหญ่ พี่ก็เลยมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเอารถตัดมาตัดอ้อยที่จังหวัดเลยได้ เพราะสมัยนั้นไม่มีใครกล้าซื้อสักคนเลย ก่อนหน้านี้จะมีแต่รถตัดรับจ้าง ตัดแล้วก็กลับ ไม่มีใครกล้าซื้อ ผมก็เลยซื้อรถตัดมาตัดเป็นคันแรก เป็นคนบุกเบิกคันแรกของจังหวัดเลยที่ภูหลวง ตอนนี้ก็ประมาณ 8 ปีแล้วที่ซื้อรถตัดคันแรกมา”

นอกจากนี้ คุณไฉนยังไปศึกษาดูงานกลุ่มหนองแซงโมเดล และได้นำเอาวิธีการบริหารจัดการกลุ่มรถตัดมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่และบริหารสมาชิกกลุ่มตัดของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนทำให้มั่นใจและกล้าตัดสินใจซื้อรถตัดอ้อยคันที่สองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยรถตัดคันที่สองนั้น เป็นรถตัดแบบล้อแทรค ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่เป็นเนินอย่างจังหวัดเลย

ไฉน-ศรีเชียงษา-004.jpg

ปัจจุบันรถตัดอ้อยแบบล้อแทรคของคุณไฉนนั้นเป็นที่ถูกใจผู้ว่าจ้างเป็นอย่างมาก “ส่วนใหญ่เราจะรับจ้างจะไปตัดให้ชาวไร่กลุ่มใกล้ ๆ กับโรงงาน ซึ่งกลุ่มนั้นชอบมาก ตามตลอดเลย เพราะพื้นที่แถวนั้นมีร่อง รถล้อแทรคมันจะเดินข้ามได้เลย แต่ถ้าเป็นล้อยาง ชาวไร่ต้องใช้คนไปตัดออกมา มันมีร่องน้ำ หรือมีอะไรเป็นเหวนิดหนึ่งมันก็ข้ามได้ แล้วร่องถี่ ประมาณ 1.5 -1.6 เมตร มันจะตัดได้ดีกว่าตัวล้อยาง ชาวบ้านเขาก็ชอบ เฝ้ารอรถของเราเลย อย่างที่ไปตัดที่เพชรบูรณ์ ชาวไร่ที่เพชรบูรณ์ก็โทรมาบอกว่าตัดแล้วการงอกของอ้อยดี อ้อยเขางอกดีมากเลย ผมก็ถือว่าเห็นผลลัพธ์ชัดเจน”

นอกเหนือไปจากรถตัดแล้ว คุณไฉนยังก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการนำ โดรนพ่นปุ๋ยทางใบ มาใช้ในไร่อ้อยของตนเอง ซึ่งคุณไฉนคอนเฟิร์มว่า “เวิร์ก” สามารถลดต้นทุนการให้ปุ๋ยได้ โดยการใช้โดรนฉีดปุ๋ยน้ำ 3 ครั้ง จะเท่ากับการให้ปุ๋ยกระสอบหนึ่ง

แม้เครื่องพ่นปุ๋ยจะมีราคาสูงเกือบ 3 แสนบาท แต่คุณไฉนก็มองว่ามันคุ้มค่า “ปัญหาตอนนี้คือไม่มีแรงงานคน อย่างถ้าอ้อยหนา ๆ แบบนี้แล้วใครจะมาเดินให้เรา เพราะว่าเขาต้องเดินแล้วพ่นขึ้นข้างบน แล้วมันเปียกไง คนงานก็ไม่ค่อยอยากทำ หรือสมมุติว่าฝนตก คนงานก็ไม่ค่อยไป ข้อสำคัญคือเราไม่ต้องรอฝน อากาศแล้ง ๆ เราก็ฉีดปุ๋ยได้ ถ้าเป็นปุ๋ยเม็ดเราต้องรอฝน เพราะปุ๋ยอาศัยความชื้นถึงจะซึมลงไป พืชถึงจะได้กิน แบบนี้มันคือปุ๋ยน้ำ พืชกินทางใบได้เลย ถ้าเราศึกษาดูปุ๋ย การหว่าน ไม่ได้ฝัง พืชก็จะได้กินอยู่ 60% ส่วนที่เหลือก็ไปกับอากาศ ถึงดินจะมีความชื้นมันก็จะไป แต่ปุ๋ยน้ำเนี่ย อ้อยได้สารอาหารเยอะกว่า งามกว่า ก่อนจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องพิสูจน์ก่อน ได้ผลค่อยซื้อ เราเคยทดลองให้รถตัดมาพ่นปุ๋ยน้ำ มันดีกว่า ก็คิดว่า ถ้าใช้เป็นโดรนมันก็ยิ่งต้องดีกว่าสิ พอตัดสินใจซื้อมาใช้ ก็ปรากฏว่าได้ผลนะ อ้อยเราทุกแปลงให้แต่ปุ๋ยทางใบ แล้วคน ๆ หนึ่ง ใช้รถไถพ่น วันหนึ่งก็ได้ไม่เกิน 20 ไร่ แต่โดรนวันหนึ่งใส่ปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ถ้าเป็นแปลงใหญ่ 200 ไร่ก็ได้ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ สมัยก่อน ช่วงปีก่อนมันจะมีเพลี้ยแป้ง แล้วต้องใช้แรงงานคนฉีด คนงานก็ไม่ค่อยอยากฉีด แต่ถ้ามาตอนนี้เราก็ใช้โดรนนี้ฉีดพ่น ก็หมดปัญหา ดีกว่าใช้แรงงานคน”

คุณไฉนฝากถึงชาวไร่ที่ยังประสบปัญหาแรงงานคนแต่ยังกลัวที่จะใช้เครื่องจักรว่า “ยุคนี้มันเป็นยุค 4.0 แล้ว มันก็ต้องใช้เครื่องจักร ใช้พวกโดรน เมื่อขาดแรงงาน มันก็จำเป็นต้องใช้ หลายคนไม่กล้าทดลองเพราะว่ากลัวไม่ได้ผล แต่ผมฝากบอกเลยว่ามันได้ผล และมันก็คุ้มกับที่เราได้ลงทุนหลาย ๆ อย่างไป ที่ผมกล้าจะซื้อเครื่องจักร เพราะก่อนจะซื้อเราทดลองก่อนแล้ว มันได้ผล เราศึกษาข้อมูลส่วนใหญ่จากในอินเทอร์เน็ต แล้วก็ไปถามคนที่เขาศึกษาหรือทำมาก่อนแล้ว ถ้าถามแล้วไม่ได้ผลเราก็ต้องพิสูจน์เอง ถึงกล้าซื้อ ถ้าไม่ได้ลองไม่กล้า จู่ ๆ จะให้พี่ไปซื้อโดรนลำละสามแสนมาพ่น พี่ก็ไม่กล้าซื้อ ต้องทดลองเอง ยุคนี้เราต้องปรับเข้าให้ได้กับยุค 4.0”

และนี่คือคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ที่รู้จักปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานในไร่อ้อย ทดแทนปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ยิ่งลดน้อยถอยลงต่อไปในอนาคต

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1

ข่าวปักหมุด