มิตรชาวไร่ทุกท่านคะ พูดถึงศัตรูตัวฉกาจที่คอยกัดกินหัวใจของเราชาวไร่อ้อยคงไม่มีตัวไหนน่าหมั่นไส้เท่า “หนอนกออ้อย” อีกแล้ว เจ้าหนอนปีศาจที่เจาะลึกเข้าไปอาศัยอยู่ภายในน้องอ้อยของเรา จนทำให้ค่าความหวานลดลง ซ้ำร้ายยังสูญเสียน้ำหนักผลผลิตถึง 2 ตันต่อไร่เลยทีเดียว แหมๆๆ ได้ยินแบบนี้แล้วมันน่ากำจัดทิ้งให้สิ้นซากจริง ๆ ค่ะ เอ้า ! อย่ารอช้า มิตรผลของเรามีวิธีจัดการเจ้าเกรียนทำลายอ้อยตัวนี้มาเล่าให้ฟังค่ะ
ก่อนจะโจมตีข้าศึกเราต้องรู้จักข้าศึกของเราให้ดีซะก่อน “หนอนกออ้อย” คือ แมลงศัตรูในระยะตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ภายในลำต้นอ้อยกัดกินเนื้ออ้อย ทำให้อ้อยไส้กลวงเกิดเป็นแผลภายใน ซึ่งเมื่อหนอนกออ้อยฟักจากไข่ มันจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กัดกินผิวใบหรือหน่ออ้อยระยะเวลาสั้น ๆ จากนั้นค่อยเจาะเข้าไปภายในลำต้นและอาศัยอยู่ภายในอ้อย พอหน่อที่อาศัยอยู่ตายก็จะย้ายไปทำลายหน่อใหม่ เพราะฉะนั้นหนอนกออ้อย 1 ตัวจะทำลายอ้อยได้ถึง 3-4 หน่อ ลักษณะต้นอ้อยที่โดนโจมตี ยอดจะแห้งตาย ส่งกลิ่นเหม็น โคนบริเวณลำต้นจะมีรอยเจาะเป็นรู ทำให้ลำต้นอ้อยแตก การเจริญเติบโตชะงักลง
วิธีที่จะจัดการข้าศึกอย่างหนอนกออ้อย มีทั้งการเลือกอ้อยพันธุ์ที่มีความต้านทานสูง การลดปุ๋ยไนโตรเจนในระยะเริ่มปลูก รวมถึงใช้สารเคมีกำจัด แต่วิธีเหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แถมยังอาจเป็นอันตรายกับเพื่อนมิตรชาวไร่เองอีกด้วย ดังนั้นเรามีวิธีปราบมารด้วยสมองและสองมือง่าย ๆ มาฝากค่ะ
วิธีนี้ค่าใช้จ่ายน้อยมาก และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย เพราะเราจะกำจัดหนอนกออ้อยด้วยศัตรูธรรมชาติอย่าง “แตนเบียน” ซึ่งปัจจุบันมิตรชาวไร่บางคนก็สามารถเพาะเลี้ยงเองได้แล้ว แตนเบียนที่นิยมกันคือ
แตนเบียนหนอนโคทีเซีย (Cotesia flavipes (Cameron)) ตัวเมียจะผ่านเข้าไปในรูเจาะลำตัวของหนอนกออ้อยแล้ววางไข่ภายในตัวหนอน ตัวอ่อนแตนเบียนจะฟักออกและเติบโตในตัวหนอน พอถึงระยะดักแด้ หนอนกออ้อยจะอ่อนแอและตายในที่สุด
แตนเบียนไข่ตริโคแกรมม่า (Trichogramma spp.) จะวางไข่ไว้ในไข่ของหนอนกออ้อย นอกจากช่วยทำลายไข่ ของหนอนกออ้อยได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังช่วยทำลายไข่ผีเสื้อศัตรูพืชอื่น ๆ อีกด้วย
การใช้แตนเบียนในไร่อ้อย แนะนะให้ปล่อยในอัตรา 12,000-20,000 ตัวต่อไร่ ต่อเนื่อง 6-7 ครั้งต่อฤดูปลูก จะสามารถลดการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยได้เกือบ 70% และยังพบว่าผลผลิตน้ำตาลสูงกว่าแปลงที่ไม่มีการปล่อยแตนเบียนถึง 25% เลยทีเดียว
ช่วงนี้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว มิตรผลเราก็เตรียมตัวเพาะพันธุ์แตนเบียน ศัตรูธรรมชาติที่จะมาคอยปราบเกรียนทำลายอ้อยอย่างหนอนกออ้อย เพื่อให้เพื่อนมิตรชาวไร่มารับไปจัดการในฤดูกาลถัดไปแล้วล่ะค่ะ ใครสนใจสามารถปรึกษาได้ที่ สำนักงานเขตส่งเสริมใกล้บ้านท่านได้เลยนะคะ