หน้าแรก

พูดถึงเรื่อง BONSUCRO มิตรชาวไร่หลายท่านอาจมีความสงสัยว่า มีความจำเป็นแค่ไหนที่จะทำให้ไร่อ้อยของตัวเองผ่านการรับรองมาตรฐาน BONSUCRO ตอบง่าย ๆ ว่า วิถีของ BONSUCRO จะสร้างความยั่งยืนให้กับไร่อ้อยของเรา ซึ่งก็คือ ผลผลิตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน รายได้ที่มั่นคง มั่งคั่ง นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวไร่ และที่สำคัญยังสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับแนวทางของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มกับรูปแบบการทำไร่สมัยใหม่ ที่ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเข้ามาปรับใช้ให้บรรลุตามทฤษฎี 2 ลด 2 เพิ่ม ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต และลดระยะเวลาในการทำไร่ ควบคู่ไปกับการมุ่งเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับมิตรชาวไร่ เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐาน BONSUCRO ทุกมิติ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่ได้มาตรฐานไร่อ้อยยั่งยืน BONSUCRO นั้น ประกอบด้วยหลัก 5 ข้อ ดังนี้

  1. หลักปฏิบัติตามกฎหมายทุกระดับ การตรวจสอบการถือครองที่ดิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินที่นำมาทำไร่อ้อยนั้นเป็นที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการยินยอมให้นำมาทำประโยชน์จากเจ้าของ นอกจากนี้ ต้องไม่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน หรือเป็นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ไม่เหมาะนำมาทำการเกษตร การพิสูจน์ความถูกต้องตามหลักปฏิบัติทางกฎหมายทำได้โดยการแสดงเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดิน เช่น โฉนด นส.3 ใบเสียภาษีที่ดิน หรือหากเป็นที่ดินเช่าก็ต้องมีเอกสารสัญญาเช่าและสำเนาของโฉนด สำเนาใบเสียภาษีที่ดิน
  2. หลักเคารพสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานแรงงาน
  • ไม่ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายในไร่ เช่น ฉีดพ่นสารเคมี หรือใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร
  • ไม่บังคับใช้แรงงาน และไม่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
  • การกำหนดอัตราค่าจ้างต้องเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และมีการจ่ายเงินตรงตามเวลา
  • ต้องจัดเตรียมน้ำดื่มสะอาดให้กับแรงงานอย่างเพียงพอ
  • ต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อให้แรงงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยแรงงานต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลในการทำงาน เช่น ถุงมือ รองเท้าบูท ผ้าปิดจมูก หมวก เสื้อกันสารเคมี เป็นต้น
  • หากสามารถทำสัญญาจ้างงานได้ก็จะดีที่สุด
  1. หลักบริหารจัดการปัจจัยการผลิตให้มีประสิทธิภาพ พื้นฐานที่ดีของการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต และกระบวนการทำไร่อย่างมีประสิทธิภาพ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลดีมาที่ผลผลิต ซึ่ง BONSUCRO ได้กำหนดปริมาณผลผลิตแต่ละพื้นที่ไว้แตกต่างกัน โดยใช้แผนที่แบ่งโซนตามสภาพอากาศ Climatic Zone ทั่วโลก ทั้งหมด 15 เขต ตั้งแต่เขตแห้งแล้งที่สุดจนถึงเขตที่มีฝนตกชุกที่สุด ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตที่ 5 – 7 มีค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ 2 ลักษณะตามลักษณะพื้นที่ปลูกอ้อย เขตอาศัยน้ำฝน มีค่าเฉลี่ย 9.6 ตัน/ไร่ และเขตอาศัยน้ำชลประทาน มีค่าเฉลี่ย 14 ตัน/ไร่
  2. หลักบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การทำไร่อ้อยอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทางดิน น้ำ อากาศ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น ชาวไร่ต้องไม่ใช้สารเคมีมากเกินไป และไม่ใช้สารเคมีต้องห้าม เช่น ฟูราดาน เป็นต้น ลดการเผาใบอ้อย เพื่อให้ใบอ้อยคลุมดิน ทำให้การใช้สารเคมีในอ้อยลดลง เมื่อใบอ้อยย่อยสลายก็กลายเป็นอินทรียวัตถุและเพิ่มธาตุอาหาร ทำให้ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์น้อยลง เมื่อทำแบบนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานระบบนิเวศในแปลงอ้อยก็จะดีขึ้น
  3. หลักปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราสร้างอาชีพชาวไร่ให้มั่นคง แข็งแรง สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเกษตรกรยุคใหม่จึงต้องขยันปรับปรุงการทำงานในไร่อยู่เสมอ โดยเงิน 1% ของรายรับทั้งปีก็เพียงพอในการพัฒนาทักษะและความสามารถของคนในไร่ได้หลายอย่าง นอกจากนี้การนำเทคนิควิธีการทำไร่ใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ก็สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ เช่น การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบน้ำหยดซึ่งช่วยประหยัดน้ำ การไม่เผาใบอ้อยทำให้ไว้ตอได้นานหลายปี จึงไม่ต้องไถพรวนหน้าดินบ่อย ๆ ส่งผลให้มีการใช้เชื้อเพลิงน้อยลง เป็นต้น

จะเห็นว่าการทำไร่อ้อยยุคใหม่ตามแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ BONSUCRO ในทุกมิติ จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะทำให้ไร่อ้อยของมิตรผลผ่านมาตรฐานนี้ จนทำให้เราเป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายที่ 2 ของเอเชีย ที่ได้ก้าวผงาดไปสู่มาตรฐานโลกอย่างมั่นคง

 

ข่าวปักหมุด