หน้าแรก

ช่วงนี้โรคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาด MPMF จึงอยากให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากหลายไร่ หลายบ้าน เลี้ยงน้องหมาไว้ดูแลเป็นองครักษ์พิทักษ์ไร่อ้อย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมองข้าม เพราะโรคพิษสุนัขบ้าอันตรายถึงชีวิตเชียวนะคะ

(16)

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร ?

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง และถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่จะรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้

(15)

คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากทางใดได้บ้าง ?

คนสามารถติดโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางคือ

  1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด

(14)

  1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลียบริเวณที่มีบาดแผล โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน โดยคนนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา

(13)

คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการอย่างไร ?

ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด

(12)

ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้ากัด

  1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

(11)

  1. ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ หากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน

(10)

  1. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทันท่วงที

(9)

  1. ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้ง ผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก ส่วนในกรณีที่ถูกเลียผิวหนังที่ไม่มีแผลหรือเพียงแต่อุ้มสุนัขไม่สามารถจะติดโรคได้

(8)

วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

เนื่องจากในปัจจุบันเราใช้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าชนิดที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง (ฉีด 5 ครั้งเท่านั้น) เพราะมีประสิทธิภาพสูง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท และควรฉีดเซรุ่มร่วมด้วย ถ้าบาดแผลมีเลือดออก ถูกเลียที่ริมฝีปาก น้ำลายกระเด็นเข้าตา

(7)

สถานเสาวภาใช้โปรแกรมการฉีดวัคซีน 2 แบบคือ แบบปกติฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และแบบประหยัดฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แต่ละแบบจะได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 5 ครั้ง

(6)

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร ?

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเซรุ่มส่วนของน้ำใสของเลือดที่ได้จากม้าหรือคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในปริมาณที่มาก เซรุ่มจะไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด โดยการฉีดรอบ ๆ แผลก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้การให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนเข็มแรก จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ผลดีที่สุด แต่เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำมาจากเลือดคน ดังนั้น สถานเสาวภาจึงได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดม้า และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน เพื่อใช้เองภายในประเทศ โดยขอรับบริจาคโลหิตจากคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบแล้ว และต้องการเข้าโครงการเพื่อทำบุญ กรุณาติดต่อ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ทุกวันเวลาราชการ

(5)

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า

สามารถฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า โดยการฉีดเพียง 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ไม่จำกัดอายุ โดยเฉพาะเด็กที่มักเล่นกับสัตว์และมีโอกาสถูกสัตว์กัด มักมีบาดแผลที่รุนแรง บริเวณใบหน้า ศีรษะ หรือถูกเลียมือที่มีแผลหรือที่ปาก โดยไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ หรือควรฉีดป้องกันในบุคคลทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น

(4)

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า

  1. เมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล
  2. ไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่มรอบ ๆ แผล

(3)

สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการอย่างไร ?

พบได้ 2 แบบคือ

  1. แบบดุร้าย มีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่น ๆ ถ้าผูกโซ่หรือกักขังไว้ในกรง จะกัดโซ่ กรง หรือสิ่งของที่อยู่ใกล้อย่างดุร้าย บางครั้งสุนัขจะกัดจนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผล มีเลือดออก เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด

(2)

  1. แบบเซื่องซึม มีอาการปากอ้าหุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่และลิ้นห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักจะเอามือล้วงแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม สุนัขจะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง ไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมาก ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน

(1)

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านอย่าลืมนำน้องหมาน้องแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากันนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากชาว MPMF

ข้อมูลจาก http://www.ku.ac.th

ข่าวปักหมุด