- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- อ., 21 ม.ค. 63
“เอ-ตา, ชา-บี, ซี-ฟัน, หมัน-อี, ดี-กระดู, เค-เลือด” ตอนเด็ก ๆ ใครเคยท่องประโยชน์ของวิตามินกันบ้างคะ ขอมือหน่อย…บางคนเคย หรือบางคนอาจจะเพิ่งผ่านตาเป็นครั้งแรกใช่ไหมคะ ประโยคท่องจำประโยคนี้ช่วยให้เราจดจำความสำคัญของสารอาหารหรือวิตามินสำคัญ ๆ ต่อร่างกายเราได้อย่างดี เพื่อให้เรากินอาหารให้หลากหลายเพื่อได้รับคุณค่าจากวิตามินต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน
ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นนะคะ ที่ต้องการสารอาหารเพื่อช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ “พืช” ต่าง ๆ ทั้งพืชที่คนใช้กินเป็นอาหาร หรือพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคก็เช่นเดียวกัน
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มวันนี้มีความรู้เรื่อง อาการของพืชเมื่อขาดธาตุอาหารแต่ละชนิดมาฝากมิตรชาวไร่ค่ะ เพื่อเราจะได้รู้เท่าทันอาการของพืชที่เราปลูกว่าขาดสารอาหารตัวไหน จะได้เพิ่มหรือลดปริมาณสารบำรุงพืชหรือปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ไปดูกันเลยค่ะ
ไนโตรเจน (N)
หน้าที่สำคัญ : เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน โปรตีน คลอโรฟิลล์ กรดนิวคลีอิกและเอนไซม์ในพืช ส่งเสริมการเจริญเติบโตของยอดอ่อน ใบและกิ่งก้าน
อาการขาดธาตุ : โตช้า ใบล่างมีสีเหลือง ซีดทั้งแผ่นใบ ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลแล้วร่วงหล่น หลังจากนั้นใบบน ๆ จะมีสีเหลือง
ฟอสฟอรัส (P)
หน้าที่สำคัญ : ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนและสารอินทรีย์ที่สำคัญในพืช เป็นองค์ประกอบของสารที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดพลังงานในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสังเคราะห์แสงและการหายใจ เป็นต้น
อาการขาดธาตุ : ใบล่างเริ่มมีสีม่วงตามแผ่นใบ ต่อมาใบเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น ลำตันแคระแกร็น ไม่ผลิดอกออกผล
โพแทสเซียม (K)
หน้าที่สำคัญ : ช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของน้ำตาลจากใบไปยังผล ช่วยให้ผลเจริญเติบโตเร็ว พืชแข็งแรง มีความต้านทานโรคบางชนิด
อาการขาดธาตุ : ใบล่างมีอาการเหลือง แล้วกลายเป็นสีน้ำตาลตามขอบใบ แล้วลุกลามเข้ามาเป็นหย่อม ๆ ตามแผ่นใบ อาจพบว่าแผ่นใบโค้งเล็กน้อย รากเจริญช้า ลำต้นอ่อนแอ ผลไม่เติบโต
แคลเซียม (C)
หน้าที่สำคัญ : เป็นองค์ประกอบในสารที่เชื่อมผนังเซลล์ให้ติดกัน ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ด และช่วยให้เอนไซม์บางชนิดทำงานได้ดี
อาการขาดธาตุ : ใบที่เจริญใหม่ ๆ หงิก ตายอดไม่เจริญ อาจมีจุดดำที่เส้นใบรากสั้น ผลแตก และคุณภาพไม่ดี
แมกนีเซียม (Mg)
หน้าที่สำคัญ : เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรด-ด่างในเซลล์พอเหมาะ ช่วยในการงอกของเมล็ด
อาการขาดธาตุ : ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบและใบร่วงหล่นเร็ว
กำมะถัน (S)
หน้าที่สำคัญ : เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน โปรตีน และวิตามิน
อาการขาดธาตุ : ใบทั้งบนและล่างมีสีเหลืองซีดและต้นอ่อนแอ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ อ่านแล้วทำให้เข้าใจพืชมากขึ้นใช่ไหมเอ่ย เอาเป็นว่าครั้งหน้า เราจะนำเสนออาการของอ้อยโดยเฉพาะเจาะจงกันไปเลยว่า หากอ้อยขาดธาตุอาหารแต่ละชนิด แล้วเขาจะแสดงอาการออกมายังไงบ้าง รับรองว่าได้เข้าใจอ้อยอย่างลึกซึ้ง เพื่อการเพิ่มผลผลิตอย่างถูกจุดแน่นอนค่ะ.
ข้อมูลจาก : ผศ.ดร.ชัยสิทธิ์ ทองจู ภาควิชาปฐพีวิทยา ม.เกษตรศาสตร์