ทำไมต้องมีประเพณี? หลายคนคงเคยตั้งคำถามนี้ เมื่อไรก็ตามที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีการทำกิจกรรมร่วมกัน และเมื่อกิจกรรมนั้นถูกสืบทอดและปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มรวมถึงมีความสำคัญต่อสังคม ประเพณีต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น “ประเพณีโยนอ้อย” ก็เช่นกัน
ประเพณีโยนอ้อย มีที่มาจากคุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล ที่เห็นความสำคัญของการเปิดหีบอ้อยที่มีต่อความหวังของเพื่อนมิตรชาวไร่ จึงจัดให้มีพิธีนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีทางศาสนา ในช่วงที่โรงงานกำลังเริ่มเดินเครื่องจักร ก่อนจะให้มีการประเดิมโยนอ้อยเข้าไปในหีบอ้อย ประหนึ่งพิธีตัดไม้ข่มนามในสมัยโบราณ ที่ก่อนทหารจะทำศึกใหญ่ จะต้องทำพิธีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการพิชิตชัยชนะ
โดยแต่ละโรงงานน้ำตาลมีช่วงเปิดหีบอ้อยไม่ตรงกัน ยึดตามความเหมาะสมของผลผลิตในแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงปลายปีประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ซึ่งแต่ละโรงหีบอ้อยจะเชิญแขกผู้มีเกียรติ ผู้หลักผู้ใหญ่ของท้องถิ่น มาเป็นผู้ประเดิมโยนอ้อยเข้าหีบคนแรก เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยและสร้างขวัญกำลังใจต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจงานอ้อยทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางอย่างมิตรชาวไร่อ้อยจนถึงปลายทางอย่างผู้ประกอบการ ให้ทุกคนประสบแต่ความราบรื่น ร่ำรวย และพร้อมจะก้าวไปในฤดูกาลต่อไปพร้อม ๆ กันอย่างมั่นคง