หน้าแรก

ผ่านฤดูกาลตัดอ้อยมาแล้วหมาด ๆ มิตรชาวไร่ของมิตรผลคงทำไร่ไปในแนวทางเดียวกันตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มใช่ไหมคะ เช่น การตัดอ้อยตามหลักสี่เสา คือ ตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับดินแล้ว ยังมีส่วนในการลดวัชพืชในแปลงปลูกอ้อยของเราอีกด้วย

(9)

วันนี้เราจะมาแนะนำมิตรชาวไร่ท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินร่วมกับการทำเกษตรสรรพสิ่งอย่างน้ำหมักชีวภาพ ให้รู้จักกัน ท่านนี้คือ ผู้ใหญ่อนันต์ เนตรหาญ มิตรชาวไร่สิงห์บุรี

(8)

ในอดีต ผู้ใหญ่อนันต์ ทำเกษตรหลัก คือ นาข้าว สลับกับทำไร่ข้าวโพด ซึ่งรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี เพราะพื้นที่บริเวณนี้อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ปีไหนที่ฝนแล้งมีปริมาณน้ำน้อย ผลผลิตก็น้อย รายได้จากการทำเกษตรก็ลดลงตามไปด้วย เมื่อมีมิตรสิงห์บุรีเข้าไปแนะนำเรื่องการปลูกอ้อย จุดเริ่มต้นจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มทดลองจากพื้นที่เพียง 7 ไร่ ซึ่งเพียงแค่ปีแรกการตัดสินใจปลูกอ้อยก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะอ้อยที่ปลูกไว้ให้ผลผลิตมากกว่า 20 ตันต่อไร่เลยทีเดียว

(7)

แน่นอนว่าเมื่อได้รับคำแนะนำจากมิตรสิงห์บุรี ผู้ใหญ่อนันต์จึงปลูกอ้อยตามวิถีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลดิน ซึ่งดินแต่ละพื้นที่เพาะปลูก แม้ว่าจะเป็นแปลงติดกัน ก็มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง มีสารอาหารที่แตกต่างกัน

ก่อนการเพาะปลูกพืชใด ๆ ก็ตาม ไม่เฉพาะการปลูกอ้อย สิ่งแรกเลยที่มิตรชาวไร่ต้องทำ คือ การวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าดินของเราขาดสารอาหารที่จำเป็นตัวไหนบ้าง

(6)

จะได้ใส่ปุ๋ยบำรุงดินเพิ่มให้ถูกจุดเฉพาะในส่วนที่อ้อยของเราจำเป็นต้องใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งผู้ใหญ่อนันท์ใช้ชุดตรวจดินที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Soil Organic Matter Test Kit) ผลิตออกมาจำหน่ายให้เกษตรกรได้ใช้ในราคาที่ไม่แพง ชุดหนึ่งสามารถใช้ตรวจสอบได้หลายครั้ง กรณีที่ไม่มีชุดตรวจสอบดินของตัวเอง ให้ทำการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ ส่งให้กรมพัฒนาที่ดินตรวจได้

(5)

นอกจากนี้มีเรื่องการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินตามหลักสี่เสาก็เป็นหลักสำคัญสู่ความสำเร็จในไร่ของผู้ใหญ่อนันต์ “การตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินดีที่สุดแล้ว เพราะหนึ่งวัชพืชหรือหญ้าจะไม่งอกมาแย่งอาหารของอ้อย เพราะได้รับแสงไม่เต็มที่ สอง คือ ได้ปุ๋ยบำรุงดินจากใบอ้อยที่พอย่อยสลายแล้วจะกลายเป็นปุ๋ยพืชสดชั้นดี เพราะในใบอ้อยมีสารอาหารจำเป็น แค่ปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติสักสองสามเดือน หรือถ้าเราขยันอีกนิด ก็เอามูลสัตว์อย่างพวกขี้หมูขี้ไก่มาหว่านช่วยสักหน่อย ตามด้วยน้ำหมักชีวภาพมาพ่น จะช่วยให้ใบอ้อยมันย่อยสลายได้เร็วขึ้น” ผู้ใหญ่อนันต์กล่าว

(4)

 สำหรับน้ำสรรพสิ่งที่ผู้ใหญ่อนันต์ เนตรหาญ ใช้เป็นตัวเสริมให้อ้อยเจริญเติบโตดีนั้น เป็นน้ำหมักฮอร์โมนที่ทำจากพวกผลไม้สุก กล้วย มะละกอ ไข่แดงต้ม ใช้พ่นทางใบ ตอนอ้อยเริ่มแตกตอมีใบงอกขึ้นมาได้ 20-30 เซนติเมตร เพราะอ้อยจะดูดซึมอาหารทางใบได้เร็วกว่าทางราก ผู้ใหญ่อนันท์ ได้เรียนรู้วิธีการทำน้ำสรรพสิ่ง หรือปุ๋ยหมักชีวภาพจากการอบรมโครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสน โดยใช้สิ่งที่หาได้รอบ ๆ ตัว อย่างเช่น รำข้าว ผัก ผลไม้สุก หญ้า กากน้ำตาล หรือ โมลาส ที่สามารถติดต่อขอได้ฟรีจากโรงหีบ มาหมักกับหัวเชื้อ แล้วนำมาพ่นในไร่อ้อยประมาณไร่ละ 20-30 ลิตร เพื่อช่วยเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นให้กับอ้อย

(3)

“ผมว่าการทำเกษตรให้ได้หนึ่งไร่หนึ่งแสนนั้น เป็นไปได้จริงแต่เราต้องมีความรู้ มีความขยัน ต้องทำเกษตรหลายอย่างผสมกันไป ทั้งการขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ ที่นอกจากจะเอาไว้กินเองปลอดภัยสบายใจ แล้วยังขายได้ตลอดทั้งปี พื้นที่เหลือก็ทำสวนผลไม้”

(2)

ผู้ใหญ่อนันต์ย้ำว่า วิธีการทำเกษตรแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มอย่างการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินมาผสมกับการทำเกษตรสรรพสิ่ง ที่นำเอาสิ่งของรอบตัวมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น น่าจะเป็นวิธีปลูกอ้อยที่มาถูกทางแล้ว เพราะดูจากผลผลิตที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ปลูกอ้อยเขตอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ปลูกอ้อยที่อยู่ในเขตชลประทานที่มีน้ำอย่างเพียงพอ แต่ผลผลิตที่ได้กลับแทบไม่แตกต่างกันเลยนั่นเป็นอีกเครื่องยืนยันว่า การทำเกษตรสมัยใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาผนวกกับความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มีส่วนอย่างมากในการลดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยบำรุงพืชและช่วยเพิ่มรายได้จากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตครบถ้วน

(1)

นี่เป็นแค่เพียงหนึ่งตัวอย่างของมิตรชาวไร่ที่นำหนึ่งในหลักสี่เสาของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มไปใช้แล้วได้ผลจริง เห็นแบบนี้แล้ว ใครยังไม่ลงมือทำ เริ่มตอนนี้ก็ไม่สายนะคะ ^^

ข่าวปักหมุด