เรื่องจริงของการเรียนรู้และปรับตัว
“ไร่อ้อย โรงเรียนชีวิตที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกอ้อยไม่มีห้องเรียน ไม่มีหลักสูตร มีแต่การพัฒนาความรู้ไปแบบไม่มีวันจบ”
นี่คือคำกล่าวของพ่ออุระ ทิพโชติ มิตรชาวไร่คนเก่งจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ชีวิตจริง บนผืนดินที่ใช้ทำมาหากินมานานหลายปี ที่ซึ่งเขาฝากอนาคตข้างหน้าของตนเองและครอบครัวไว้ด้วยความมั่นใจ
พ่ออุระเริ่มปลูกอ้อยตั้งแต่โรงงานมาตั้ง ตอนแรกก็ปลูกในที่ตัวเอง 9-10 ไร่ แล้วขยายมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้พ่ออุระปลูกอ้อยทั้งหมด 200 ไร่ เป็นที่ดินตัวเอง 30 ไร่ อีก 170 ไร่เป็นที่เช่าที่ต้องต่อสัญญาทุก 2 ปี โดยแบ่งที่ประมาณครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 100 ไร่ปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังปลูกและจัดการแบบเดิม เพราะยังมีแรงงานที่รับค่าแรงล่วงหน้าไปแล้ว จึงยังต้องใช้คนตัด ใช้รถคีบอ้อยขึ้นรถบรรทุกอยู่ แต่ก็ต้องคีบอ้อยให้สะอาดไม่ให้มีดินหรือใบอ้อยปน จึงมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาอีก คือ ต้องนำอ้อยมาวางแท่นกองก่อนแล้วค่อยคีบขึ้นรถโดยสรุปคือ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรประมาณครึ่งหนึ่ง ผสมกับอีกครึ่งใช้แรงงานคน
พ่ออุระเล่าว่า ส่วนใหญ่ชาวไร่อ้อยในกาฬสินธุ์จะเป็นรายกลางไม่เล็กไม่ใหญ่ รายกลางในความหมายว่าได้อ้อยประมาณ 4,000-5,000 ตันต่อปี ส่วนรายใหญ่อยู่ประมาณ 8,000-10,000 ตัน ตัวพ่ออุระเองได้ 4,000 ตัน เพิ่มจากปีที่แล้วซึ่งได้ 3,000 ตัน “ในพื้นที่ เขายังไม่นิยมรวมกลุ่มกัน ใช้ระบบโควต้าใครโควต้ามัน ถ้ามองว่ามันดีไม่วุ่นวายเหมือนเอารายเล็ก ๆ ไปรวมกันก็ได้เงินก็เข้าบัญชีโดยตรง แต่มันก็ต้องจัดการเป็นของใครของมัน
ไม่มีการแบ่งปันเครื่องมือเครื่องใช้ ต้องพึ่งแรงงานคนเป็นหลัก ใครรายเล็กก็ใช้แรงงานครอบครัวนั่นล่ะ แบกขึ้นรถเล็กวันละ 4-5 ตัน ก็พออยู่ได้ แต่มันก็จะช้าและเหนื่อยแรง พวกรายใหญ่รายกลางก็อาจจะขาดรถตัด หรืออาจจะมีก็ได้ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องจ้างเขาเอาเป็นต้นทุนเพิ่มเข้าไปอีก”
พื้นที่ปลูกอ้อย ยิ่งแปลงใหญ่ ยิ่งสะดวกกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของคนที่ทำอ้อยในพื้นที่ก็คือ เรื่องที่ดินในการเพาะปลูกอ้อย “อย่างของพ่อเอง แปลงใหญ่สุดติดกันประมาณ 40 ไร่ ยังใช้คนอยู่เพราะเป็นลาดเป็นเนิน เครื่องไม้เครื่องมือ และแรงงานคนก็ยังมี แต่ถ้าเปรียบเทียบกัน รถตัดจะทำงานได้เร็วกว่าเพราะไม่ต้องรอคิวส่งอ้อยเข้าโรงงาน แต่ถ้าใช้คนตัดจะต้องรอคิวทั้งรอคิวคนตัด ทั้งรอรถอ้อยที่ไปจอดรอ ส่วนถ้าใช้รถตัดไปถึงก็รอดั๊มอ้อยได้เลย เพราะโรงงานให้สิทธิพิเศษสำหรับรถตัดอ้อยอยู่แล้ว พ่อก็อยากหาแปลงใหญ่ติดๆ กันเพื่อให้สะดวกต่อการจัดการ และปรับพื้นที่ ติดที่ว่าหาที่ไม่ได้แล้ว พื้นที่ก็หาเช่ายากขึ้นทุกที คิดว่าก็คงจะได้เท่านี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องลดต้นทุนและเพิ่มน้ำหนักอ้อยในที่ดินเท่าเดิมให้ได้”
ด้วยข้อจำกัดจากความเชื่อและที่ดินอันมีจำกัดเช่นนี้พ่ออุระจึงเริ่มลงมือแบ่งที่ครึ่งหนึ่งปรับมาทดลองใช้แนวทางมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มและได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์ ท่ามกลางความสนใจของผู้ที่พบเห็นแต่ก็ยังมีความลังเลใจอยู่บ้าง “ยังมีอีกหลายคนนะที่ยังเลือกปลูกอ้อยแบบเดิม เพราะมันได้จำนวนร่องต่อไร่เยอะกว่า เขากลัวจะเสียพื้นที่ เราก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน คือถ้าปลูกแบบเดิมจะได้ร่องอ้อยเพิ่มมาต่อไร่ 23 ร่อง ปลูกแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มก็จะได้ร่องน้อยกว่า ต้องเว้นที่ไว้ กลับหัวรถตัด แต่ผลผลิตของไร่ที่ลองเปลี่ยนมาทำมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมันก็เห็นเลยว่าได้อ้อยลำใหญ่กว่า ได้น้ำหนักต่อไร่มากกว่าหรืออย่างน้อยที่สุดก็พอ ๆ กัน แต่ที่แน่ ๆ การปลูกอ้อยแบบใหม่อย่างมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ให้รายได้ดีกว่าเมื่อสิ้นสุดแล้ว เพราะเวลาจ้างตัดเราก็จ้างเป็นมัด มัดละ 2 บาท 10 ลำ แต่ปลูก แบบเก่า 10 ลำ มันเล็ก น้ำหนักมันก็น้อยแบบใหม่ 10 ลำใหญ่กว่าน้ำหนักเยอะกว่าแต่ค่าจ้างตัดเท่ากันตามจำนวนมัด เพราะฉะนั้นฟันธงไปเลยว่าปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนี่ท้ายที่สุดแล้วทำให้เราได้เงินมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม การเว้นระยะห่างร่องมากขึ้นก็เป็นเพียงหลักการข้อหนึ่งของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเท่านั้น จากหลักการเบื้องต้น 4 ข้อ ดังนี้
เป้าหมายต่อไปของพ่ออุระคือ การเพิ่มน้ำหนักอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้จากที่ดินเท่าเดิม และพยายามไว้ตอให้ได้นานขึ้น เพื่อลดรายจ่าย “ส่วนใหญ่ทางบ้านเรา จะไว้ตอ 1-2 ตอ แล้วแต่พื้นที่ของตัวพ่ออุระเอง ตอนนี้อ้อยยอดจะได้น้ำหนักประมาณ 13 ตันต่อไร่ส่วนอ้อยตอแรกได้ประมาณ 8 ตันต่อไร่ โดยอ้อยยอดเฉลี่ยต้นทุน 8,000 บาท ต่อไร่ รวมค่าตัดและขนส่งจะอยู่ที่เกือบ 9,000 บาทถ้าได้ 13 ตัน ก็จะเหลือกำไรประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อไร่ส่วนอ้อยตอ หักต้นทุน 6,000 บาทต่อไร่ จะเหลือกำไรประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อไร่ เพราะฉะนั้นก็จะได้แค่ตอเดียว มากกว่านี้จะไม่คุ้มทุนแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะไว้ตอเพิ่มอีกสักตอ”
จากความต้องการแก้ไข นำมาสู่การหาสาเหตุของปัญหาพ่ออุระตั้งใจว่าลงอ้อยรอบใหม่จะให้ความสำคัญกับการเตรียมดินมากขึ้น “เคยมีการพักดิน แต่ไม่ได้ปลูกถั่ว เพราะตอนนั้นไม่มีพันธุ์ปอเทือง และเคยได้พันธุ์ข้าวไร่มาหว่านแทน แต่ไม่ค่อยได้ทำ เพราะกว่าจะเกี่ยวข้าวไร่เสร็จ ดินแห้งก่อน เราจะไปไถเตรียมปลูกอ้อยก็ไม่ทัน แม้ว่าข้าวที่โรงงานแจกจะเกี่ยวได้เร็ว แต่บางปีที่ฝนหมดเร็วดินแห้งซะก่อนก็จะปลูกอ้อยไม่ทัน เลยไม่ได้ทำอะไรนอกจากพักดินเฉยๆ ย้อนกลับมานึกดู มันก็เกี่ยวพันกันหมด ที่ผ่านมาเราทำงานได้ช้าเพราะมีหลายแปลง และกระจายกัน บางครั้งก็ต้องรอคน ที่สำคัญคือใช้เครื่องจักรน้อย ใช้เวลาเยอะและไม่ได้เตรียมดิน ผลปลายทางของมันก็คือผลผลิตไม่ดี” พ่ออุระกล่าว
การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ชีวิตเกษตรกรมีบทเรียนให้ได้เรียนรู้ทุกวัน พ่ออุระทดลองจนเห็นผลด้วยการลงมือทำของตนเอง หากมีสิ่งใดผิดพลาดก็ยอมรับ ศึกษาข้อมูล และคิดปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น ด้วยความช่วยเหลือแนะนำของโรงงานและผู้ให้คำปรึกษา “มันก็แน่นอนอยู่แล้วนะ ว่าเราจะได้รับการช่วยเหลือคำแนะนำต่าง ๆ จากโรงงานมากกว่าแหล่งอื่นๆ แม้กระทั่งหน่วยงานราชการยังมาแนะนำเราน้อยกว่าทีมมิตรผลเสียอีก” ความเชื่อมั่นในการสนับสนุนเช่นนี้ ทำให้พ่ออุระรู้สึกอุ่นใจตั้งแต่ที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อย ทำให้เขาได้กล้าลองคิด ลองทำ ผสมผสานความรู้ต่าง ๆ มาทดลองใช้ในไร่ของตนเอง
“ก้าวต่อไปคือเรื่องการจัดแปลงใหม่ให้เครื่องจักรสามารถเข้ามาทำงานได้สะดวกขึ้น วิธีการปลูก การให้น้ำ การคัดพันธุ์ ไม่ให้เป็นโรค ถ้าเราคัดมาไม่ดีอ้อยจะเป็นโรคตาย แถมกินปุ๋ยเราด้วย เราก็ลองไปแบบนี้ทดลองไป แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีแนวทางให้เดินตามนะ เราลองเพื่อให้เกิดความมั่นใจและยอมรับกับตัวเอง
โรงเรียนปลูกอ้อยของพ่ออุระ แม้ที่นี้จะไม่มีอาคารเรียนสูง ๆ ไม่มีเสาธงหน้าสนามฟุตบอล แต่มีขนาดพื้นที่ขยายออกไปเรื่อย ๆ ตามความรู้ที่ได้จากประสบการณ์จริง และผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี ตามวิธีการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม