สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ ปัจจุบันจะเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 11 ล้านไร่ (ข้อมูลจากสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย) อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลทรายเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงแก่ชาวไร่อ้อย ส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชาวไร่ไทยที่ไม่ใช่ชาวไร่ไก่กาเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันชาวไร่อ้อยในไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
วันนี้คนเก่งเกษตรสมัยใหม่ จะพาไปรู้จักกับ พ่อสอน คำแสนโคตร มิตรชาวไร่วัย 60 ปี จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ดินแดนที่เต็มไปด้วยเถ้าแก่ไร่อ้อยผู้ยิ่งใหญ่ มากความสามารถและประสบการณ์ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้การทำไร่อ้อยที่เริ่มจากศูนย์สู่ความสำเร็จที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่พิสูจน์ได้ผ่านรอยยิ้มและความสุขของพ่อสอนและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เพียงสมาชิกครอบครัวธรรมดา แต่พวกเขาคือทีมงานคุณภาพที่แท๊กทีมกันสร้างอาณาจักรไร่อ้อยแห่งนี้ก้าวสู่ความสำเร็จ เป็นไร่อ้อยสมัยใหม่ที่น่าเรียนรู้สู่สายตาเพื่อนชาวไร่อีกหลายคน
พ่อสอนผันตัวเองจากเกษตรกรผู้ปลูกจิปาถะ ทั้งฟักแฟง แตงโม และเห็ด สู่วงการปลูกอ้อยเมื่ออายุประมาณ 40 ปี นับเป็นชาวไร่อ้อยรุ่นแรก ๆ ของมิตรกาฬสินธุ์
“พ่อเริ่มเข้าวงการอ้อยจากพี่ที่รู้จักมักคุ้นกัน พ่อไปเช่าที่เขาปลูกแตงโม เขามาชวนและบอกพ่อว่า มีโรงงานน้ำตาลมิตรผลมาตั้งที่กาฬสินธุ์นะ เราไปปลูกอ้อยกันเถอะ ไม่ต้องปลูกแล้วอย่างอื่น ไปลองกัน ก็เริ่มจากเช่าที่ปลูก จากไร่ละร้อย จนปัจจุบันไร่ละ 2,500-3,000 บาท ก็ปลูกกันจนตอนนี้พ่อมีที่ปลูกอ้อยประมาณ 786 ไร่ เป็นอ้อยปลูก 221 ไร่ อ้อยตออีก 565 ไร่”
“ปลูกอ้อยสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันมาก เมื่อก่อนใช้แรงงานคนปลูกอ้อย แรงงานก็หายาก ไม่อยากทำงานให้ มาทำได้วันสองวันก็หนีไปเลย ให้ตัดอ้อยสดก็ไม่มีคนมาตัด ต้องเผาอ้อยเพื่อให้มีคนงานมาทำ แต่บางทีเผาอ้อยไว้จนแห้งก็ไม่มาตัดซักที พ่อเลยตัดสินใจซื้อเครื่องทุ่นแรงมาเรื่อย ๆ ซื้อรถตัด ซื้อเครื่องปลูก ตอนนี้เรามีเครื่องปลูกอ้อยท่อน (Billet Planter) เอารถไปตัดแล้วปลูกเลย พอมีเครื่องมือ เราก็ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร ทำกันเองในครอบครัว กำลังสำคัญในไร่คือ พ่อ ลูกชาย 1 คน แล้วก็ลูกเขยอีก 2 คน มีคนงานที่เลี้ยงดูกันไว้อีกนิดหน่อยพอช่วยเหลืองานส่วนอื่นไป ทำอ้อยตอนนี้ง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะ”
พ่อสอนกล่าวถึงประโยชน์ของการลงทุนกับนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เข้ามาใช้งานในไร่อ้อย โดยเฉพาะรถปลูกอ้อยและรถตัด ที่สามารถช่วยพ่อสอนแก้ปัญหาแรงงานคนหมดสิ้นไป รวมถึงทำให้พ่อสอนบริหารจัดการไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สาเหตุที่กล้าเปลี่ยนแปลงกับเทคโนโลยี เพราะพ่อปลูกอ้อยไว้เยอะมาก ตัดอ้อยส่งโรงงานไม่ทัน ต้นทุนที่จ้างคนตัดมัดละ 2-3 บาท ตอนนี้ขึ้นมามัดละ 5 บาท บวกลบคูณหารแล้วค่าจ้างคนแพงกว่ารถตัด ตอนแรกภรรยาก็กังวลบอกว่าเป็นหนี้เยอะ แต่สุดท้ายก็ยอมลงทุน ถือว่าคุ้มต่อการลงทุนมาก”
พ่อสอนเล่าต่อถึงการนำเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาใช้งานในไร่
“พ่อไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงหรอก ตอนเย็นครอบครัวเราจะคุยกันเป็นประจำ มีอะไรใหม่ ๆ ก็นำมาเสนอกัน อันไหนเขาว่าดี ตัวไหนเขาว่าช่วยทุ่นแรงในไร่ ก็ตัดสินใจร่วมกันว่าจะซื้อมาลองไหม มิตรผลแนะนำอะไรมา เราก็เปิดใจฟัง ถ้าเราสนใจก็ช่วยกันหาข้อมูลแล้วนำมาใช้งานในไร่ มีปัญหาอะไร ก็ช่วยกันหาทางออก”
ไร่อ้อยของพ่อสอน ถูกปรับพื้นที่เพื่อรองรับการทำงานของเครื่องจักรการเกษตรสมัยใหม่ทุกรูปแบบ ทั้งรถปลูกอ้อย รถตัด การทำงานในไร่อ้อยทุกขั้นตอนรวดเร็วมากขึ้น ทั้งการใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช
“รถต่าง ๆ เข้าทำงานในไร่พ่อได้สบาย เพราะเราจัดการแปลงรองรับเครื่องมือเหล่านี้ มีเพื่อนชาวไร่รุ่นลูกรุ่นหลานมาดูไร่เราหลายคน เขาก็อยากเห็นว่าแปลงที่ใช้รถปลูกอ้อยดีอย่างไร แตกต่างอย่างไร พ่อก็ไม่หวงนะ ยินดีถ่ายทอดความรู้ บางคนบอกว่าที่พ่อทำได้ดี เพราะพ่อมีเครื่องไม้เครื่องมือครบทุกอย่าง พ่อก็จะตอบไปว่า ก่อนที่พ่อจะมีเท่านี้ พ่อไม่เคยมีอะไรมาก่อน เริ่มจากทำกันสองคนตายาย ตัดหญ้า ให้ปุ๋ยอ้อย ก็ทำกันเองสองแรง”
เมื่อถามถึงความพร้อมสำหรับหีบอ้อยที่กำลังจะมาถึง และการปลูกอ้อยช่วงข้ามแล้ง พ่อสอนตอบอย่างมั่นใจว่า
“พ่อเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว ช่วงนี้ฝนตกเยอะ น้ำท่วมแปลงปลูกบางพื้นที่ คงต้องรอน้ำลงสักพักก็ลงมือได้ทันที สำหรับหีบอ้อย พ่อและลูก ๆ ก็เตรียมซ่อมแซมบำรุงเครื่องมือ ดูแลรถพร้อมใช้งานทุกคัน รอเวลาลุยงานอย่างเดียว”
แม้ทีมงานของพ่อสอนจะเป็นสมาชิกในครอบครัว แต่พ่อสอนก็มีหลักการบริหารงานเพื่อให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันและตั้งใจทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่ง
“พ่อจะเริ่มต้นด้วยการชี้แจงให้เข้าใจตรงกันถึงเป้าหมาย อธิบายเรื่องต้นทุน และแบ่งกำไรให้ชัดเจน พ่อเป็นคนบริหารหลัก ลูก ๆ ก็ช่วยกัน แบ่งหน้าที่ชัดเจน ทุกคนก็รู้หน้าที่และตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเอง มีปัญหาก็คอยช่วยเหลือกัน ทำแทนกันได้เมื่ออีกฝ่ายต้องการ”
“พ่อสอนลูกเสมอว่า เงินได้ไม่สำคัญเท่าเงินเก็บ ไม่ใช่ว่ามีมากใช้มาก ต้องรู้จักเก็บ ยิ่งเป็นเงินที่เราทำงานลงแรงกว่าจะได้มา ยิ่งต้องใช้ให้รู้คุณค่า พ่อมักจะแบ่งปันลูกเสมอ ได้เงินมาเราต้องปัน ไม่ใช่เก็บคนเดียว เป็นการให้กำลังใจลูก ให้เขามีกำลังใจ ลูกอยากได้อะไรที่ทุ่นแรงในการทำงานพ่อก็ซื้อให้ เรื่องกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ”
การเป็นชาวไร่โดยสมบูรณ์ของพ่อในปัจจุบัน คือความสุขที่พ่อสัมผัสได้ พ่อได้ทำงานที่รัก ทำร่วมกับบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งภรรยาและลูก ๆ นี่คือความสำเร็จของพ่อ
“ตอนนี้พ่อมีกำลังพ่อก็ทำทุกอย่างเต็มที่ ถ้าพ่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีเรี่ยวแรงทำตรงนี้แล้ว พ่อก็ไม่อยากให้ลูก ๆ ทิ้งตรงนี้ อยากให้ลูกเดินตามรอยพ่อ หนามไม่เกาะแน่นอน เว้นแต่ลูกจะเดินออกนอกลู่นอกทาง”
ท้ายที่สุดความสำเร็จในการทำงานไม่ได้ชี้วัดทุกอย่างว่าเราประสบความสำเร็จ ความสุขกับสิ่งที่เราทำอยู่ เป็นอยู่ ต่างหากที่แสดงว่าเราทำ
ได้ดีในเรื่องนั้น ๆ พ่อสอนทิ้งท้ายถึงเพื่อนมิตรชาวไร่ท่านอื่น ๆ ว่าการทำไร่อ้อยไม่ใช่เรื่องใหญ่ การใส่ใจทุกขั้นตอนต่างหากคือเรื่องสำคัญ ใส่ปุ๋ยได้ แต่ให้ใส่ใจด้วย ปุ๋ยอ้อยให้ใส่อ้อย หมายถึงทำอะไรก็ตามให้ถูกวัตถุประสงค์ ทำอะไรต้องใส่ใจ ถึงจะได้รับความสำเร็จ