พี่น้องมิตรชาวไร่ครับ เว็บไซต์มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มของเรา มีโอกาสได้พุดคุยกับ คุณสหชาติ เต็มวงษ์ รองผู้อำนวยการด้านอ้อย โครงการขยาย 1 จังหวัดอำนาจเจริญ ถึงประสบการณ์ดูงานที่ประเทศบราซิล ซึ่งวันนี้คุณสหชาติจะมาไขกุญแจให้เราทราบว่า
บราซิล เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก เขามีการจัดการไร่ที่แตกต่างจากบ้านเราค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดการแปลง บราซิลจะแบ่งพื้นที่ให้เป็นแปลงขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา และเน้นการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยทำไร่ เกษตรกรที่นั่นเป็นชาวไร่รายใหญ่ มีพื้นที่ถือครองจำนวนมาก ชาวไร่ที่บราซิลมีความรู้ค่อนข้างเยอะ เขาจะเน้นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำไร่ โดยศึกษาข้อมูลต่าง ๆ จากอินเทอร์เน็ต เขาจะเน้นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำไร่เพื่อการเพิ่มผลผลิต
ลดต้นทุน ติดตามการพยากรณ์อากาศ หรือ หาข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการวางแผนการจัดการแปลงอ้อยให้ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
การขนส่งและการสื่อสารในบราซิล
ที่บราซิล ตัดอ้อยโดยใช้รถตัด มีรถกระเช้า (bin) เข้ารองรับอ้อยจากรถตัด ก่อนนำมาเทใส่รถเซมิเทลเลอร์ที่จอดรออยู่ ณ จุดขนถ่ายที่อยู่ไม่ไกลจากแปลงอ้อย การนำรถกระเช้าเข้าไปวิ่งในแปลงอ้อยรองรับรถตัดอ้อยก็เพื่อลดการบดอัดของดิน เพราะรถกระเช้าจะใส่อ้อยประมาณ 6-8 ตัน ซึ่งไม่หนักจนเกินไป ทำให้ตออ้อยไม่เสียหาย อ้อยตอยังคงให้ผลผลิตที่สูง สามารถไว้ตออ้อยได้นานหลายปี
เกษตรกรชาวบราซิลใช้การบริหารจัดการด้านการตัดอ้อยผ่านแท็บเล็ต เขาจะสั่งการว่าไร่ไหนถึงเวลาตัดค่อยตัด โดยจะตัดตามโควตา ตามการสุกแก่ของอ้อยจากข้อมูลแปลงที่บันทึกไว้ในระบบ
คอมพิวเตอร ์ จะไม่มีการมารอหน้าโรงงานจำนวนมาก ๆ เขาเลยไม่มีปัญหาเรื่องรอคิวเหมือนบ้านเรา
ซึ่งเรื่องนี้ในอนาคตทางมิตรผลเรามีแนวทางด้านการเก็บเกี่ยว โดยใช้รถตัดอ้อยมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่มิตรชาวไร่ และนำฐานข้อมูลที่มีที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่เตรียมดิน ปลูก จนถึงวันเก็บเกี่ยวมาร่วมบริหารจัดการในการกำหนดแปลงอ้อยที่จะตัดอ้อยก่อน อ้อยหลัง ตามความสุกแก่หรือความพร้อมของอ้อย จะช่วยให้มิตรชาวไร่ตัดอ้อยได้อ้อยที่มีคุณภาพมากขึ้น
บราซิลจะให้ความสำคัญเรื่องการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรค ตั้งแต่ขั้นตอนการดูแลสุขภาพดิน ปลูกพืชบำรุงดิน การเลือกพันธุ์อ้อย โดยใช้ระบบปลูกแบบ Meiosi ทำเป็นต้นกล้าก่อน แล้วเอามาปลูกเป็นระยะสัก 3-4 แถว เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดี จากนั้นค่อยนำมาปลูกในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ข้างแถวพันธุ์อ้อยแบบ Meiosi เพื่อไม่ต้องขนย้ายพันธุ์อ้อยไกล ได้พันธุ์อ้อยที่สด ตาอ้อยไม่เสียหายและคุณภาพดี จะส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์ความงอกของอ้อยที่ปลูก ซึ่งต่างจากบ้านเราที่ไปขนท่อนพันธุ์มาปลูก บางทีปลูกพันธุ์เดิมซ้ำ ๆ จนเกิดโรค ครั้นจะหาพันธุ์อื่นมาปลูกแทนก็ไม่ทันการ ที่สำคัญบราซิลจะใช้สารเคมีเฉพาะการคุมวัชพืชเท่านั้น ไม่ใช้เพื่อฆ่าให้ตาย
ความแตกต่างของการทำไร่อ้อยแบบชาวบราซิลกับทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ใกล้เคียงกับการทำไร่ของชาวบราซิล ทั้งเรื่องการนำเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยแทนแรงงาน เรื่องการบริหารจัดการแปลง ระยะห่างของร่อง และการปรับปรุงดิน อาจจะมีความแตกต่างบ้างในเรื่องของพื้นที่ปลูก
สิ่งสำคัญที่เกษตรกรไทยต้องร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงคือ เปลี่ยนรูปแบบการทำไร่อ้อยจากแบบเดิมมาเป็นการปลูกอ้อยที่รองรับเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยและรองรับเครื่องจักรกลมากขึ้น เพราะเกษตรกรบ้านเรามีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี เกษตรกรรุ่นลูกรุ่นหลานมาสานต่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากเราอยากให้การทำไร่อ้อยมั่นคง ยั่งยืน เราต้องนำเอาความสมัยใหม่มาปรับใช้ในการทำไร่อ้อยให้มากที่สุด เพื่ออนาคตของลูกหลานและอนาคตของประเทศ.