หน้าแรก

สวัสดีครับมิตรชาวไร่ที่รักทุกท่าน วันนี้ผมมีเรื่องชวนคิดที่สำคัญระดับชาติที่เราชาวไร่เองก็มีส่วนช่วยผลักดันภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนขึ้นมาเล่าสู่กันฟังครับ

เชื่อหรือไม่ว่า แค่เราแปลงพื้นที่นาดอนให้เป็นไร่อ้อยก็สามารถช่วยชาติได้แล้ว ที่ผมพูดแบบนี้ที่จริงแล้วไม่ได้เจตนาจะเชียร์ให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยแต่อย่างใดนะครับ แต่จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เคยรายงานคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ผมและทีมงานต้องฉุกคิดกันว่าพวกเราสามารถช่วยให้ภาคการเกษตรในภาพรวมดีขึ้นได้อย่างไร เมื่อพบว่าใน 61 จังหวัดที่ทำการเกษตรของไทยมีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกข้าวมากถึง 27 ล้านไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและมากกว่าพื้นที่ปลูกอ้อยของพวกเรามิตรชาวไร่ในกลุ่มมิตรผลทุกคนรวมกันเสียอีกนะครับ ซึ่งนี่เองคืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้าวไทยไม่ยั่งยืนในตลาดโลกแข่งขันกับคนอื่นได้ยาก เพราะที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นที่ปริมาณการส่งออกมากกว่าคุณภาพ และที่สำคัญคือขาดการสร้างแบรนด์ให้กับข้าวไทยในระยะยาว ซึ่งการเปิดเผยในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เราต้องตระหนักกันว่าที่ผ่านมาประเทศของเราทำการเกษตรท่ามกลางความเสี่ยงมาโดยตลอดอีกด้วย

จากจุดนี้เองจึงเป็นที่มาตลอดระยะเวลา 3 ปี ให้ทุกภาคส่วนต้องระดมสรรพกำลังกันหาทางปลดล็อคปัญหาใหญ่ระดับชาตินี้ด้วยการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของประเทศกันใหม่ ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย 4.0” ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนนโยบายนี้ร่วมกันกับภาคเอกชนในรูปของคณะกรรมการประชารัฐฯ ซึ่งกลุ่มมิตรผลเป็นแกนนำในเรื่องเกษตรสมัยใหม่อยู่ขณะนี้ และก็เป็นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครับที่รับเป็นโต้โผใหญ่ในการพัฒนา “Agri-Map” หรือแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก โดยนำข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานมาบริหารแบบบูรณาการ เพื่อจัดระบบการเกษตรของประเทศใหม่ในครั้งนี้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเข้ามาปรับฐานข้อมูลเดิมให้ทันสมัย สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้อย่างแม่นยำได้ นั่นหมายถึงการบริหารจัดการการเกษตรในภาพรวมทั้งประเทศจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนในการเพาะปลูกจะดีขึ้นอย่างที่หลายคนหวังใจไว้ พูดง่าย ๆ พื้นที่ใดเป็นที่ลุ่มมีน้ำมาก็ควรทำนาปลูกข้าว พื้นที่ใดเป็นที่ดอนสูงขึ้นมาหน่อยน้ำมีไม่มากก็ควรปลูกพืชไร่อย่างอ้อยอย่างมันสำปะหลังที่ใช้น้ำน้อยกว่า เป็นต้น

อย่างในพื้นที่ปลูกข้าวของขอนแก่นจังหวัดเดียวนี่มีที่นาดอนอยู่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัดเลยนะครับที่ต้องเสี่ยงเผชิญกับภัยแล้งอยู่ทุกปี ซึ่งคิดเป็นพื้นที่กินวงกว้างถึง 250,000 ไร่ และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงผลผลิตข้าวเปลือกของชาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากเราจะช่วยกันลดความเสี่ยงให้กับภาคการเกษตรของประเทศด้วยการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกกันใหม่ให้เหมาะสมตาม Agri-Map นั้น เราจะพบว่าในพื้นที่ทั้ง 27 ล้านไร่ดังกล่าว มีพื้นที่นาดอนที่สามารถปลูกอ้อยทดแทนได้ถึง 6 ล้านไร่เลยทีเดียว

ในกลุ่มมิตรผลของเราเองก็มีพี่น้องมิตรชาวไร่หลายท่านที่เคยทำนามาก่อน โดยเฉพาะนาดอนคงทราบกันดีว่าทำนาดอนนั้นมักมีเรื่องน้ำให้ลุ้นกันแทบทุกปี โดยเฉพาะนาดอนนอกเขตชลประทาน รอดไม่รอดอยู่ที่เทวดาฟ้าฝนจะดลบันดาล ทำไปลุ้นไป ซึ่งแบบนี้เขาเรียกว่าทำเกษตรแบบเสี่ยง ๆ แทนที่จะสนุก ได้มีความสุขกับอาชีพที่เรารัก กลับต้องมาคอยกังวลกับปัจจัยแทรกซ้อนเหล่านี้อยู่ตลอด นานวันเข้าก็กลายเป็นความคุ้นชินที่เราต้องประสบพบเจอกันทุกปี

ดังนั้น การแปลงนาดอนมาเป็นไร่อ้อยสำหรับพี่น้องเกษตรกรจึงเป็นโอกาสดีที่ท่านจะได้สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรที่เรารักและยังมีส่วนร่วมช่วยชาติจัดระบบการเกษตรใหม่ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

โดยช่วงที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนนาดอนให้เป็นไร่อ้อยจะอยู่ในช่วงหลังเกี่ยวข้าวปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนครับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจเพราะองค์ความรู้ในการบริหารจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สัมฤทธิ์ผลได้ด้วยวิธีการที่มิตรชาวไร่ในกลุ่มของเราเริ่มนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอย่างที่เราทราบดีว่าทีมไอรอนแมนนั้นพร้อมให้คำแนะนำและคอยอำนวยความสะดวกให้กับทุกท่านในทุกพื้นที่เช่นเคยครับ

ผมก็ไม่เคยคิดเหมือนกันนะครับว่าการเปลี่ยนจากทำนาแล้วหันมาทำไร่อ้อยจะสามารถช่วยชาติได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน ในยุคประเทศไทย 4.0 นั้น การเกษตรบ้านเราจะมุ่งพัฒนาสู่เกษตรสมัยใหม่ เราจะทำไร่กันแบบความแม่นยำสูง ซึ่งนี่ถือเป็นมิติใหม่ที่จะนำพาเราไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้พร้อมกัน

 

ข่าวปักหมุด