หน้าแรก

ไทยเป็นประเทศที่มีพืชเศรษฐกิจหลักหลายประเภท อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะ มันสำปะหลังกับอ้อยที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันให้ทุกภาคส่วนเป็นไทยแลนด์ 4.0 ไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่นำนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น

จากประเด็นดังกล่าวจึงเกิดความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center : ABC Center) ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรม ไบโอรีไฟเนอรี่ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศจากการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

Bio refinery (ไบโอรีไฟเนอรี่) เป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่น ๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (Cell Factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์

ด้วยหลักการ มุ่งพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร ให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร ซึ่ง "ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่" ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ

ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio refinery Industry Complex  พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งในการช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะกับพืชเศรษฐกิจหลังทั้ง 3 ชนิด อย่าง อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านเทคโนโลยี เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. ด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากเกษตรที่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง
  3. ด้านการวางตำแหน่ง เปลี่ยนจากการเป็นผู้ตามทางการเกษตร ให้เป็นผู้นำทางการเกษตร โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับความหลากหลายในด้านการเกษตร
  4. ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรที่หลากหลายอย่างฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่า ให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้น เช่น การเพาะปลูกในระบบปิดที่ประหยัดน้ำมากกว่า 90%
  5. ด้านการตลาด เปลี่ยนจากตลาดการเกษตรแบบเฉพาะกลุ่ม (ทุนขนาดใหญ่) มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน

จากประเด็นข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคเกษตรจะเกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาค และก้าวสู่ประเทศผู้นำธุรกิจ ไบโอรีไฟเนอรี่ ที่เข้มแข็งระดับโลกในลำดับต่อไป

ขอบคุณที่มา : http://www.thansettakij.com/content/290960

ข่าวปักหมุด