หน้าแรก

“น้ำ” ชลประทาน (Irrigation) คือ ตัวเสริมสำคัญ ที่ช่วยให้การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม โดยยึดหลัก 4 เสาพลัส มีประสิทธิภาพสูงสุด

ปกติอ้อยต้องการน้ำ ประมาณ 1,200-1,600 มิลลิเมตรต่อปี แต่สภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้ปริมาณฝนไม่เพียงพอ และยังกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ ทำให้อ้อยกระทบแล้งแทบทุกปี ดังนั้นหากมิตรชาวไร่มีการวางแผนหรือเตรียมการเรื่องชลประทานในไร่อ้อย รับรองว่าประสบผลสำเร็จด้านผลผลิตแน่นอน

ยังมีชาวไร่หลายรายที่ใช้วิธีให้น้ำในไร่อ้อยแบบดั้งเดิม นั่นคือ ให้น้ำแบบราดร่อง ด้วยการสูบน้ำและปล่อยให้ไหลไปเองตามธรรมชาติบนแปลง แน่นอนว่าวิธีให้น้ำแบบราด ทำให้สิ้นเปลืองน้ำอย่างมาก

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจึงได้แนะนำวิธีการให้น้ำแบบประสิทธิภาพสูงแก่มิตรชาวไร่ คือ ระบบน้ำหยด (Drip Irrigation) ซึ่งเป็นระบบที่ติดตั้งง่าย และสะดวกในการบริหารจัดการ เหมาะกับเกษตรกรที่มีแปลงอ้อยทุกขนาด

ระบบน้ำหยดบนผิวดิน มีประสิทธิภาพการให้น้ำได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำจะผ่านสาย

ท่อพลาสติกเหนียวขนาดเล็ก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก สามารถลากสายท่อเพื่อวางบนแปลง

ได้อย่างคล่องตัว และเก็บเมื่อใช้งานเสร็จ ใช้น้ำในปริมาณเพียง 30-35 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ระยะเวลา

ให้น้ำ 6-8 ชั่วโมง ระบบน้ำหยดทำให้ชาวไร่สามารถเติมน้ำได้ถูกช่วงเวลา และในปริมาณที่เหมาะสมตามที่อ้อยต้องการ และยังดูแลรักษาง่าย เพราะท่ออยู่บนดินไม่ได้ฝังลงใต้ดิน

คุณธัญญา เชื้อสวน คือ ตัวอย่างมิตรชาวไร่ นักบริหารการจัดการน้ำด้วยเทคนิคน้ำหยด ที่สามารถถ่ายทอดเทคนิคและแนะนำเพื่อนมิตรชาวไร่ใกล้บ้านให้เปลี่ยนมาใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบน้ำหยด

คุณธัญญา เชื้อสวน อายุ 56 ปี เป็นชาวไร่อ้อยบ้านภูมูลเบ้า ตำบลโนนทอง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นทำไร่อ้อยเมื่อปี พ.ศ.2555 ได้เรียนรู้การบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่อง “การให้น้ำอ้อย” จากมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม   

“ผมรู้จักวิธีให้น้ำอ้อยด้วยระบบน้ำหยดจากมิตรผล ได้ยินแล้วผมก็สนใจ และอยากทดลองในแปลงปลูกอ้อยของผมเอง ผมลองก่อน 5 ไร่ แล้วเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้ คำตอบคือ ระบบน้ำหยดให้ผลผลิตสูงถึง 20 ตันต่อไร่ ต่างจากอ้อยที่ใช้ระบบน้ำราด ให้อ้อยเพียง 8-12 ตัน”

นี่คือที่มาและเหตุผลที่คุณธัญญาเลือกให้น้ำอ้อยด้วยระบบน้ำหยด ด้วยงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 25,000 บาท ต่อ 5 ไร่ ใช้งานได้ถึง 3 ปี

“ผมทำน้ำหยดมา 3 ปี ก่อนหน้านี้ให้น้ำราดมาตลอด ซึ่งใช้น้ำเยอะมาก พื้นที่ของเราตรงนี้ค่อนข้างแห้งแล้ง เราจึงมีกลุ่มผู้ใช้น้ำจากโครงการชลประทานระบบท่อ ที่ได้งบประมาณมาจากภาครัฐและเอกชน ผมเป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ คอยบริหารน้ำร่วมกับสมาชิก ซึ่งเรามีโควต้าขอใช้น้ำแต่ละครัวเรือนตามแต่คำร้องของแต่ละคนที่ยื่นขอใช้น้ำมา ทำให้ผมรู้ว่า น้ำของเรามีข้อจำกัดในการใช้แค่ไหน ดังนั้นตอนใช้ระบบน้ำราดในไร่อ้อย ทำให้รู้ว่าใช้น้ำปริมาณมากเกินไป จึงต้องลองหาวิธีให้น้ำแบบใหม่เพื่อประหยัดน้ำ”

คุณธัญญา สรุปข้อแตกต่างของระบบน้ำหยดกับน้ำราด ดังนี้

ข้อแรก ลดการใช้น้ำลง จากที่เคยใช้น้ำประมาณ 20 ถัง (ถังที่สูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้) ด้วยระบบน้ำราด ตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย เหลือเพียง 12 ถัง เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำหยด

ข้อสอง ลดเวลาและขั้นตอนการทำไร่อ้อย การใช้น้ำราดแบบเดิม ในไร่อ้อย 10 ไร่ ต้องใช้เวลา 10 วัน แต่ถ้าใช้น้ำหยด จะใช้เวลาเพียง 3 วัน เท่านั้น และสามารถให้ปุ๋ยอ้อยไปพร้อมกับน้ำได้เลย ทำให้ลดขั้นตอนและลดเวลาการทำงานในส่วนนี้ไปได้มาก

ข้อสาม ลดการใช้สารกำจัดวัชพืช อ้อยที่ปลูกด้วยระบบน้ำหยด เจริญเติบโตรวดเร็ว ทำให้ใบอ้อยปิดบังแสงแดด วัชพืชก็อยู่ไม่ได้ ตายในที่สุด ความจะเป็นที่ต้องใช้สารเคมีก็น้อยลง

ปัจจุบันคุณธัญญา ประสบความสำเร็จเรื่องการบริหารน้ำในไร่อ้อยอย่างมาก ซึ่งท่านยึดหลัก “ทำอ้อยอย่างมีหลักการ ปริมาณไร่น้อย แต่ผลิตอ้อยได้เยอะ ดีกว่าปลูกอ้อยเยอะ แต่ผิดวิธี ผลลัพธ์ก็ต่างกัน”

มิตรชาวไร่ท่านใดที่สนใจวิธีให้น้ำอ้อยแบบน้ำหยด แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง จุดไหนควรทำก่อนทำหลัง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของมิตรผลในพื้นที่ได้ตลอดเวลา ทีมงานของเราพร้อมจะไปแนะนำทันที เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องมิตรชาวไร่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด.

ข่าวปักหมุด