หน้าแรก

“ปัญหาเป็นแค่บททดสอบ การบริหารจัดการที่ดีต่างหากคือคำตอบ ในการทำไร่อ้อยปัญหามีอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาจะพัฒนาตามยุคตามสมัย ทั้งเรื่องของคน ดิน น้ำ ภัยแล้ง ถ้าเรากลัว เราจะไม่มีวันชนะ และถ้าเราจัดการมันได้ นั่นจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่เราภาคภูมิใจ”

คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้ ขอพามิตรชาวไร่มาทำความรู้จักกับผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอ้อยมานานมากกว่า 30 ปี นับตั้งแต่เธอยังเป็นนักศึกษา จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่วิ่งตามคุณพ่อไปซื้อของป่า จากที่ยังไม่มีโรงงานน้ำตาล จวบจนบัดนี้ เธอกลายมาเป็นผู้บริหารงานอย่างเต็มตัว สามารถบริหารไร่อ้อยเป็นพันไร่ ด้วยกำลังคนเพียง 10 คน และกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านเรื่องราวมากมายอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันค่ะ

คนเก่งของเราท่านนี้คือ คุณมยุลี ศรีอัครวิทยา หรือ พี่ปุ๊ มิตรชาวไร่จากโรงงานมิตรภูเขียว ซึ่งมีเริ่มต้นจากคุณพ่อ ที่เป็นผู้บุกเบิกการทำไร่อ้อยในเขตนี้ คุณมยุลี ในวัย 47 ปี เล่าให้ฟังว่า ก่อนทำไร่อ้อย ที่บ้านจะไปรับซื้อของป่ามาขาย แล้วพอมามีโรงงานน้ำตาลขึ้น จึงเริ่มทำไร่อ้อยโดยเริ่มต้นจากคุณพ่อซื้อที่เก็บไว้แปลงแรกคือ 20 ไร่ และก็พอมีเงินก็เพิ่มเรื่อย ๆ ที่ละ 10-20 ไร่ จนกระทั่งปี 2527 น้ำตาลมิตรผลมาตั้งโรงงาน เราก็เริ่มส่งตั้งแต่ปีแรกตอนปี 2528 นับได้ว่าเป็นชาวไร่รุ่นแรก ๆ เลย

“ตอนนั้นพี่ยังไม่ได้เข้ามาช่วยงาน เพราะหลังจากที่จบก็ไปทำงานที่อื่นก่อนประมาณ 1 ปี จนกระทั่งปี 2540 เห็นพ่อเหนื่อยมากก็เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเข้ามาช่วย ก็เลยออกจากที่ทำงานเก่าแล้วมาทำไร่ช่วยคุณพ่ออย่างเต็มตัว โดยตอนแรกมีคุณพ่อเป็นโค้ชให้ก่อน จากวันนั้นที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 20 กว่าไร่ตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ 1,100 ไร่ ที่เป็นของเราเอง นี่ยังไม่รวมที่เราเช่าอีกประมาณ 200 กว่าไร่”

ผู้ริเริ่มนำรถตัดมาใช้ในยุคแรก ๆ ของชาวไร่

ด้วยความที่เข้ามาคลุกคลีอยู่กับการทำไร่ สักระยะหนึ่ง คุณมยุลีเห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้น แล้วมองดูว่าปัญหาต่าง ๆ ในการทำไร่มันเกิดจากอะไร จึงตัดสินใจที่จะนำเอาเครื่องจักรมาใช้ในการทำไร่เพื่ออำนวยความสะดวกและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ประเด็นแรกที่ตัดสินใจนำรถตัดเข้ามาใช้ก็คือเริ่มขาดแคลนแรงงาน เพราะว่าพื้นที่อ้อยเราเยอะขึ้น ดังนั้นต้องใช้ปริมาณคนตัดมากขึ้น แล้วที่สำคัญงานของเราต้องเสร็จให้ทันส่งโรงงาน เลยคิดว่ารถตัดมีความจำเป็น ซึ่งตอนแรกใช้รถตัดของโรงงานที่เขามารับจ้างก่อน ลองดูว่ามันเวิร์คมั้ย แล้วเราก็มีรถสิบล้อวิ่งไปมา พอลองไปก็เห็นว่ามันดี เลยตัดสินใจซื้อรถตัดประมาณปี 2546 ตอนนั้นยังซื้อเป็นรถตัดมือสองอยู่นะคะ เพราะคันนึงตั้งสิบล้าน เราไม่ไหว เลยค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ดีกว่า”

เรื่องประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างคนกับรถตัดนั้น คุณมยุลีเล่าให้เราฟังว่า ถ้าจะให้เปรียบเทียบระหว่างการใช้แรงงานคน กับรถตัดนั้น มันก็ยากนะที่จะบอกว่าอันไหนมันจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ พอเราใช้รถตัดแล้วงานเราเสร็จเร็วมาก พอเสร็จเร็วก็เลยทำให้เรามีเวลาไปทำงานอื่น คิดสิ่งอื่นได้

“ถึงแม้ว่าการใช้รถตัดต้องมีการซ่อมบ้าง แต่รถตัดไม่บ่นเรา (คุณมยุลีหัวเราะ) แล้วอีกหนึ่งปัญหาเลยคือการที่เราจ้างแรงงาน บางครั้งก็โกงเรา พอเราไปทวงเขามาก ๆ ก็มีโอกาสที่จะเป็นหนี้สูญ แต่พอหารถตัดมานี่ เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างดีเลย งานเสร็จเร็ว ไม่บ่น ไม่อู้ ไม่โกง นี่แหละค่ะประโยชน์ของรถตัดที่มี”

เมื่อหมดปัญหาเรื่องแรงงานไปแล้ว ปัญหาเรื่องต้นทุนก็หมดไปด้วย เพราะถ้าใช้คนตัดนอกจากจะมีต้นทุนค่าตัดแล้ว ยังต้องมีค่าจ้างคนคีบอีก แต่พอใช้รถตัดก็อยู่ในกระบวนการเดียว ตัดด้วย คีบด้วยเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องเสียเงินในหลายส่วน เคยคิดคำนวณเปรียบเทียบระหว่างกำไรที่ได้สมมติว่ารถตัดคันนึงคำนวณอยู่ที่ตันละ 190 บาท หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้วเหลือกำไรตันละ 50 บาท ทีนี้พอเราหีบสัก 10,000 ตัน เราก็จะได้กำไร 500,000 บาท อย่างนี้ง่ายกว่า เราก็สามารถนำมาตั้งเป็นเกณฑ์ได้เลยว่า ถ้าเราหีบเท่าไหร่ เราจะได้กำไรเท่าไหร่ ก็ทำให้การทำงาน การบริหารการเงินได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ปัญหาภัยแล้ง อีกบทพิสูจน์หนึ่งของชาวไร่

“ต้องยอมรับเลยว่า ปีที่ผ่านมาปัญหาภัยแล้งสร้างผลกระทบต่อชาวไร่เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เคยเจอภัยแล้งหนักอย่างนี้มาก่อนเอาเป็นว่าในรอบ 30 ปีที่ทำไร่มาเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นก็คิดหนักมากจะทำอย่างไรดี ก็พยายามหาแหล่งน้ำ ส่วนไหนที่เราสามารถสูบได้ ก็พยายามสูบขึ้นมาเพื่อนำมาบรรเทาช่วงนั้นและจัดการภาวะนั้นให้ดีที่สุด นอกจากนั้นเรายังทำเรื่องน้ำหยดอีกด้วย ก็สามารถช่วยบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากพี่มีบ่อมากแต่ว่าขาดแรงงานเพราะว่าการวางน้ำหยดต้องใช้หลายคน พอวางปุ๊ประบบโอเค ก็ต้องไปวางต่อไปเรื่อย แต่ถ้าเป็นน้ำบาดาลมันมีขีดจำกัดเหมือนกันมันไม่ใช่น้ำบ่อ อย่างที่เขามารับจ้างเหมากัน ก็เลยต้องมีทั้งการจ้าง และใช้แรงงานคนค่อนข้างเยอะสำหรับช่วงนั้นแต่ก็ผ่านมาได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ 100% ก็ตาม”

คนงานหลักแค่ 6 คน ก็สามารถบริหารจัดการไร่ทั้งหมดได้

การเลือกคนงาน เป็นอีกปัจจัยหลักที่คุณมยุลีเลือก เพราะจะเลือกคนงานที่มืออาชีพถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินแพงกว่าหน่อย แต่ก็คุ้มและไว้ใจได้

“สำหรับพี่จะเลือกลูกน้องที่ทำงานด้วยแบบมืออาชีพ เพราะอาชีพเขาคือทำไร่อ้อย อาจจะมีเป็นรับจ้างในไร่อ้อยหรือบางรายก็เป็นเจ้าของไร่อ้อยรายเล็ก อย่างคนขับรถไถ เคยเป็นลูกน้องโรงงาน รับจ้างขับรถแล้วแกก็มีพื้นฐานทำไร่อยู่แล้วมีระเบียบวินัย ด้วยความที่เรามีความซื่อสัตย์ต่อกันก็ปล่อยเขาได้ เราก็ไม่ต้องไปยุ่ง หรือดูอะไรมากมาย เย็นก็เช็ครถ เขาก็จะรายงานว่ากี่วันเสร็จ จะปลูกเมื่อไหร่ คือเขามีความรับผิดชอบของเขาได้ หากช่วงที่จำเป็นต้องใช้คนเพิ่ม ก็จะมีการจ้างแรงงานรายวัน เช่น ช่วงหีบอ้อย อาจจะเพิ่มมาเป็น 7-10 คน ก็ต้องทำ แต่พอเสร็จ ก็จบ เราก็สบาย มีลูกน้องที่มีประสบการณ์ เชื่อใจได้ มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนว่าเรามีทั้งเครื่องจักร และคนที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบเราก็สบายใจทำงานและทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น”

“สำหรับการสั่งงาน พี่ปุ๊ จะเป็นคนที่สั่งการทั้งหมดเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด "การสั่งงานเราจะเป็นคนสั่งเองทั้งหมด เราจะต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม พี่อาจจะงานเยอะบ้าง (หัวเราะ...) แต่ว่าเราก็ถามความเห็นเขา แต่เขาก็ทำงานตามเราสั่งเป็นส่วนใหญ่ค่ะ แต่บางครั้งหากมีอะไรไม่เหมาะสมเขาก็จะแนะนำเรา เช่น ดินแข็งนะ ไม่ควรไถ เราก็จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์

อาจจะบ่อยหน่อย แต่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำงานจริง ๆ"

จากประสบการณ์ทำไร่อ้อยมากกว่า 20 ปี คุณมยุลี เน้นย้ำว่า ขณะนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำไร่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ทั้งรถตัด รถคีบ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ส่วนระบบเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่อื่น ๆ เช่น GPS ก็มีความสำคัญ เพราะทุกอย่างมีการพัฒนาที่จะนำมาช่วยงานในไร่ให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เจาะลึกไปถึงการทำไร่สมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มด้วยแล้ว มีหลายอย่างที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำไร่ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่า เราจะบริหารจัดการอย่างไรก็แค่นั้นเอง

สุดท้าย คุณมยุลีฝากถึงเพื่อนมิตรชาวไร่ท่านอื่นว่า “สำหรับปัญหาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับจากปีที่แล้วจนบัดนี้ก็ยังคงมี หรือปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจ ซึ่งชาวไร่อย่างเราก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ก็อยากเป็นกำลังใจให้กับทุกคนค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ แก้ปัญหากันไป พึงระลึกเสมอว่าสติ และการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหา และสามารถฝ่าฟันปัญหาไปได้ด้วยดีค่ะ”

IMG_2837.jpeg

ข่าวปักหมุด