เรื่องของการเปลี่ยนแปลง เป็นความไม่แน่นอนของชีวิต หลายคนเมื่อได้อยู่ หรือ ทำสิ่งนั้นต่อเนื่องอย่างยาวนาน ก็ไม่กล้าที่จะหลุดออกมาจากเซพโซน (safe zone) ของตัวเอง เพราะกลัวว่า หากเปลี่ยนเพื่อรับสิ่งใหม่หรือเลิกทำสิ่งเก่า ตัวเองจะไม่ปลอดภัย ไม่กล้ายอมรับกับผลที่จะเกิดขึ้น
คนเก่งมิตรชาวไร่วันนี้ ขอแนะนำให้รู้จัก มิตรชาวไร่ Young Blood ที่กล้าออกจากเซพโซน อ้าแขนรับเทคโนโลยีและแนวคิดการทำไร่อ้อยสมัยใหม่อย่างมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม “เปลี่ยนแปลง(อ้อย) รองรับเครื่องจักร” จนประสบความสำเร็จ เป็นตัวอย่างให้ชาวไร่คนอื่น ๆ ได้…ขอเสียงปรบมือให้กับ คุณวิทธวัช ประภาษี มิตรชาวไร่หนุ่มจาก อ.คอนสาร ชัยภูมิ
Q : แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ
A : สวัสดีครับ ผมวิทธวัช ประภาษี อายุ 33 ปี จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ครับ ปัจจุบันเป็นชาวไร่อ้อยเต็มตัวร้อยเปอร์เซ็นต์
Q : ทำไมคุณวิทธวัชถึงตัดสินใจมาเป็นชาวไร่อ้อยคะ เพราะจากวุฒิที่เรียนมา มีโอกาสได้ทำงานที่ดี ๆ ได้
A : จริง ๆ ผมไปสมัครงานและเขาเรียกตัวผมไปทำงานแล้วนะ แต่ตอนนั้นที่บ้านไม่มีใครช่วยพ่อกับแม่ทำงานในไร่อ้อยเลย ผมเลยตัดสินใจมาทำไร่ดีกว่า เพราะสงสารท่าน เลยทำไร่มาตั้งแต่ปี 2552 ก็ประมาณ 10 ปีได้
Q : ไร่ที่บ้านมีพื้นที่เท่าไหร่ ทำหน้าที่อะไรบ้าง
A : ปัจจุบันเรามีไร่อ้อยประมาณ 600 ไร่ แบ่งสัดส่วนกันชัดเจน ของพ่อแม่ ของพี่สาว ของผมเอง หน้าที่เหรอครับ ก็ทำทุกขั้นตอนนะ เพราะพ่อแม่ให้ลองผิดลองถูกเองตั้งแต่แรก แต่ผมเริ่มจากขับรถไถ รถส่งอ้อยก่อน แล้วค่อยทำอย่างอื่น ๆ มาเรื่อย ๆ มันไม่ยากเกินความสามารถ เพราะเราคลุคลีมาตั้งแต่เด็ก จนทำได้หมดแล้ว
Q : พูดถึงการทำไร่อ้อยตามแนวคิดของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม รู้สึกอย่างไร
A : ตอนแรกผมยอมรับเลยว่า กลัวและกังวล กลัวว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะได้ผลผลิตน้อย เพราะต้องวางรูปแบบแปลงที่มีระยะห่างพอให้รถตัดเข้าไปทำงานได้
Q : อะไรคือสิ่งที่ทำให้ความกลัวความกังวลหายไป
A : ผมเห็นตัวอย่างจากคนอื่น เราได้ไปดูงาน ได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ และเราได้พูดคุยกันในครอบครัว เรามีปัญหาเรื่องคนงานขาดแคลนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราเสียเงินจากเรื่องนี้เยอะมาก อยากจะหลุดพ้นจากปัญหานี้ เลยตัดสินใจ เอาวะ ลองดูกันสักตั้ง
Q : ลงทุนไปเยอะไหมกับการทำไร่สมัยใหม่
A : เราจ่ายเงินก้อนใหญ่ไปกับเครื่องจักร อย่างรถตัดนะครับ แต่เราเคยจ่ายค่าจ้างคนงานมามากกว่านี้ จ่ายเงินแต่ได้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพ อากาศร้อนก็ไม่อยากตัด อ้อยไม่เผาก็ไม่ตัด บางทีจ่ายไปแล้วเบี้ยวไม่มาทำงาน ต้องไปจ่ายอีกทอดหาเจ้าใหม่มาตัด มันเสียมากกว่าลงทุนกับรถตัดครับ
Q : สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงมาทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
A : โอ้! เปลี่ยนแปลงเยอะมากครับ อย่างแรกเลยได้อ้อยสดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ไม่เต็มร้อยเพราะบางส่วนโดนไฟป่า อ้อยสดเราคุณภาพดี น้ำหนักดี ค่าความหวานก็ดีด้วย ประมาณ 15 กว่า ซี.ซี.เอส. จากที่ผมกลัวว่าพอต้องขยายระยะห่างเพื่อรถตัดผลผลิตอ้อยจะลดลง ไม่เลยครับ ผลผลิตดีขึ้น พอใจมาก ๆ ผมยกให้รถตัดเป็นพระเอกเลยนะ 1 วันตัดอ้อยได้ 400 ตัน ตัดเสร็จเราส่งเข้าโรงงานเลย รวดเร็วทันใจมาก
Q : อนาคตวางแผนไว้ยังไง
A : ผมทำอ้อยต่ออยู่แล้ว จะทำไว้จนถึงรุ่นลูกหลานเหมือนที่พ่อกับแม่ทำไว้ให้เรา ผมเชื่อว่าต่อไปทำไร่อ้อยจะสบายมากขึ้น ทุกวันนี้ผมว่าก็สบายนะ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน ถ้ามีกำลังเราก็จะเพิ่มเครื่องจักรเข้ามาเรื่อยๆ
Q : ฝากอะไรทิ้งท้ายให้เพื่อนมิตรชาวไร่ท่านอื่นหน่อยค่ะ
A : ผมฝากถึงชาวไร่ที่ยังทำไร่แบบเดิม ๆ ที่ต้องพึ่งพาแรงงานนะครับ เปลี่ยนมาลงทุนกับรถตัด คุ้มกว่าครับ ทำงานดี มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ผลผลิตไม่ลดลงแน่นอน เปลี่ยนแล้วสบายจริง ๆ
สุดท้ายนี้ทีมงานมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอขอบคุณ คุณวิทธวัช ประภาษี ที่ให้โอกาสเราได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปและความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงวิถีทำไร่จากแบบเดิม สู่การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ทีมงานหวังว่า ประสบการณ์ของคุณวิทธวัชจะเป็นแรงบันดาลใจให้มิตรชาวไร่ท่านอื่นได้ลองเปลี่ยนกันดูนะคะ.