อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยในยุค 4.0 ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ที่ท้าทายการบริหารงานของรัฐบาลและความเข้มแข็งของเกษตรที่จะก้าวผ่านพัฒนาการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ทัดเทียมคู่แข่งทางการค้าได้
สิ่งที่เกษตรกรต้องเผชิญไม่เพียงแต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) แต่มีทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องพัฒนาศักยภาพการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เทคโนโลยีสมัยใหม่วันนี้ มีเรื่องราวของการใช้เทคโนโลยีทางดาวเทียม หรือ GPS เพื่อการปรับระดับพื้นที่ทางการเกษตร การควบคุมระยะปลูกให้มีคุณภาพ และการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งต่อการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ เทคโนโลยีตัวนี้มีชื่อว่า เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูงด้วย Real Time Kinematic (RTK) หรือการรังวัดแบบจลน์ในทันที
เป็นสถานีภาคพื้นดินที่ทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ได้ค่าพิกัดการวัดทันที ณ เวลาทำการรังวัดซึ่งมีตำแหน่งคงที่ โดยมีเครื่องรับสัญญาณอย่างน้อย 2 เครื่อง โดยเครื่องหนึ่งจะถูกวางไว้ในตำแหน่งที่รู้ค่าแน่นอนตลอดเวลาเป็นสถานีหลัก (Base station) ส่วนเครื่องรับเครื่องที่สองคือสถานีเคลื่อนที่ (Rover station) จะนำไปวางไว้บนตำแหน่งที่ต้องการทราบค่าพิกัด เช่น วางที่รถแทรกเตอร์หรือเครื่องจักร โดยใช้พิกัดอ้างอิงจากดาวเทียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการวางแผน การทำแผนที่และออกแบบแปลง การเก็บตัวอย่างดินและทำแผนที่ การควบคุมเครื่องจักรและตรวจสอบคุณภาพการทำงาน การปรับอัตราปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การให้น้ำตามความชื้นของดินและความต้องการของพืช และทำแผนที่ผลผลิต เป็นต้น
ซึ่งระดับความแม่นยำของการระบุตำแหน่งด้วยสัญญาณดาวเทียมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศ ความคลาดเคลื่อนนาฬิกา คุณภาพของเครื่องรับสัญญาณ ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งโทรศัพท์มือถืออาจคลาดเคลื่อนในรัศมี 5 เมตร ถ้าใช้งานในสภาพอากาศเปิดไม่มีสิ่งกีดขวาง แต่หากใช้ในบริเวณอาคารอาจทำให้ระดับความคลาดเคลื่อนสูงขึ้น เป็นต้น
นอกจากการรังวัดพื้นที่อย่าง RTK แล้ว ยังมีเทคโนยีการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมด้วยระบบ GPS อีกหลายอย่างที่เข้ามามีบทบาทช่วยให้การเกษตรมีความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตอบโจทย์การเกษตรยุค 4.0 ได้เป็นอย่างดี มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มรับปากว่าจะนำมาอัพเดตให้เกษตรกรของเราได้เรียนรู้กันแบบไม่ตกเทรนด์แน่นอน.
ขอบคุณที่มา:
https://www.kubotasolutions.com/knowledge/sugar_cane/detail/356