หน้าแรก

จากสถิติการผลิตอ้อยปี 2561/62 ที่ผ่านมา มีปริมาณหีบอ้อย 130 ล้านตัน อ้อยสด 50.9 ล้านตัน หรือ 38.89% เป็นอ้อยไฟไหม้ 80 ล้านตัน คิดเป็น 61.11% จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศจำนวน 11.54 ล้านไร่ เกษตรกรจำนวน 316,241 ราย

ตัวเลขอ้อยไฟไหม้มากกว่าครึ่งของปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ทั้งหมด ไม่แปลกใจเลยใช่ไหมคะว่าทำไม ชาวไร่อ้อยถึงถูกหมายหัวว่าเป็นกลุ่มคนลำดับต้น ๆ ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงเดือน ธันวาคม-เมษายน ของทุกปี ทำให้รัฐบาลต้องมีโครงการเพื่อลดปัญหาการเผาอ้อยของเกษตรกรในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต

ล่าสุด ครม.ให้ไฟเขียวอนุมัติงบประมาณ 6 พันล้านบาท ตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยมีเป้าหมายว่า “อีก 3 ปี ข้างหน้า การเผาอ้อยต้องหมดไปจากประเทศไทย” ซึ่งมีมาตรการคร่าว ๆ ดังนี้

  • ฤดูกาลผลิตปี 2562/63 จะหักราคาอ้อยไฟไหม้จากชาวไร่อ้อยตันละ 5% โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 30% ต่อวัน
  • ปี 2563/64 หักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 10% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน
  • ฤดูการผลิตปี 2564/65 หักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 15% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 0-5% ต่อวัน

ซึ่งงบประมาณดังกล่าว จะนำมาเป็นแหล่งเงินทุนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยกู้แก่เกษตรกร เพื่อซื้อรถตัดอ้อย โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-64 โดยให้สินเชื่อกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-64 รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้แต่ละรายกู้ได้ไม่เกิน 29 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท สำหรับรายละเอียดเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รถตัดอ้อยใหม่ขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท และรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท ส่วนรถตัดอ้อยเก่าขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท และรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 8 ล้านบาท

ส่วนอัตราดอกเบี้ย แยกเป็น เกษตรกรรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ที่คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ส่วนกรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย ประเภทรถแทรกเตอร์หรือรถบรรทุกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ แต่ธ.ก.ส. รับภาระชดเชย 1% ต่อปี โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 599.43 ล้านบาท

เมื่อรัฐบาลเอาจริงเอาจังเรื่องลดปัญหาฝุ่นที่เกิดจากการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ถึงขนาดทุ่มงบประมาณให้กู้กันขนาดนี้แล้ว พี่น้องเกษตรกรท่านใดที่ยังขาดรถตัดอ้อย และมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนมาตัดอ้อยสด ลดฝุ่นควันให้แก่ประเทศ แถมได้อ้อยราคาดี มีโบนัสอ้อยสด ให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาได้นะคะ คิดไว ทำไว รีบตัดสินใจ เดี๋ยวเงิน 6 พันล้านจะหมดก่อนนะจ๊ะ ^^

ขอบคุณที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_2606755

ข่าวปักหมุด