หน้าแรก

หากพูดถึงนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ ที่ช่วยเสริมบทบาทด้านความแม่นยำและลดเวลาการทำงานให้เกษตรกรมากขึ้น “โดรน” ยืนหนึ่งในนวัตกรรมเกษตรแม่นยำสูงนั้น ด้วยคุณสมบัติการทำงานและราคาที่แตะต้องได้ ทำให้โดรนถูกนำมาใช้ในภาคการเกษตรขยายวงกว้างขึ้น

โดรน หรือ อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ถูกพัฒนาจากการใช้งานเพื่อถ่ายภาพจากมุมสูง สู่โดรนเพื่อการเกษตร มีลักษณะการใช้งานแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ใช้สำรวจและวางแผนการผลิตพืช ไม่ว่าจะการสำรวจพื้นที่ ติดตามการเติบโตของพืช เพื่อนำมาคาดการณ์ผลผลิตหรือวางแผนการจัดการแปลง รวมไปถึงวิเคราะห์หาโรคพืช และประเภทที่สอง คือ ใช้เพื่อทุ่นแรง เช่น การหว่านเมล็ดพืช การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ฉีดพ่นสารควบคุมวัชพืช หรือฉีดสารชีวภัณฑ์ ซึ่งโดรนถือเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะพืชที่มีลำต้นสูง

ข้อดีของการใช้โดรนเพื่อการเกษตร

  1. ประหยัดเวลาและแรงงานในการทำงาน
  2. มีความปลอดภัยสูงเพราะไม่ต้องสัมผัสกับชีวภัณฑ์และอาหารพืชโดยตรง
  3. เข้าถึงในสภาพพื้นที่ที่ทำงานยากได้
  4. มีความแม่นยำสูง ฉีดพ่นพืชได้ทั้งแปลง
  5. ไม่เหยียบย่ำพืชที่ปลูกให้เสียหายในขณะทำงาน

ทั้งนี้หากมิตรชาวไร่สนใจอยากนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนมาช่วยงานในไร่สักเครื่อง ควรศึกษารายละเอียดและปฏิบัติตามระเบียบการใช้โดรนในประเทศไทย ซึ่งมีข้อบังคับและกฎหมายจากพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ควบคุมอยู่ โดยข้อควรปฏิบัติสำคัญคือ “การขึ้นทะเบียนโดรน” สำหรับโดรนที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • โดรนที่ไม่ติดตั้งกล้องบันทึกภาพและน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ไม่ต้องขึ้นทะเบียน
  • โดรนที่ไม่ติดตั้งกล้องบันทึกภาพ แต่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียน
  • โดรนที่มีน้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัม ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และโดรนที่ติดตั้งกล้องถ่ายภาพต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี

การขอขึ้นทะเบียนผู้บังคับอากาศยานโดรนต้องติดต่อหน่วยงานใดบ้าง

  1. ต้องขอขึ้นทะเบียนทั้ง 2 หน่วยงาน คือ CAAT หรือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และ กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  2. การขึ้นทะเบียนกับ CAAT เป็นการขึ้นทะเบียนผู้บังคับอากาศยานโดรน ส่วนการขึ้นทะเบียนกับ กสทช.เป็นการขึ้นทะเบียนขออนุญาตการใช้คลื่นความถี่
  3. แม้จะลงทะเบียนขออนุญาตใช้คลื่นความถี่โดรนกับ กสทช. แล้วก็ยังไม่สามารถบินโดรนได้ ต้องขึ้นทะเบียนทั้ง 2 หน่วยงาน

ซึ่งขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนโดรน มิตรชาวไร่สามารถเข้าไปยื่นออนไลน์ พร้อมดาวน์โหลดเอกสารประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนได้ตามลิงก์ของ CAAT https://www.caat.or.th/uav/ การลงทะเบียนจะทราบผลพิจารณาภายใน 15 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่เอกสารครบถ้วนเท่านั้น ซึ่งหนังสือการขึ้นทะเบียนโดรนมีอายุ 2 ปี

ทั้งนี้มีข้อจำกัดของบางหน่วยงานที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนโดรน อาทิ หน่วยงานสังกัดราชการทหาร ราชการตำรวจ ราชการศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497

ดังนั้น เกษตรกรอย่างเราไม่ได้เข้าข่ายที่ต้องรับการยกเว้นการขึ้นทะเบียน เพราะฉะนั้นมิตรชาวไร่ท่านใดที่ตั้งใจจะมีโดรนเข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำ ทุ่นแรง ลดเวลาการทำงานในไร่อ้อย ต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 24 ประมวล มาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มาข้อมูลและภาพ

https://www.rakbankerd.com/

https://www.weeklytimesnow.com.au/

https://youtube.com/

ข่าวปักหมุด