- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- จ., 21 ต.ค. 62
ว่ากันด้วยเรื่อง “ดิน” หัวใจสำคัญของการทำไร่อ้อย หากไร่ไหนดินดีก็ถือว่ามีต้นทุนพร้อม เตรียมยิ้มรับกับผลผลิตงาม ๆ กันได้เลยค่ะ แต่สำหรับไร่ไหนที่มีต้นทุนของดินต่ำ ดินเสื่อมสภาพ ขาดธาตุอาหาร ดินกลายสภาพเป็นดินดาน ก็คงได้แต่ยิ้มแห้ง ๆ รับกับผลผลิตแคระแกร็นที่เจริญเติบโตได้ไม่ดีพอ
สำหรับมิตรชาวไร่ของเรานั้น เชื่อแน่ค่ะว่าคงไม่มีใครอยากปล่อยให้อ้อยต้องเผชิญกับอุปสรรคของการเจริญเติบโตในดินแย่ ๆ เป็นแน่แท้ หลาย ๆ ท่านที่ประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพ ดินขาดธาตุอาหาร หรือดินกลายสภาพเป็นดินดาน ก็คงวางแผนฟื้นฟูดินกันยกใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีเพิ่มธาตุอาหารก็ดี พักดินปลูกถั่วเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยพืชสดก็ดี ล้วนเป็นวิธีที่จะช่วยฟื้นฟูดินได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มยังมีอีกหนึ่งเคล็ด(ไม่)ลับ กับภารกิจเปลี่ยนดินดานให้ร่วนซุย ซึ่งจะด้วยวิธีใดนั้นขออุบไว้ก่อนนะคะ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อน ว่าดินดานนั้นเกิดจากอะไร... ดินดานนั้นคือชั้นดินที่อัดตัวแน่นทึบและแข็ง จนเป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช การไหลซึมของน้ำ และการถ่ายเทอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช โดยสาเหตุของการเกิดดินดานอาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยเกิดจากการสะสมของดินเหนียว หรืออีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เกิดจากกิจกรรมทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยมีการไถพรวนที่ระดับความลึกเดิม การไถพรวนในขณะที่ดินมีความชื้นสูง การไถพรวนติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ลงไปเหยียบย่ำในแปลง และขาดการปรับปรุงบำรุงดิน
อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนดินดานให้กลายเป็นดินร่วนซุย ทำไร่อ้อยตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มก็สามารถช่วยได้ นั่นคือ แนะนำให้ควบคุมแนวล้อวิ่งของเครื่องจักร จะทำให้ไม่มีการบดอัดบนแถวอ้อยและไม่ทำให้คันรอบๆ รากอ้อยแน่น อนุภาคดินบนแถวอ้อยจะไม่ถูกอัดรวมกันจนแน่น ดินก็สามารถอุ้มน้ำและอากาศได้ดี ซึ่งดินตรงรอยล้อระหว่างแถวอ้อยกลับแน่นแทน ทำให้ล้อของเครื่องจักรวิ่งได้ง่ายขึ้น ซึ่งการทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์มจะใช้ระยะห่าง 1.85 เมตร ซึ่งพอดีกับระยะห่างของล้อรถของเครื่องจักรทุกชนิด และหากให้ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้นควรตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ที่จะช่วยแก้ปัญหาการเสื่อมสภาพของดินได้เป็นอย่างดี เพราะใบอ้อยเป็นแหล่งอินทรียวัตถุชั้นเยี่ยม เมื่อถูกทิ้งคลุมดิน ใบอ้อยจะช่วยรักษาหน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินเอาไว้ และเมื่อใบอ้อยย่อยสลาย ก็จะกลายเป็นธาตุอาหารปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีสารอินทรีย์มากขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างของดินโปร่งและร่วนซุยมากขึ้น เก็บกักน้ำได้ดี เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของอ้อย ดังนั้นแล้วกุญแจสำคัญของภารกิจเปลี่ยนดินดานให้ร่วนซุย ก็คือ ใบอ้อย แหล่งอินทรียวัตถุชั้นเลิศของดินนั่นเอง
การแก้ปัญหาดินดานโดยการควบคุมแนวล้อวิ่ง พร้อมทั้งลดการไถพรวน การตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินช่วยรักษาโครงสร้างดิน ตามหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เท่านี้ก็มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม ...เพิ่มดินดี เพิ่มผลผลิตดี และเพิ่มรอยยิ้มได้ตลอดทั้งปี
ที่มาภาพ
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/soil-has-microbiome-too-180960088/
https://www.abc.net.au/news/2013-06-14/sugar-cane-north-queensland-water-run-off/4754822