หน้าแรก

สำหรับข่าวคราวเรื่องสถานการณ์น้ำที่คาดว่าจะแล้งในปีนี้ หลายหน่วยงานได้ออกมาเตือนพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมให้เตรียมรับมือ และหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่ามิตรชาวไร่ของเราเอง มีศักยภาพเพียงพอในการหาแหล่งน้ำเสริมเพื่อใช้ในไร่อ้อย ไม่ว่าจะเป็นน้ำบาดาล หรือการขุดสระสร้างระบบชลประทานให้อ้อย เพื่อให้น้ำเสริมฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล

นอกจากการหาแหล่งน้ำสำรองหรือกักเก็บน้ำไว้ใช้แล้ว การนำน้ำขึ้นมาใช้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะโดยส่วนมากหลักการของการสูบน้ำมักต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้า แต่เมื่อพื้นที่นั้น ๆ ไม่มีไฟฟ้าเราจะต้องทำอย่างไร

วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มีหลักการนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ โดยไม่ต้องง้อไฟฟ้า แต่พึ่งพาหลักการธรรมชาติอย่างหลักแรงโน้มถ่วงโลก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ กาลักน้ำหรือพญาแร้งให้น้ำ นั่นเอง

แนวคิดการผลิต พญาแร้งให้น้ำหรือกาลักน้ำ เป็นเครื่องสูบน้ำสุญญากาศ ซึ่งหัวใจสำคัญของนวัตกรรมนี้คือ การทำให้ถังบรรจุน้ำที่อยู่บนขอบสระเป็นสุญญากาศ ดูดน้ำจากที่ต่ำขึ้นถังแล้วปล่อยออกในแนวระดับที่ต่ำกว่าถัง และใช้ระบบท่อให้มีขนาดเหมาะสมเพื่อให้การไหลของน้ำไม่เสียสมดุลในระบบสุญญากาศภายในถัง สามารถสูบน้ำได้ทั้งวันทั้งคืน มีราคาต่ำ เหมาะสำหรับพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า หรือพื้นที่ที่ต้องการประหยัดพลังงานไฟฟ้า สามารถตั้งในพื้นที่ห่างไกลจากบ้านได้

หลักการผลิตเครื่องสูบน้ำแรงดันสุญญากาศ หรือพญาแร้งให้น้ำด้วยตัวเอง เริ่มจากการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่

  • ถังบรรจุน้ำ 200 ลิตร
  • ท่อ พีวีซี ดูดน้ำ 6 หุน 4 หุน 1 นิ้ว และ 2 นิ้ว
  • ท่อ พีวีซี ส่งน้ำ 2 นิ้ว และ 1 นิ้ว 6 หุนและ 4 หุน
  • ท่อพักอากาศระหว่างทาง ฟุตวาล์วหัวกะโหลก หรือเช็ควาล์ว
  • ข้องอ ท่อเหล็ก กาว เทปพันเกลียว
  • ฐานวางวาล์วเปิดปิดที่วาล์วเติมน้ำ วาล์วลม และวาล์วปลายสาย

ขั้นตอนการเตรียมถังบรรจุน้ำสุญญากาศ

  1. นำถังเหล็ก ขนาด 200 ลิตร มาล้างทำความสะอาด ควรเลือกใช้ถังที่ไม่ได้ใช้บรรจุน้ำมันหรือสารไวไฟมาก่อน เพราะจะเกิดปัญหาถังระเบิดระหว่างที่เชื่อมข้อต่อได้ จึงควรเลือกถังที่เหมาะสม ทำความสะอาดถังให้ดี ถังพลาสติกจะมีความแข็งแรงไม่เพียงพอ
  2. เจาะถังสำหรับต่อวาล์วเติมน้ำเพื่อเชื่อมข้องอ
  3. เชื่อมข้องอเหล็กเข้ากับขอบด้านก้นถัง (วาล์วเติมน้ำ) โดยข้องอจะต้องต่อท่อเหล็กยาว อย่างน้อยประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ลึกลงไปภายในถัง
  4. วางถังบนฐานและต่อท่อดูด และวาล์วเติมน้ำ โดยที่ปลายของท่อดูดจะต่อฟุตวาล์วที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับลงไปในบ่อ ปลายท่อดูดควรจะจมอยู่ในน้ำลึก ประมาณ 15 เซนติเมตร โดยผูกติดกับแกลลอนไว้ที่ปลายท่อดูด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อดูดน้ำ ควรมีขนาด 6 หุน ยาวประมาณ 3 เมตร จะเหมาะกับถัง ขนาด 200 ลิตร และควรปรับแต่งสปริงของฟุตวาล์วลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง ฟุตวาล์วแบบเหล็กจะมีสปริงอ่อนกว่าฟุตวาล์วแบบพลาสติก
  5. ต่อวาล์วลม ที่รูระบายอากาศด้านบนของถัง ขนาดท่อ 6 หุน ต่อท่อส่งน้ำ ขนาด 2 นิ้ว ด้านบนของถัง
  6. เดินระบบท่อส่งน้ำไปยังแปลงเพาะปลูก โดยท่อส่งน้ำในช่วงแรกจะมีขนาดประมาณ 2 นิ้ว อย่างน้อย 15 เมตร และทุก 50 เมตร จะต้องต่อท่อพักลมไว้ด้วย
  7. เมื่อระยะไกลมากขึ้น ควรลดขนาดท่อส่งให้เหลือ 1 นิ้ว เพื่อรีดน้ำให้ไหลแรงขึ้น หรือเล็กลงเรื่อย ๆ เพื่อให้น้ำเต็มท่อ
  8. ต่อวาล์วเปิดปิดที่ปลายสายใช้งาน

ขั้นตอนการใช้งาน

  1. เปิดวาล์วลมและวาล์วเติมน้ำ ปิดวาล์วปลายสายโดยเติมน้ำให้เต็มถัง คอยสังเกตด้วยว่า ถังรั่วหรือไม่ หากถังไม่รั่วเมื่อเติมน้ำเต็มถังแล้ว น้ำจะไม่ลดลง น้ำจะนิ่งอยู่อย่างนั้น หากถังรั่วหรือส่วนใดส่วนหนึ่งรั่ว น้ำจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จะต้องแก้ปัญหารอยรั่วให้เรียบร้อยเสียก่อน
  2. ปิดวาล์วลมและวาล์วเติมน้ำแล้วปิดวาล์วปลายสายค่อย ๆ ให้น้ำไหลออก ไม่ควรเปิดแรงมาก น้ำจะไหลออกมาระยะหนึ่งแล้วจะหยุดไหล หลังจากนั้นปิดวาล์วที่ปลายสายแล้วเติมอากาศเข้าสู่ระบบ โดยการเอามือปิดที่ปลายวาล์วเติมน้ำแล้ว เปิดวาล์วเติมน้ำพญาแร้ง

ถ้าน้ำไหลแล้วหยุดแสดงว่า น้ำกำลังไหลเข้าสู่ถัง เพื่อปรับให้สุญญากาศเข้าสู่สมดุลเช่นเดิม วิธีแก้อาจจะเพิ่มถังให้เก็บปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

เครื่องสูบน้ำ-003.jpg

จะเห็นว่าเกษตรกรหลายพื้นที่เริ่มนิยมนำหลักการกาลักน้ำหรือพญาแร้งให้น้ำไปใช้ในพื้นที่เกษตรของตนเอง เนื่องจากความจำกัดเรื่องของระบบไฟฟ้าเอย หรือความจำเป็นที่ต้องการประหยัดพลังงาน อย่างไรก็แล้วแต่ หลักการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรต่าง ๆ ควรได้รับการวางแผน บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ และให้ด้วยปริมาณที่พืชต้องการ อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นั่นแหละคือหัวใจสำคัญของการให้น้ำที่แท้จริง.

ที่มาข้อมูลและภาพ

https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_31913

กศน. อำเภอเมืองปราจีนบุรี

ข่าวปักหมุด