เพิ่งทำครั้งแรกทั้งเหนืออีสานภัยแล้งยิ่งลามบิ๊กตู่จ่อคุมเองศูนย์เฉพาะกิจฯ
“ประยุทธ์” บัญชาการเอง เตรียมตั้งศูนย์แก้ไขวิกฤติน้ำอย่างเป็นทางการ ย้ำทุกหน่วยต้องทำงานประสานกันถึงเอาอยู่ ขณะที่ชาวบ้านภาคเหนือ-อีสานพากันโอดครวญน้ำลดเร็วเกินคาดหมาย บางจุดน้ำน้อยสุดในรอบกว่า 60 ปี แม้แต่แม่น้ำโขงยังลดต่ำ ด้านกรมชลฯ แจงมาตรการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกเจ้าพระยากระทบการผลิตน้ำประปา พร้อมรับมือน้ำทะเลหนุนสูง 8-9 ม.ค.นี้ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล อนุมัติตามคำขอของ กปน.เจาะบ่อบาดาล 3 ใน 4 พื้นที่ “บางเขน-มีนบุรี-ลาดกระบัง” นำน้ำมาผลิตน้ำประปาเป็นครั้งแรก ยันไม่กระทบแผ่นดินทรุด ขณะที่กลางเดือนนี้เจาะบ่อบาดาลช่วยประชาชนทั่วประเทศอีก 526 บ่อ
หลังจากประชาชนค่อนประเทศเผชิญกับวิกฤติภัยแล้ง จากปัญหาฝนตกน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงฤดูฝนของปีที่ผ่านมา และเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแก้ปัญหาวิกฤติน้ำแล้ง ที่ลามถึงเมืองกรุง เนื่องจากไม่มีน้ำจืดมาไล่น้ำทะเลที่หนุนสูง กระทบต่อน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา
“บิ๊กตู่” เตรียมตั้งศูนย์ แก้ไขวิกฤติน้ำ
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ที่เห็นชอบกรอบรายละเอียดโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ โดยนายกฯจะเป็นผู้บัญชาการอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ และกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อแก้วิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราวจนกว่าปัญหาจะพ้นไป โดยแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานออกเป็นกลุ่มอำนวยการ กลุ่มคาดการณ์ กลุ่มบริหารจัดการ และกลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติงาน และวันที่ 7 ม.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ รวมทั้งเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ โดยพิจารณาจัดสรร งบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานดังกล่าวตามความจำเป็นต่อไป
ทุกหน่วยต้องบูรณาการแก้ปัญหา
นางนฤมลกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงวิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเตรียม พร้อมรับมืออย่างเป็นระบบ เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ยังส่งผลถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมามีการดำเนินงานผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการวางแผนการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีเป้าหมาย “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
เขื่อนอุบลรัตน์–จุฬาภรณ์น้ำน้อย
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆนั้นนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลางว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เพราะปัจจุบันที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และขอยืนยันไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อน ส่วนที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ขอ 5 จังหวัดใช้น้ำอย่างประหยัด
นายศักดิ์ศิริเปิดเผยอีกว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด สำนักงานชลประทานที่ 6 วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 62/63 เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด สั่งให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ประชาสัมพันธ์ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง รณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
วางแผนการผลิตน้ำประปา
สำหรับ จ.ขอนแก่น และ จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรมเชิญ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ สำหรับผลิตประปา อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ลงพื้นที่ประชุม คณะกรรมการจัดการชลประทานของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอีกด้วย
ระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำโขงขณะนี้มีระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตลอดจนปัญหาการเก็บกักน้ำของเขื่อนประเทศจีน ทำให้ระดับน้ำโขงผันผวนมีระดับน้ำต่ำเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้ในพื้นที่ อ.เมือง อ.ท่าอุเทน อ.บ้านแพง และ อ.ธาตุพนม เกิดสันดอนทราย เป็นพื้นที่กว้าง ระยะทางยาวกว่า 1 กม. กระทบต่อการเดินเรือข้ามฟาก ชาวประมง เกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องเพิ่มระยะทางการสูบน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร ส่งผลให้มีต้นทุนสูง และหากระดับน้ำโขงลดต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น
ขุดลอกน้ำจุดเกิดสันดอนทราย
ด้านนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสำรวจและวางแผนรับมือนำเครื่องจักรลงพื้นที่เปิดทางน้ำ ชักร่องน้ำในจุดที่เกิดสันดอนทราย ให้เกษตรกรสามารถผันน้ำโขงทำการเกษตรได้ รวมถึงขุดลอกเปิดทางน้ำในจุดที่สันดอนทรายขวางเส้นทางเดินเรือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในส่วนของจุดสูบน้ำใช้ผลิตน้ำประปาในตัวเมืองและอำเภอชายแดน ยังสามารถผลิตน้ำประปาได้ เพราะจุดสูบน้ำยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ ที่สำคัญเสนอไปยังรัฐบาลขอสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 12 อำเภอ จะสามารถรับมือช่วยเหลือชาวบ้าน มีน้ำใช้ในการเกษตร และใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในปีต่อไป
เลยน้ำน้อยสุดในรอบ 65 ปี
ที่ อ.วังสะพุง และ อ.เมืองเลย พบว่าอ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ ต.วังสะพุง แห้งขอดจากความจุ 1,431 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถบริการพื้นที่การเกษตรมาแล้วหลายเดือน ส่วนที่อ่างน้ำพาว ต.เมืองเลย อ.เมืองเลย จากความจุอ่าง 1,364 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้งหมดรวม 14 แห่ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 62 มีน้ำเฉลี่ย 67 เปอร์เซ็นต์ แต่ปี 63 มีน้ำเฉลี่ยเพียง 33 เปอร์เซ็นต์ นับว่าน้ำน้อยที่สุดในรอบ 65 ปี
แจ้งงดทำการเกษตรทุกชนิด
นายกิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอเมืองเลย กล่าวว่า อ่างน้ำพาวน้ำเหลือน้อย มีผู้ใช้น้ำประมาณ 400 ครอบครัว พื้นที่การเกษตรมากกว่า 3,000 ไร่ ชาวบ้านตั้งกลุ่มและมีการจัดสรรน้ำตามข้อตกลง แบ่งน้ำกันใช้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่มาปีนี้เนื่องจากน้ำแห้งขอด ต้องแจ้งให้เกษตรกรงดทำการเกษตรทุกชนิด ด้านนายสุชัจจ์ สมรักษ์ กำนันตำบลศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย เปิดเผยว่า ปีนี้แล้งมาเร็วและแล้งหนักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ข้าว พืชไร่ แห้งตายเพราะขาดน้ำ จำเป็นต้องทำหนังสือขอรับการสนับ สนุนการช่วยเหลือจากทาง อบต.ทางอำเภอ นำน้ำไปแจกที่ถังเก็บน้ำกลางหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านจะนำรถกระบะ และรถเข็นมารับไปใช้ในครอบครัว
เจาะบาดาลกลางแม่น้ำยม
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในแม่น้ำยม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เริ่มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำยมสายหลักที่ไหลผ่าน ต.ชุมแสงสงคราม ต.คุยม่วง ต.ท่านางงาม และ ต.บางระกำ บางช่วงแห้งขอดน้ำที่ขังในแอ่งเริ่มเหือดแห้งลงไปเรื่อยๆ ชาวนาในเขต ต.ชุมแสงสงคราม ที่ปลูกข้าวไว้กว่า 10,000 ไร่ ต่างวิตกกังวลว่าต้นข้าวจะขาดแคลนน้ำล้มตาย บางแปลงข้าวตั้งท้องแล้ว ต้องใช้วิธีเจาะเอาน้ำบาดาลบริเวณกลางแม่น้ำยมที่แห้งขอดขึ้นมาใช้โดยสูบน้ำเอาไปเก็บไว้ในแอ่งที่มีความลึก ก่อนใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำเข้านาข้าวอีกทอด นับว่าเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่คล้ายคลึงกับปี 2558 ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำยมในเขต อ.บางระกำ
ลงขันซื้อน้ำมันปั๊มน้ำลงนาข้าว
ด้านนายสมยงค์ โปร่งหม้อข้าว อายุ 61 ปี ชาวบ้าน ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ปีนี้แล้งรุนแรงมาก พวกตนไม่คาดคิด ปลูกข้าวกันเพื่อหวังมีรายได้เลี้ยงครอบครัว แม้ว่าทางชลประทานจะประกาศเตือนแล้วว่า น้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ แต่ต้องช่วยเหลือกันเอง ลงขันซื้อน้ำมันมาเติมเครื่องรถไถนาเชื่อมต่อสายพานกับเครื่องปั๊มนํ้า เพื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาเก็บไว้ในแอ่งกลางลำน้ำยมที่แห้งขอดไปแล้ว ตนปลูกข้าวกว่า 100 ไร่ ข้าวกำลังตั้งท้อง จำเป็นต้องใช้น้ำไปหล่อเลี้ยงตลอดจนกว่าจะออกรวง ส่วนนาข้าวแปลงที่อายุไม่มากนัก ต้องยอมปล่อยให้ตายไป หากข้าวที่ตั้งท้องรอดพ้นวิกฤติ จะมีกำหนดเก็บเกี่ยวเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้
เกษตรกรหมดหวังไม่มีน้ำ
ที่ จ.ชัยนาท แม่น้ำลำคลองสายต่างๆ มีสภาพเหือดแห้ง ที่คลองบ้านหนอ หมู่ 12 ต.เสือโฮก อ.เมือง ไม่มีน้ำ ดินแตกระแหง ด้านนายสำเนา ขุนบรรเทา อายุ 51 ปี ชาวนา ต. เสือโฮก เปิดเผยว่า ปีนี้ภัย แล้วมาเร็วและรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้กระทบไปถึงระบบการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านของพื้นที่ หมู่ 9, 10 และ 12 ชาวบ้านต้องใช้น้ำบาดาล ปัจจุบันน้ำใต้ดินมีน้อยไม่เพียงพอผลิตน้ำประปา เจ้าหน้าที่ประกาศส่งน้ำให้ประชาชนเป็นเวลาคือเช้าเวลา 05.00- 08.00 น. และเย็น เวลา 15.00-21.00 น.ส่วนน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตทางเทศบาลตำบลเสือโฮกต้องนำรถน้ำไปบรรทุกจากนอกพื้นที่เข้ามาเติมผลิตน้ำประปา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนพืชผลการเกษตรไม่ต้องหวัง เพราะไม่มีน้ำในคลองหรือแหล่งน้ำธรรมชาติให้ใช้แล้ว
กลุ่มเลี้ยงปลาวุ่นน้ำแม่ปิงลด
ที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เจ้าหน้าที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงวันละ 7 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับแม่น้ำปิงช่วง อ.เมืองตาก แห้งขอดเป็นสันดอนทราย และเหลือเพียงร่องน้ำ กระทบถึงเกษตรกรเลี้ยงปลา โดยนางนงลักษณ์ สุโพธิ์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาทับทิมกระชังลุ่มแม่น้ำปิง จ.ตาก เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่ลดต่ำลง เกษตรต้องคอยเฝ้าระวังดูปริมาณน้ำ หากน้ำลดมากจะทำให้ทรายไหลทับกระชังปลาทำให้เสียหาย ทั้งนี้ ปัญหาแม่น้ำปิง ส่งผลกระทบให้ปลาทับทิมในกระชังตีทรายที่ท้องน้ำ ทำให้ปลาช้ำและปลาสีไม่สวย ราคาตกลงประมาณ กก.ละ 5-10 บาท
กปน.ขอเจาะน้ำบาดาล 4 บ่อ
ส่วนการแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำที่ใช้ในการผลิตประปาของการประปานครหลวง (กปน.) มีค่าความเค็มเกินมาตรฐานนั้น นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำน้ำใต้ดินที่มีอยู่ประมาณ 30,645 ล้าน ลบ.ม. ขึ้นมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยราชการและประชาชนทั่วประเทศ และล่าสุดการประปานครหลวง (กปน.) ทำหนังสือขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำบาดาลไปใช้ผลิตน้ำประปาใน 4 พื้นที่ เป็นบ่อขนาด 10 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ ความลึกของบ่อตั้งแต่ 350-600 เมตร ประกอบด้วยพื้นที่ บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง และสมุทรปราการ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้อนุญาตในเบื้องต้นแล้วจำนวน 3 บ่อ คือที่บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง ส่วนสมุทรปราการยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งแต่ละบ่อจะสามารถนำน้ำบาดาลไปผลิตเป็นน้ำประปาได้เดือนละ 53,760 ลบ.ม. มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 5 พันครัวเรือน การที่การประปานครหลวงขออนุญาตเจาะบ่อบาดาล ถือเป็นครั้งแรกที่มีการขอใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลไปใช้ผลิตเป็นน้ำประปา
ยันไม่กระทบแผ่นดินทรุดตัว
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่าที่สำคัญการขออนุญาตเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะไม่มีผลกระทบต่อแผ่นดินทรุด เนื่องจากพื้นที่ที่มีการขออนุญาตเจาะบ่อบาดาล ที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำบาดาลลดลงมาก เนื่องจากมีมาตรการควบคุมการใช้น้ำบาดาลและมีเส้นท่อประปาผ่าน ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำบาดาล ปัจจุบันยังต่ำกว่าปริมาณการสูบที่ปลอดภัย ระดับน้ำบาดาล จึงมีการคืนตัวและมีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำบาดาลมีการคืนตัวสูงขึ้น ส่วนอัตราการทรุดตัวลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 0-1 เซ็นติเมตรต่อปีเท่านั้น ดังนั้น คณะอนุกรรมการกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงเห็นควรอนุมัติให้เจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ดังกล่าวได้และไม่มีผลกระทบต่อแผ่นดินทรุด
เร่งเจาะบ่อบาดาลทั่วประเทศ
นายศักดิ์ดากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเจาะบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอีกจำนวน 526 บ่อทั่วประเทศ โดยในพื้นที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต1 (ลำปาง) จำนวน 128 แห่ง ครอบคลุม ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) 141 แห่ง ครอบคลุม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) 10 แห่ง ครอบคลุม สระบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 (ขอนแก่น) 32 แห่ง ครอบคลุม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เลย เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 (นครราชสีมา) 32 แห่ง ครอบคลุม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 (ตรัง) 45 แห่ง ครอบคลุม ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 (กำแพงเพชร) 10 แห่ง ครอบคลุม กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) 67 แห่ง ครอบคลุม ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 (ระยอง) 43 แห่ง ครอบคลุม ระยอง จันทบุรี ชลบุรี เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 (อุดรธานี) 20 แห่ง ครอบคลุม อุดรธานี นครพนม สกลนคร เป็นต้น สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) 19 แห่ง ครอบคลุม อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด เป็นต้น และสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 (สงขลา) 15 แห่ง ครอบคลุม สงขลา นราธิวาส ปัตตานี เป็นต้น โดยจะเริ่มเจาะบ่อบาดาลกลางเดือน ม.ค.นี้
ส่อรอไปอีกครึ่งปีถึงมีฝน
ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานสถานการณ์น้ำว่า ระดับน้ำน้อยวิกฤติในแม่น้ำสายหลักของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 43,894 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 20,446 ล้าน ลบ.เมตร โดยเขื่อนที่อยู่ในระดับวิกฤติน้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 94.44 ล้าน ลบ.เมตร เขื่อนจุฬาภรณ์ ใช้น้ำได้ร้อยละ 5 เขื่อนกระเสียว ใช้ได้ร้อยละ 7 เขื่อนทับเสลา ใช้ได้ร้อยละ 12 เขื่อนภูมิพล ใช้ได้ร้อยละ 13 เขื่อนสิริกิติ์ ใช้ได้ร้อยละ 20 เขื่อนป่าสักฯ ใช้ได้ร้อยละ 23 เขื่อนลำพระเพลิง ใช้ได้ร้อยละ 13 เขื่อนลำนางรอง ใช้ได้ร้อยละ 16 เขื่อนคลองสียัด ใช้ได้ร้อยละ 18 เป็นต้น ทั้งนี้ เขื่อนยังเป็นที่พึ่งพาการใช้น้ำเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์ฝนในปี 2563 อาจจะมาล่าช้าไปจนถึงเดือน มิ.ย. และมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนพายุฤดูร้อนอาจจะเกิดได้ไม่มาก
ทร.พร้อมใช้ “เรือผลักดันน้ำ”
ส่วนการผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้าแม่น้ำเจ้าพระยานั้น พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือเฝ้าติดตามข่าวภัยแล้ง และข่าวภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาจนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในหลายพื้นที่ของ กทม.โดยรอรับการประสานเพื่อช่วยเหลือ ในส่วนของการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ เบื้องต้นทราบว่าหน่วยที่ดำเนินการหลักคือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน ตลอดจนการประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง ร่วมวางแผนและคำนวณอัตราการไหลของมวลน้ำจากลุ่มน้ำตอนบนที่จะไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ให้อยู่ในปริมาณที่พอดีกับการอุปโภค และบริโภคได้อย่างเพียงพอ กองทัพเรือพร้อมให้การสนับสนุน
เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน 8–9 ม.ค.นี้
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานโครงการชลประทานที่ 11 เตรียมแผนบริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเครื่องมือเสริมในการควบคุมค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและภาคการเกษตร เสริมจากการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และผันน้ำแม่น้ำแม่กลองมาผลักดันความเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง วันที่ 8-9 มกราคมนี้ โดยในช่วงน้ำทะเลลงจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาออก ส่วนช่วงน้ำทะเลขึ้นจะปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองทางคลองจรเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลา มายังแม่น้ำท่าจีน แล้วระบายผ่านคลองพระยาบันลือ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมั่นใจว่าจะควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และการทำการเกษตรพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้ายได้ ทั้งนี้ ค่าความเค็มอาจสูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นได้ ซึ่งประสานกับการประปานครหลวงแล้ว ให้งดสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ในช่วงน้ำทะเลขึ้น เมื่อน้ำทะเลลงและตรวจวัดค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร จึงสูบส่งมายังโรงกรองน้ำบางเขน เพื่อผลิตน้ำประปาตามปกติ
ขอบคุณที่มา: