- ข่าวสารมิตรชาวไร่
- อ., 28 พ.ย. 60
มาอีกแล้วจ๊ะแม่จ๋า ปัญหาฝุ่น ควัน จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้งแบบนี้ สร้าง Topic หรือประเด็นสื่อสารทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ประเด็นในทางที่ดีซะด้วยนะคะ ร้อยเปอร์เซ็นต์คือการกร่นด่ามือเผาที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น เพียงเพื่อแลกกับการจัดการพื้นที่ทำกินแบบไม่รู้จักการวางแผนนั่นเอง
หมอกควันจากการเผาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้คนใกล้เคียง ปัญหาขี้เถ้าจากการเผาไหม้ที่สร้างความเดือดร้อนต่อบ้านเรือนโดยรอบ ที่สำคัญหากพื้นที่จุดไฟเผาอยู่ติดหรือใกล้เคียงถนนที่มีประชาชนสัญจรไปมาตลอดเวลา กลุ่มควันเหล่านี้เป็นตัวการที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะบดบังทัศนวิสัยของผู้ใช้ยวดยานพาหนะได้
หลายครั้งที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ผู้ใช้รถใช้ถนนถ่ายและแชร์ภาพกลุ่มหมอกควันจากการเผาวัสดุทางการเกษตรที่ปกคลุมโดยรอบจนทำให้ไม่สามารถขับขี่รถต่อได้ แม้กระทั่งอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ในพื้นที่ ถนนมะลิวัลย์ ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เกิดเหตุรถชนกัน 8 คันรวด ทำให้รถติดระยะทางยาวเกือบ 5 กิโลเมตร สร้างความเดือดร้อนจนเป็นข่าวใหญ่โต
ลองนึกดูนะคะ หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ผู้กระทำผิดนอกจากจะได้รับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเผาป่า เผาหญ้า หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองที่ใกล้กับถนนทางหลวงตามพ.ร.บ.ทางหลวง 2535 ในมาตรา 39, 40 และ 43 ซึ่งโทษสูงสุดคือจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือกฎหมายอื่น ๆ แล้ว ยังถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “ฆาตกร” อีกด้วย
แน่นอนว่า “เผาอ้อย” เป็นอีกจำเลยสำคัญของสถานการณ์ฝุ่น ควัน ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเกษตรกรปลูกอ้อยรายใหญ่ที่ไม่สามารถจัดการเคลียร์พื้นที่เพื่อปลูกอ้อยรุ่นต่อไปได้ ด้วยเหตุผล ขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงฤดูกาลตัดอ้อยเข้าโรงงานที่บางแปลงที่ไม่ใช้รถตัดอ้อย ต้องพึ่งพาแรงงานคนที่อิดออดเสมอหากต้องเข้าไปตัดอ้อยสด เพราะกลัวใบอ้อยที่แสนคมจะบาดตามเนื้อตามตัว จะไปโทษคนงานก็ไม่ได้ นั่นมันสิทธิของเขาที่จะเลือกทำหรือไม่ทำ ส่วนเถ้าแก่ไร่อ้อยก็มีสิทธิเช่นกันนะคะ ว่าจะเผาหรือไม่เผา
ถ้าไม่เผาอ้อย สิ่งแรกที่ต้องทำคือจัดการรูปแบบแปลงปลูกอ้อยให้เหมาะสมต่อการเข้าทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่โดยเฉพาะรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ทั้งยังได้อ้อยสดส่งเข้าโรงงาน ไม่ถูกตัดค่าความหวาน และไม่ถูกประชาชนข้างเคียงกร่นด่าว่าเป็นตัวปัญหาสร้างมลพิษ สร้างความเดือดร้อน และไม่เป็นฆาตกรโดยไม่รู้ตัวอีกด้วยค่ะ.