- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- พฤ., 21 มี.ค. 62
มิตรชาวไร่จะเห็นว่า ในปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติจากขยะพลาสติก โดยเฉพาะปัญหาขยะล้นเมือง จากบรรจุภัณฑ์ ถุง ภาชนะของใช้พลาสติกนานาชนิด ในประเทศไทยเองมีปริมาณขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของสัตว์ทะเล และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์
ต้นปี 2563 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อชื่อดังหลายแห่ง ต่างทยอยงดนำถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของให้แก่ลูกค้า และรณรงค์ให้ประชาชนนำถุงผ้าพกพาไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อใส่สินค้าแทน ซึ่งเทรนด์การลดใช้ถุงพลาสติกนี้กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจไปทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าถุงผ้า มีข้อจำกัดเพื่อใส่สินค้าได้เฉพาะของแห้งเท่านั้น
ดังนั้นจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมร่วมลดขยะพลาสติกให้โลก โดยนำวัสดุชีวภาพมาทดแทนการใช้จานชามพลาสติก หรือโฟม สำหรับใส่อาหารที่เรียกว่า “เครื่องขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้”
เครื่องขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้ เป็นเครื่องที่นำวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กาบหมาก ใบสัก ใบบัว และใบตอง เป็นต้น มาขึ้นรูป เป็นภาชนะเพื่อทดแทนการใช้จานชามพลาสติกโดยอาศัยแรงอัดและความร้อนในการขึ้นรูปภาชนะตามแบบแม่พิมพ์ โดยความร้อน และแรงอัดจะทำให้ใบไม้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และมีความหนาแน่นสามารถนำมาใช้งานได้ และเนื่องจาก ใบไม้บางชนิดที่นำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะมีความหนา และบางต่างกัน ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงจำนวนใบที่นำมาใช้ในการขึ้นรูป เช่น ภาชนะที่ขึ้นรูปด้วยใบตอง ควรใช้ ใบตอง 2-3 ใบ ซ้อนกันเพื่อให้มีความหนาเพียงพอสำหรับ การใส่อาหาร ในขณะที่ภาชนะที่ขึ้นรูปด้วยใบกาบหมากใช้เพียงแค่ 1 ใบเท่านั้น เป็นต้น
ข้อจำกัดคือ เครื่องจักรเครื่องขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้ ยังมีมูลค่าสูงและกำลังการผลิตต่ำจึงส่งผลให้ได้ภาชนะที่ไม่เพียงต่อความต้องการของตลาด อย่างไรก็ดีคาดว่าผู้ผลิตจะเร่งแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น
ในแง่ของการเกษตร จะเห็นว่า การใช้วัสดุชีวภาพที่นำมาผลิตเป็นภาชนะแทนจานชามพลาสติกมีหลากหลายชนิด เช่น กาบหมาก ใบตอง ใบสัก ใบบัว และใบเล็บครุฑ เป็นต้น วัสดุเหล่านี้ถูกทิ้งหลังจากเก็บผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณขยะ และใช้ทรัพยากรที่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เกษตรกรผู้ปลูก ต้นสัก สามารถใช้ประโยชน์จากใบสักได้ตลอดตั้งแต่อายุ 5 ปี แทนที่ต้องรอ 20 ปี เพื่อใช้ลำต้นเพียงอย่างเดียว ที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรม แปรรูปไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นต้น ดังนั้น การนำวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้มาผลิตเป็นภาชนะแทนการใช้จานชามพลาสติก จึงเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์สูงสุด และเป็นการเพิ่มมูลค่า เสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และสำคัญที่สุดคือ การช่วยลดการใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 300 ปี ด้วยภาชนะชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเองภายในระยะเวลาอันสั้น
แม้เครื่องขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้ยังไม่แพร่หลายในการผลิต แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนคนไทยแสดงออกให้เห็นคือ หลายพื้นที่ตามตลาดนัด หรือร้านอาหาร ผู้ประกอบกิจกรรมมักออกแบบภาชนะที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติให้เห็นกันมากขึ้น ทั้งใบตอง ใบจาก ใบสัก ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า คนไทยไม่ได้นิ่งนอนที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ระบบนิเวศคงอยู่สืบไปชั่วลูกหลานในอานาคต.
ที่มาข้อมูล : วารสารมิตรชาวไร่ ฉบับ มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563