หน้าแรก

ในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย มีพืช ผัก ประจำถิ่นหลากหลายชนิดที่มีคุณค่าทางอาหารมากมาย ทั้งยังนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภท ที่สำคัญความแซ่บขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค ด้วยสไตล์การกินอยู่ที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความเป็นไทยแท้ การกินผัก กินสมุนไพร จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวมากนัก

แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยทุกคนจะรู้จักพืชผักสมุนไพรทุกชนิด บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผักชนิดนี้ หรือพืชชนิดนั้นนำมากินได้ พืชผักแต่ละชนิดจะมีค่า หากอยู่ให้ถูกที่หรือไม่มีค่าเลย หากอยู่ในที่ที่มีมากจนเกินไป จนผู้คนไม่เห็นถึงคุณค่านั้น เพราะฉะนั้นวันนี้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ขอแนะนำผักพื้นบ้าน 5 ชนิด ที่มีประโยชน์มหาศาลและปรุงอาหารได้อย่างเลิศรส ดังนี้

ผักพื้นบ้าน-007.jpg

ผักหอมแย้ เป็นชื่อเรียกทางภาคเหนือ มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก อาทิ ยำแย้ ลำแย้ อีแงะ ภาคอีสานเรียกว่า “ผักสะแงะ” แถบจังหวัดระยองก็มีเช่นเดียวกันแต่เรียกว่า “ผักชีไร่” ผักหอมแย้อยู่ในตระกูลผักชี เป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน ยอดอ่อน ใบ ต้น นำไปรับประทานได้ นิยมปลูกเป็นผักสวนครัวในบ้าน หอมแย้เป็นไม้ล้มลุกคล้ายผักชี แต่ใบหนากว่าผักชี ขอบใบหยักเว้าลึกกว่า เมื่อนำแต่ละส่วนมาขยี้จะมีกลิ่นคล้ายขึ้นฉ่าย คนอีสานกินยอดอ่อนเป็นผักสดกับน้ำพริก หรือนำมาซอยใส่ในลาบ แกงหน่อไม้ หรือแกงอ่อมปลา อ่อมกบ แกงแค แกงหวาย  ส่วนทางใต้กินเป็นผักเหนาะกับขนมจีนน้ำยา หรือแกงที่มีรสจัด  เมล็ดแห้งยังสามารถนำไปใส่อาหารเพื่อดับกลิ่นคาวได้อีกด้วย  อาหารที่นิยมใช้หอมแย้เป็นส่วนประกอบ คือแกงหน่อไม้สด

ผักพื้นบ้าน-003.jpg

ดอกนางลาว หรือดอกนางแลว  มาจากต้นลีลาว พืชท้องถิ่นภาคเหนือ ชาวเหนือนิยมปลูกต้นลีลาวไว้ในบริเวณบ้าน ใกล้ ๆ รั้วหรือริมบ่อน้ำ ใช้เป็นไม้ประดับได้สวยงาม  ดอกนางลาวจะออกดอกเพียงปีละหนึ่งครั้งในช่วงฤดูหนาว ส่วนอาหารที่ทำจากดอกนางลาวก็เป็นอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ช่อดอกนางลาวยังนำไปประกอบอาหาร หรือกินเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก จะมีรสขมเล็กน้อย แต่เมื่อนำไปแกงจะมีรสหวานอมขม นิยมใส่ในแกงแค แกงใส่หน่อหวาย แกงกินกับถั่วฝักยาว หรือจะแกงเพียงดอกนางลาวกับปลาแห้ง ใส่ในแกงหน่อไม้ก็อร่อยไม่แพ้กัน เลือกดอกกำลังตูมหรือกำลังแย้มบานไปลวกหรือต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก นำไปชุปแป้งทอด หรือจะรับประทานสดก็ได้

ผักพื้นบ้าน-004.jpg

อีรอก เป็นผักพื้นเมืองทางภาคอีสาน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เมื่อฝนตกจะแทงกิ่งก้านขึ้นจากดิน พอถึงฤดูหนาวจะเก็บลำต้นฝังตัวอยู่ใต้ดินรอฝนในปีต่อไป การเก็บผักอีรอกจะเก็บลำต้น ลำดอกยาวประมาณ 12-15 นิ้ว ต้องเป็นลำอ่อนอวบจึงจะกินได้ ถ้าแก่ไปจะกินไม่อร่อย อีรอกเป็นผักที่อ่อนนุ่มดูดซับรสชาติอาหารได้ดี ให้นำดอกที่ลำอ่อนอวบมาแกง เนื่องจากเป็นผักที่โดนแล้วคัน การลอกเปลือกถ้าไม่ชำนาญเวลานำมาแกงจะคัน ถ้าให้แน่ใจให้นำไปต้มกับน้ำมะขามหรือใบมะขามให้เดือด แต่รสชาติอาจจืดลงหมดความหวาน เมื่อลอกออกมาแล้ว ลำผักอีรอกจะคล้าย ๆ กับก้านสายบัว การแกงอีรอกต้องแกงอย่างข้น น้ำขลุกขลิกเท่านั้น นิยมนำมาแกงปลาย่าง แกงอ่อม และแกงส้ม

ผักพื้นบ้าน-005.jpg

ผักหวานป่า หรือผักภูมิ ผักพื้นบ้านปักษ์ใต้ แถบจังหวัดชุมพรเรียก “ผักหวานใบแหลม” หรือหมากหมก ผักภูมิสามง่าม เพราะมีกิ่งแตกออกเป็นชั้น ๆ ละ 3 กิ่ง กิ่งละ 3-6 ใบ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กพบตามป่าดิบ ป่าชื้นและป่าโปร่ง กิ่งก้านแผ่ออกจากลำต้นเป็นทรงพุ่ม ใบยาวรีปลายแหลมเป็นมันลื่น ขอบหยักเล็กน้อย ในช่วงหน้าฝนจะแตกยอดอ่อนดี มีรสหวานมันเหมือนกับใบเหลียง นำไปทำอาหาร เช่น ต้มกะทิ ผัดน้ำมัน ผัดกับไข่ ใส่แกงเลียง ต้มกินกับน้ำพริกกะปิ ลวกจิ้มน้ำพริก ผลอ่อนนำมาเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก เหมือด (เครื่องกินกับขนมจีน) กินกับแกงต่าง ๆ ผักภูมิยังมีสรรพคุณทางยา ใช้แก่นต้มรับประทานน้ำ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ รากต้มรับประทานน้ำเป็นยาเย็นแก้พิษร้อนใน แก้น้ำดีพิการ และแก้ปวดมดลูก ผลสุกก็สามารถรับประทานได้ โดยนำมาต้มให้สุกและรับประทานเนื้อข้างใน

ผักพื้นบ้าน-006.jpg

ผักลิ้นปี่ บางคนบอกว่าไม่ใช่ผัก แต่เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งหรือเป็นพืชคลุมดิน คนอีสานเรียกผักลิ้นปี่ คนภาคกลางเรียกต้นหูปลาช่อนหรือหางปลาช่อน เพราะลักษณะของใบคล้ายกับครีบหูของปลาช่อน แต่ไม่ใช่หูปลาช่อนไม้ประดับ ต้นคล้ายกอหญ้ามีขนอ่อนปกคลุมบริเวณก้านใบและผิวใบด้านบน ดอกกะจิดริดเป็นช่ออยู่ส่วนบนของต้น สีม่วงอมแดงขึ้นตามคันนา ยอดอ่อนและใบอ่อนเอามาจิ้มลาบปลาดุกอร่อยที่หนึ่ง จิ้มกับบรรดาน้ำพริกทั้งหลาย เช่น ป่นปลาร้า แจ่วบอง ให้รสชาติฝาดที่ไปกันได้ดี นิยมกินสด ๆ ที่คนอีสานเรียกว่า จิ้มดิบ นอกจากนี้ยังนำมาทำอาหารประเภทแกงส้มได้อร่อยอีกด้วย นอกจากนี้ ยังใช้ในทางการแพทย์พื้นบ้าน นิยมใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคหลายประการ ได้แก่ ใช้ลำต้นตำให้แหลกคั้นน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ รักษาโรคบิดและท้องร่วง ใช้ทั้งต้นตำให้แหลกพอกหัวฝีและใช้ทาแก้อาการผื่นคัน

ของโปรดประโยชน์เยอะแบบนี้ บ้านไหนยังไม่ได้ปลูกอะไร แนะนำให้ไปหามาปลูกไว้กินเลยนะคะ ส่วนบ้านไหนมีผักเหล่านี้เยอะแยะอยู่แล้ว อย่าลืมแบ่งปันเพื่อนบ้านด้วยเด้อ       

 

ที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.matichonacademy.com/content/health/article_30068

https://www.npqualityseed.com/

https://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/192

https://forum.khonkaenlink.info/index.php?topic=17626337.0

https://www.thairath.co.th/content/527602

https://www.nanagarden.com/product/315737

ข่าวปักหมุด