หน้าแรก

ช่วงนี้ออกไปไหนก็ลำบาก ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด ไวรัสกระจาย ทำให้พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคร้ายมากขึ้น

สมาร์ทโฟน ดูเหมือนจะเป็นเพื่อนคู่กายคู่ใจของคนยุคนี้มากที่สุด ทั้งทำธุรกรรมด้านต่าง ๆ การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าออนไลน์ก็ได้รับความนิยม กิจกรรมด้านเกษตรกรรมของมิตรชาวไร่ก็เช่นกัน ปัจจุบันจะเห็นว่ามีแอปพลิเคชั่นการเกษตรถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยงานเกษตรกรด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร การใช้แอปฯเพื่อบริหารจัดการงานในไร่ เป็นต้น ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัว Application “ระบบช่วยตัดสินใจในการลงทุนปลูกพืช Farm D” ที่ช่วยจำลองการออกแบบฟาร์มของเกษตรกรด้วยตนเอง เน้นการใช้งานง่าย เห็นผลชัด

Application Farm D (แอปพลิเคชั่น ฟาร์ม ดี) เป็นภารกิจเร่งด่วน หรือ “Quick Win” ของโครงการไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลมีนโยบายให้พัฒนาขึ้น โดยเน้นประโยชน์การใช้งานให้เกษตรกร ในเรื่องความคุ้มค่าต่อการลงทุนด้านการผลิตทางการเกษตร

“ระบบช่วยตัดสินใจในการลงทุนปลูกพืช Farm D” เป็นเครื่องมือจำลองแผนการผลิตการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรรวมถึงประชาชนทั่วไปใช้ในการตัดสินใจในการลงทุนผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ ประกอบกับการส่งเสริมเกษตรกรให้มีการนำข้อมูล Big Data ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปใช้ประโยชน์ ให้ทันต่อกับการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรของโลกในยุคปัจจุบัน

farmD-003.jpg

ฟาร์ม ดี ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการจำลอง ออกแบบ และเปรียบเทียบผลตอบแทนสุทธิในการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรในแต่ละรูปแบบ ซึ่งเกษตรกรสามารถออกแบบฟาร์มผ่านเว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมหรือปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่ผลิตอยู่แล้วซึ่งมีผลตอบแทนต่ำไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าได้ด้วยตนเอง โดยสามารถวิเคราะห์ได้ครั้งละ 3 แผนการผลิต เพื่อเปรียบเทียบแผนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีที่สุดให้กับตนเอง โดยใช้แนวคิดการจัดการฟาร์ม (Farm management) ในระยะแรกกำหนดให้เกษตรกรสามารถเลือกผลิตสินค้าเกษตรในรอบปีได้ไม่เกินที่ดินที่เกษตรกรมีอยู่ แสดงผลออกมาเป็นปฏิทินการผลิต (Calendar) และข้อมูล

ราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และผลตอบแทนสุทธิสินค้าเกษตรของพืช ปศุสัตว์ และประมง ในระดับตำบล รวมทั้งข้อมูลจำนวนครัวเรือนเกษตร ความเหมาะสมของที่ดิน และเนื้อที่การเพาะปลูก

ระยะต่อไปจะพัฒนาฟาร์ม ดี โดยเพิ่มข้อมูลอันเป็นประโยช์ต่อการตัดสินใจเลือกผลิตสินค้ายิ่งขึ้น ได้แก่ ราคาที่ขายได้รายเดือนในพื้นที่ใกล้เคียงในรอบปี แหล่งเงินทุน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การใช้งาน Web Application สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เริ่มด้วยการเลือกพื้นที่ (ตำบล) จากนั้นกำหนดจำนวนที่ดินที่จะวางแผนการผลิต และเลือกสินค้าที่จะผลิต กำหนดจำนวนพื้นที่ที่จะใช้ผลิตในแต่ละสินค้า โดยหากสินค้าที่เลือกมาในช่วงเวลาเดียวกันเต็มพื้นที่ดินที่มีอยู่ ก็จะไม่สามารถพิ่มสินค้าได้อีก และสามารถจำลองการใช้พื้นที่ได้ 3 รูปแบบ

ทั้งนี้หากมิตรชาวไร่ท่านใดสนใจทดลองใช้ Web Application “ระบบช่วยตัดสินใจในการลงทุนปลูกพืช Farm D”  สามารถทดลองใช้งานผ่านหน้าเว็บไซต์ http://quickwin.oae.go.th

ที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.moac.go.th/news-preview-421991792798

http://www.oae.go.th/view/1/OAE_Farm_D/TH-TH

 

 

ข่าวปักหมุด