หน้าแรก

ในชีวิตของใครสักคน ยากที่จะรู้ว่าชีวิตจะสิ้นสุดที่ตรงไหน หรือชีวิตจะประสบความสำเร็จเช่นไร หลายคนยกหน้าที่ให้โชคชะตาฟ้าดิน แล้วแต่บุญจะพา วาสนาจะส่งให้ชีวิตไปเส้นทางไหน แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ขอเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง เลือกเส้นทางชีวิตเอง และลงมือทำในสิ่งที่เลือกด้วยความรักและทุ่มเท

พ่อกุย หรือคุณนิยม ผลทิพย์ มิตรชาวไร่ที่มีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่แสดงออกถึงความสุขและความหวังดีต่อผู้คนรอบข้าง เขาคืออดีตเด็กขับรถรับส่งสายชุมแพ-ภูเขียว ผู้สร้างความสำเร็จในชีวิตของตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังเผื่อแผ่อาชีพและรายได้ให้แก่เยาวชนในชุมชนด้วยการให้งาน ให้อาชีพ เขาคนนี้จะมีเส้นทางชีวิตอย่างไร ไปติดตามจากเรื่องราวของ “นิยม ผลทิพย์” เถ้าแก่ไร่อ้อยแห่งอำเภอภูเขียว พร้อม ๆ กัน

เปิดเส้นทางสู่อาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อย

จากเด็กขับรถโดยสารรับส่งสายชุมแพ-ภูเขียว พ่อกุยได้แต่งงานเมื่อปี 2532 และย้ายมาอยู่ที่บ้านหนองดินดำ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในขณะนั้นพ่อตาแม่ยายทำไร่อ้อย พ่อกุยจึงได้สืบสานงานต่อจากพ่อตาโดยปริยาย จากจุดเริ่มต้นนี้เองทำให้พ่อกุยก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างเต็มตัว

ด้วยความขยันทุ่มเท และชอบทดลองด้วยตนเอง พ่อกุยจะไม่เชื่อคนอื่นว่าอ้อยพันธุ์ไหนดี พันธุ์ไหนเจ๋ง พ่อกุยจะพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยการปลูกอ้อยหลากหลายสายพันธุ์ และเปรียบเทียบผลผลิต โดยวิเคราะห์ตามคุณภาพอ้อยให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ปลูก ไว้ตอดีไหม มีโรคหรือไม่ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยความโดดเด่นเรื่องนี้ ทำให้พ่อกุยได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยที่มีประสิทธิภาพ ด้านบริหารจัดการพันธุ์อ้อย      

การันตีความสำเร็จด้วยผลลิตอ้อยทะลุเป้า

พ่อกุยคือมิตรชาวไร่ที่ประสบความสำเร็จด้านผลผลิตเป็นอย่างมาก ด้วยปริมาณอ้อย 2566/67 จากเป้าหมาย 10,000 ตัน เกิดจริง 12,135 ตัน ประสิทธิภาพรถตัด 2 คัน คันที่ 1 23,800 ตัน คันที่ 2 20,470 ตัน ความสามารถบริหารจัดการไร่ พื้นที่ปลูกอ้อยรวม 700 ไร่ อ้อยปลูก ผลผลิตเฉลี่ย 17 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 12 ตัน/ไร่ ค่าความหวานเฉลี่ย 12.94 ซี.ซี.เอส

เทคนิคการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานในไร่อ้อย

พ่อกุยเล่าว่า การปลูกอ้อยต้องรู้จักวางแผน ต้องรู้ว่าอะไรสำคัญต่ออ้อย สำหรับพ่อกุยยกให้ “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญ “ปลูกอ้อยต้องให้น้ำ ถ้าเขาถึงน้ำก็เจริญเติบโตได้ดี เมื่อก่อนปลูกอ้อยต้องรอฟ้าฝนอย่างเดียว ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเรามากมาย ทั้งการขุดบ่อบาดาล ระบบน้ำหยด หรือการตรวจเช็กสภาพดินฟ้าอากาศจากแอปพลิเคชั่นในมือถือ ดูพยากรณ์ว่าฝนจะมา ก็เตรียมซื้อปุ๋ยมารอ ก็ดีกว่าใช้ความรู้สึกเหมือนสมัยก่อน สะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนเยอะ อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจ นำมาใช้หรือเปล่า”

พ่อกุยกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ที่ปลูกอ้อยและสำเร็จมาได้ เพราะนำหลักการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาใช้ เริ่มจากการปลูกอ้อยระยะร่อง 1.85 เมตร 100% เน้นการใช้เครื่องจักรในการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นหลัก เช่น ปลูกอ้อย ฝังปุ๋ย พรวนกำจัดวัชพืช ไปจนถึงตัดอ้อย

“เครื่องจักรที่ผมนำมาใช้งานตอนนี้มี รถตัด 2 คัน รถ John Deere 1 คัน/ case 1 คัน แทรกเตอร์ 160 แรงม้า 1 คัน, 110 แรงม้า 1 คัน, 27 แรงม้า 1 คัน, 24 แรงม้า 2 คัน รถพ่วง 4 พ่วง เทรลเลอร์ 1 คัน สิบล้อกล่อง 5 กล่อง เครื่องปลูก 2 เครื่อง โรตารี่ 2 ตัว ผานสับใบอ้อย 1 ตัว เครื่องฝังปุ๋ยผ่ากลางกอ 1 ตัว เครื่องใส่ปุ๋ย 4 ตัว ได้แก่ รถไถเล็ก 2 คัน ริปเปอร์ 5 ขา บูมสเปรย์ 1,000 ลิตร 1 ตัว 200 ลิตร 2 ตัว โดรนการเกษตร DJI 60 ลิตร 1 ลำ รถคีบ 2 คัน แบคโฮ 1 คัน”

“น้ำ” คือปัจจัยสำคัญของอ้อย

พ่อกุยให้ความสำคัญเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก จากอดีตที่ต้องรอฟ้ารอฝน พ่อกุยวางแผนบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ด้วยระบบน้ำหยด 100% รวมถึงการขุดบ่อบาดาลทุกจุดที่ปลูกอ้อย ซึ่งปัจจุบันพ่อกุยมีบ่อบาดาล 30 บ่อ พร้อมชุดโซล่าเซลล์ 6 ชุด และชุดโซล่าเซลล์เคลื่อนที่อีก 2 ชุด

“ผมตัดปัญหาเรื่องน้ำแห้ง ฝนแล้ง ด้วยการวางระบบน้ำทั่วทั้งไร่ และตั้งใจไว้ว่าปลูกอ้อยต้องงอกเต็ม 100 เริ่มตั้งแต่เตรียมดิน เลือกพันธุ์ ตัดอ้อยสด ตอนนี้ผมมี 900 กว่าไร่ ตั้งเป้าไว้ 1,000 ไร่ มีคนงานประมาณ 30 คน ให้มาช่วยขับรถ ช่วยทำงาน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นในหมู่บ้าน ไม่อยากให้เขาว่างงาน อยากให้มีรายได้ ดีกว่าไปเที่ยวเตร็ดเตร่ไปวัน ๆ”

ทำไร่อ้อยให้อะไรแก่ชีวิต

เมื่อถามว่าทำไร่อ้อยให้อะไรแก่ชีวิต พ่อกุยตอบโดยไม่ลังเลว่า “ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเราไม่มีอาชีพอย่างอื่น มีแต่อ้อยอย่างเดียว พอได้ทำอ้อย ลูกเรียนจบก็มีคนช่วย สามารถไปทำอาชีพอื่นเสริมได้ ทั้งวิ่งหิน วิ่งทราย ขนส่งสินค้า ทำรับเหมา”

สำหรับแผนการบริหารไร่ในอนาคต พ่อกุยกล่าวว่า การขยับขยายพื้นที่อาจจะยาก แต่ตั้งเป้าอยากให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

“ตอนนี้มีลูกเข้ามาช่วยงานก็สบายมากขึ้น เราได้ออกไปทำอะไรอย่างอื่นได้อีกเยอะ สำหรับลูกหลานชาวไร่คนอื่น ผมอยากให้คนที่จะมาทำไร่อ้อย ต้องมาเพราะอยากทำจริง ๆ อยากให้รักในสิ่งที่เราทำ ชอบอะไรก็ทำ อย่าไปฝืนความรู้สึก”

ภูมิใจที่มีทายาทเข้ามาสานต่องานในไร่

คุณทิพย์ ลูกสาวคนเก่งของพ่อกุย ภายหลังจบบัญชี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็กลับมาที่บ้านเพื่อช่วยงานพ่อกับแม่ ปัจจุบันคุณทิพย์และครอบครัวก็เข้ามาช่วยงานในไร่อย่างเต็มกำลัง ควบคู่กับการบริหารร้านค้าอุปกรณ์การเกษตร

“ทิพย์นำวิชาความรู้ที่เรียนมา พยายามนำมาปรับใช้ในไร่ โดยเฉพาะเรื่องบัญชี การบันทึกข้อมูลว่าแต่ละแปลงผลผลิตเท่าไหร่ ใช้ปุ๋ยไปกี่ลูก การทำข้อมูลเหล่านี้ สามารถช่วยควบคุมต้นทุนได้ เราแค่สร้าง excel ใส่ข้อมูลลงไป สามารถนำข้อมูลมาดูย้อนหลังได้”

คุณทิพย์เสริมต่อว่า

“จะสานต่อไร่อ้อยจากพ่อ เพราะพ่อได้ปูทางให้แล้ว พ่อให้ต้นทุนเรามาแล้ว ทำไมเราไม่ต่อยอด เราจะไปทางอื่นทำไม พ่อทำคนเดียว บริหารทุกอย่าง พ่อคือสุดยอดคนเก่งของเรา”

นอกจากคำชื่นชมจากปากของลูกสาว พ่อกุยยังเป็นที่รักของคนรอบข้าง ด้วยความมีน้ำใจ ดูแลคนในชุมชน ให้งาน สร้างอาชี สร้างรายได้ สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสำเร็จในชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยคนนี้ไม่ได้มีเพียงตัวเขาและครอบครัว แต่เขายังสามารถเผื่อแผ่ไปยังคนในชุมชนอีกหลายสิบชีวิต จากเด็กขับรถโดยสาร สู่เถ้าแก่ไร่อ้อยพันไร่ คำนี้ไม่เกินจริงอย่างแน่นอน

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

 

ข่าวปักหมุด