หน้าแรก

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ต้องการอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตแข็งแรง อ้อยก็เช่นกัน ต้องการธาตุอาหารที่ได้รับจากอาหาร นำไปสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย สร้างความต้านทานโรค ให้ผลผลิตและขยายพันธุ์ต่อ ๆ ไปได้

แร่ธาตุที่จำเป็น ต่อการเจริญเติบโต ของอ้อยมี 16 ธาตุ บางธาตุอ้อยได้รับจากน้ำและอากาศ เช่นคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน บางธาตุอ้อยต้องการน้อยมาก และในดินมีพอเพียงอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหา แต่มีธาตุอาหาร 3 ธาตุในดิน ที่อ้อยต้องการในปริมาณมาก และดินที่ปลูกอ้อยก็มีให้ไม่เพียงพอ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ทำให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มในแปลงอ้อยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารหลักเหล่านี้ให้อ้อย

โดยปกติ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยม มีอยู่ในดินมากเมื่อเปิดป่าใหม่ ๆ แต่เมื่อปลูกอ้อย ไปนาน ๆ อ้อยจะดูดธาตุเหล่านี้ขึ้นมาสร้างลำต้น ใบ ยอดและน้ำตาล เมื่อเราตัดอ้อยเข้าโรงงาน ก็เป็นการขนเอาธาตุอาหารไปจากดิน เราขนอ้อยส่งโรงงานทุกปี ธาตุอาหารในดิน ก็ลดลงไปทุกปี ๆ จนไม่พอแก่ความต้องการของอ้อยรุ่นต่อ ๆ ไป

ธาตุอาหารสำคัญ-004.jpg

ธาตุอาหารทั้ง 3 ธาตุ สำคัญต่อการเจริญเติบโตของอ้อยอย่างไร

  1. ไนโตรเจน (Nitrogen) 

เป็นธาตุที่ช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ ทำให้อ้อยแตกกอได้ดี มีจำนวนลำมาก ทำให้น้ำหนักอ้อยดี ถ้าอ้อยขาดไนโตรเจน จะทำให้ใบเหลือง แคระแกร็น แตกหน่อช้า หน่อไม่เจริญ อ้อยจะแก่เร็วกว่าปกติและคุณภาพอ้อยจะต่ำ จึงควรเสริมปุ๋ยไนโตรเจน ให้แก่ดิน ในทางปฏิบัติเพื่อความสะดวก แนะนำให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน รองก้นหลุม เวลาปลูกเลยส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นพออ้อยอายุ 2-3 เดือน อ้อยจะแตกกอ และเจริญเติบโตทางด้านลำต้นเร็วมาก ระยะนี้อ้อยจะดูดไนโตรเจน อย่างรวดเร็ว จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกครั้ง เรียกว่าปุ๋ยแต่งหน้า

  1. ฟอสฟอรัส (Phosphorus)

ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากอ้อย และการแตกกอ อ้อยที่ขาดฟอสฟอรัส จะเป็นโรคได้ง่าย อ้อยแคระแกร็น โตช้า ปล้องสั้น การแตกหน่อลดลง ใบจะมีสีม่วงขอบใบแห้ง ดินที่ใช้ปลูกอ้อยส่วนใหญ่ จะมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์แก่พืชน้อย ยกเว้นดินกำแพงแสน จึงต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส โดยแนะนำให้ใส่พร้อมปลูกโดยใส่รองก้นหลุม

 

  1. โพแตสเซียม (Potassium)

ธาตุนี้จำเป็นต่อขบวนการเจริญเติบโตของอ้อย โดยเฉพาะการสร้างแป้ง และน้ำตาล แล้วเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ในลำต้น อ้อยที่ขาดธาตุโพแตสเซี่ยม จะล้มง่าย ความหวานลดลง ไม่ต้านทานโรค อ้อยจะแสดงอาการที่ใบแก่ โดยปลายใบ และขอบใบจะไหม้ ส่วนบนของเส้นกลางใบจะมีสีแดง ดินส่วนใหญ่จะมีโพแตสเซียมอยู่มาก ยกเว้นดินทรายทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินให้แก่อ้อย เกษตรกรต้องคำนวณปริมาณของปุ๋ยและพื้นที่ให้เหมาะสม เพราะหากอ้อยได้รับธาตุเสริมจากปุ๋ยมากหรือน้อยเกินไป จะส่งผลต่อกระทบต่อการเจริญเติบโตของอ้อย รวมถึงสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินได้ด้วย

ข้อมูลและภาพ

http://mordin.ldd.go.th/

https://farmerspace.co/

https://www.thairath.co.th/

http://www.parichfertilizer.com/

ข่าวปักหมุด