กาลเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย หนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นการทําไร่อ้อยที่เมื่ออดีตต้องพึ่งพาแรงงานคน แต่ปัจจุบันแรงงานหายากขึ้น และแพงขึ้นด้วย ทําให้การเข้ามาของเครื่องจักรสมัยใหม่ เป็นตัวช่วยสําคัญสําหรับมิตรชาวไร่
คุณยุทธนา นามทอง คนเก่งมิตรชาวไร่ เจ้าของพื้นที่ปลูกอ้อยสี่ร้อยกว่าไร่ ในเขตส่งเสริมอ้อยที่ 1 ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หนุ่มวัย 26 ปี จบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยเต็มตัว สานต่อพ่อแม่
คุณยุทธนาคลุกคลีในไร่ตั้งแต่เด็ก เขาจึงมองเห็นปัญหาและต้นทุนที่เกิดจากแรงงานคน ทําให้สนใจเรื่องนําเครื่องจักรต่าง ๆ มาใช้ภายในไร่แทนปัญหาแรงงานที่หายากและขาดแคลนในปัจจุบัน
จากแนวคิดนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยงานในไร่อ้อย ส่งผลให้การส่งอ้อย ปี 61/62 ของคุณยุทธนาประสบความสําเร็จอย่างมาก ส่งปริมาณอ้อยเข้าหีบได้มากถึง 3,491 ตัน ผลผลิตต่อไร่ราว 12 ตัน/ไร่
อีกส่วนที่ทําให้คุณยุทธนาก้าวเข้ามาสานต่อไร่อ้อยของครอบครัว เกิดจากการได้ออกไปเห็นตัวอย่างและการสาธิตต่าง ๆ เห็นตัวอย่างจากเถ้าแก่รายใหญ่ ที่ประสบความสําเร็จ บวกกับได้รับโอกาสไปศึกษาดูงานจากโรงงานตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม (Modern Farm) จนเกิดแรงบันดาลใจว่าการนำเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม น่าจะสามารถนํามาใช้ในไร่ของตนเองได้ เพื่อช่วยให้การทํางานง่ายขึ้น ลดต้นทุนแต่ยังได้ผลผลิตดี
คุณยุทธนาเล่าว่า “ตัวอย่างต้นทุนที่ลดลง เช่น ขั้นตอนการใส่ปุ๋ย ถ้ามีรถเข้าร่องอ้อย ต้นทุนการใส่ปุ๋ยจะมีแค่ค่าน้ำมันไม่ถึงลิตรต่อไร่ แต่ถ้าใช้คนหว่านปุ๋ย 1 ไร่ ใช้ปุ๋ยหนึ่งกระสอบ ค่าแรงกระสอบละประมาณหกสิบบาท ค่าอาหารคนให้ปุ๋ย เทียบกับน้ำมัน 2-3 ลิตร เรามองว่าใช้รถดีกว่า ใส่ปุ๋ยและกําจัดลูกหญ้าได้ด้วยไปในตัว แต่ถ้าใช้คนก็จะต้องมาเก็บหญ้าอีก เสียค่าเก็บหญ้า ค่าฉีดยา ค่าอาหารเลี้ยงข้าว ยังไงก็แพงกว่าใช้รถ”
“แผนสําหรับปีนี้เราจะปรับพื้นที่แปลงอ้อย จะสั่งซื้อรถเข้าร่องอ้อยแทนการใช้แรงงานคน เพราะมันสามารถลดต้นทุนได้เยอะ ทั้งเรื่อง ของยาคุมวัชพืช แล้วก็เรื่องแรงงานใส่ปุ๋ย ด้วยเหตุที่ว่า อย่างปีนี้เราเจอปัญหาแรงงานใส่ปุ๋ย คือใช้คนนะ แปลงที่ใหญ่ ๆ คนใส่ปุ๋ยก็เข้าไปไม่ถึง เลยหันมาใช้เครื่องใส่ปุ๋ยแทน และจะเพิ่มระยะร่อง ลดความกว้างของเครื่องปลูกลง”
จากประสบการณ์การทําไร่อ้อยกว่า 8 ปี คุณยุทธนาบอกว่าไร่ของตนและครอบครัวเริ่มนําเครื่องจักรเข้ามาใช้ราว 5-6 ปีแล้ว “แรก ๆ เราซื้อแค่รถแทรกเตอร์ร้อยแรงม้า แล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่ใหญ่ขึ้น แต่ทั้งนี้การเลือกซื้อเลือกใช้เครื่องจักรก็ต้องพอดีกับกําลังทรัพย์ของตัวเอง ค่อย ๆ เติบโต อย่างบาง คนเขาไม่กล้าลงทุนกับเครื่องจักร เพราะว่ากลัวเป็นหนี้ แต่สมัยนี้ เรามองว่าการใช้ เครื่องทุ่นแรงเป็นประโยชน์และค่อนข้างจําเป็น ถ้าใช้แรงงานคนคือไม่ไหวแล้ว คนดายหญ้า คนใส่ปุ๋ย คนตัดอ้อย ค่าแรงเขาสูง ไม่คุ้ม ดังนั้นการใช้เครื่องจักรสามารถทําได้ แต่อย่าทําอะไรเกินตัว เอาเท่าที่พอดี โดยปกติเขาให้ส่งรถตัดเจ็ดปีนะ ซึ่งถ้า เรามีเงินเหลือเงินอะไรเราก็ไปจ่าย ๆ ไว้ พอส่งครบ สุดท้ายเครื่องจักรนั้นก็จะกลาย เป็นเครื่องมือที่สร้างกําไรให้เราอยู่ดี”
“เรื่องฝากคงฝากไม่ได้ครับ เพราะความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตัวผมเองชอบงานนี้ และตั้งใจจะทำไร่อ้อยไปจนเกษียณ ก็คาดหวังว่าลูกสาวสองคนจะมาทําไร่เหมือนเราบ้าง เราก็ปลูกฝังเขาตั้งแต่ยังเด็ก พาไปเดินในไร่ ไปดูรถตัด แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูก ๆ เอง”
ข้อได้เปรียบ 2 ประการของคุณยุทธนา คือ หนึ่ง เป็นทายาทชาวไร่อ้อยที่เติบโตมากับการช่วยพ่อแม่ทําไร่อ้อย และสอง คือทัศนคติที่เปิดรับและ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ต้อง ยอมรับว่าเป็นปัจจัยสําคัญให้การทําไร่อ้อยนั้น มีความยุ่งยากน้อยลง และยังเป็นการประหยัด ต้นทุนทั้งเงินและเวลาแบบที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม สนับสนุนเสมอมา
นี่คือคนเก่งของเราที่ผสานประสบการณ์ในไร่เข้ากับเครื่องมือการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม จนประสบความสําเร็จ ดังนั้นเราเชื่อว่าแนวคิด “เพิ่มเครื่องจักร ลดต้นทุน” นี้คือหนึ่งในวิธีการที่มิตรชาวไร่สามารถนํามาปรับใช้ กับไร่ของตนเองได้อย่างแน่นอน