การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ มิตรชาวไร่ต้องใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้นเตรียมดินให้ดีจึงจะได้อ้อยที่งอกงาม ต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานให้เท่าทันโลกยุค 5G ที่ทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองจากการเรียนรู้สิ่งใหม่แบบไร้ขีดจำกัดได้ทุกที่ทุกเวลา
คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้ “คุณนุกูล ธรรมสถิตนิเวศ” มิตรภูหลวง ผู้วางรากฐานการพัฒนาไร่อ้อยสมัยใหม่ไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มต้นจากศูนย์ ขยายพื้นที่ทำไร่ออกไปได้นับร้อยไร่
หลักคิดสำคัญในการทำไร่ของคุณนุกูล คือ ก้าวทีละก้าว ถึงช้าแต่มั่นคง คุณนุกูลเล่าว่า “ทำอ้อยต้องทำตามกำลังของเรา ไม่ใช่ก้าวกระโดด พี่ทำมา 10 กว่าปี ชีวิตทุกอย่างวันนี้คือได้จากอ้อย จุดที่คนล้มกันมากคือ เขารีบ กลัวคนอื่นจะรวยแซงหน้า การทำไร่เราต้องวางแผน แม้แต่เรื่องบัญชีก็ต้องทำให้ชัดเจน ตัวเลขเป็นเท่าไหร่ต้องรู้ต้องเห็น พี่ก็จะดูว่าเรายังขาดตรงไหน ต้องเพิ่มตรงไหน แล้งมาจะทำยังไงให้เรารอด เพราะมันคือชีวิตทั้งชีวิตของเราเลยนะ ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่าจะลงอ้อยตรงนี้ มันอยู่อีกแรมปี ถ้าทำแล้วมัวคิดแต่ว่ากลัวเจ๊ง มันก็จะไม่ได้ทำอะไรเลยนะ บางทีก็ต้องยอมเสี่ยง แต่ต้องเสี่ยงบนพื้นฐานของความมั่นคง เพราะเราศึกษาวางแผนมาดีแล้ว”
แต่เดิมคุณนุกูลเป็นคนขับรถบรรทุกมาก่อน หลังจากแต่งงานจึงผันตัวมาทำไร่อ้อย “เมื่อก่อนพี่ก็ขับรถบรรทุก พอมีรถบรรทุกอ้อยเราก็ลองศึกษาดูแบบครูพักลักจำเขาไป ทำไร่ตั้งแต่ปี 2547 เช่าที่เขาก่อนประมาณ 60-70 ไร่ ทำอ้อยได้มาประมาณ 800 ตัน จากวันนั้นก็ทำอ้อยนี่แหละมาเรื่อย ๆ” ปัจจุบันคุณนุกูลมีพื้นที่ทำไร่อ้อยถึงกว่า 600 ไร่ และส่งอ้อยเข้าหีบได้กว่า 6,000 ตัน
เคล็ดลับการทำไร่ให้ได้ผลผลิตดีของคุณนุกูล นอกจากต้องเตรียมดินให้ดีแล้ว ยังต้องมองหาแหล่งน้ำเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนเสมอ “ทำอ้อยเราต้องเตรียมดินให้ดี ถ้าปลูกอ้อยไว้ตอได้ 4 ตอ ก็รื้อแปลงปลูกใหม่สลับกันไป อย่างปีล่าสุดนี่มันแล้งมากก็ต้องเริ่มทำน้ำบาดาลเข้ามาช่วยอีกแรง ส่วนมากพี่จะเลือกปลูกอ้อยที่ที่มีสระน้ำ มีดินดำ น้ำชุ่ม เราต้องศึกษาให้ดีก่อน ถ้าที่มีน้ำเราถึงจะทำ แต่ถ้าที่ไม่มีก็ไม่ทำ น้ำจะเป็นตัวทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น ทำให้ดินมันดี ปุ๋ยมันซึม ก็ต้องวางแผนก่อน”
คุณนุกูลตัดสินใจซื้อรถตัดอ้อยเพราะมองว่า “รถตัดดีกว่าคน เร็วกว่า ใช้เวลาทำงานสั้นกว่า ทำให้มีเวลาเหลือดูแลรักษาไร่ได้ดีขึ้น ทั้งไร่ ทั้งอ้อยที่ได้ก็มีคุณภาพดีขึ้น ต่อไปถ้าใช้รถใช้เครื่องจักรแบบนี้ภาพรวมการใส่น้ำใส่ปุ๋ยจะไวขึ้นอีก รถคันนึงทำงานได้เท่ากับคนงาน 100 คน แล้วยังได้อ้อยสด ไม่ต้องเผา คุ้มกว่า เร็วกว่าด้วย ยิ่งถ้าเป็นแปลงที่เตรียมแปลง รวมแปลงมาอย่างดี แถวยาว ๆ นะ วันหนึ่งนี่เคยตัดได้สูงสุด 500 ตันเลยนะ” คุณนุกูลกล่าวถึงข้อดีของรถตัดได้อย่างมั่นใจ
คุณนุกูลแนะนำว่า ให้มิตรชาวไร่วางแผนล่วงหน้าและลงไปสำรวจพื้นที่ก่อนตัดอ้อยจริงเสมอ “ปีที่แล้วเราวางแผนตัดอ้อยไว้ 100 วัน ถ้าเราจะตัดได้ 2 หมื่นตัน อย่างน้อยเราต้องได้วันละ 200 ตัน ก็คำนวณกันต่อว่าอย่างน้อยวันนึงก็ต้องได้ 5 รถพ่วง แต่ปัญหาอุปสรรคมันก็ต้องมีเป็นธรรมดา แค่รถวิ่งไปก็ชนตอ ชนไม้ ชนหิน พื้นที่บ้านเราแถว ๆ เลยนี่ มันเป็นภูเป็นเขา หัวใจสำคัญคือต้องออกไปสำรวจไร่ก่อน ต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อม เก็บหินกันก่อน ถ้าพื้นที่พร้อมก็โอเคนะ แต่ถ้าแปลงไม่พร้อมให้รถตัดทำงาน ก็คิดเอาว่าถ้าชนตอ 1 ครั้ง จะเสียเวลาไปประมาณ 4 ชั่วโมง ต้องเปลี่ยนอะไหล่ เปลี่ยนเสร็จแล้วมาเทสต์เครื่อง ใช้เครื่องจักรมันก็เร็วจริงแหละ แต่ถ้าไม่พร้อมก็ทำไม่ได้ จึงต้องวางแผนจัดการทีมกันมาก่อนว่าจะทำกันยังไง เรื่องคนก็ด้วย ให้มากินข้าวในกอง ปล่อยให้กินข้าวข้างนอกไม่ได้เลยจะเสียเวลา”
“การใช้รถตัดนั้นจำเป็นต้องเตรียมแปลงมาให้ดี สร้างแนวเบดฟอร์มไว้ให้รถวิ่งก็ช่วยลดอุบัติเหตุในแปลงอ้อยได้” คุณนุกูลกล่าวย้ำถึงการใช้รถตัดอ้อยอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งไร่อ้อยสมัยใหม่ของคุณนุกูลได้ปรับพื้นที่แปลงอ้อยเพื่อรองรับรถตัดอ้อยไว้เกือบครบทุกแปลงแล้ว
จากประสบการณ์ที่สั่งสมนับสิบปีในไร่อ้อย ทำให้คุณนุกูลสามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์จากการทำไร่แบบดั้งเดิมกับการทำไร่สมัยใหม่ที่เริ่มแพร่หลายในพื้นที่ภูหลวงได้อย่างชัดเจน
“ทำไร่ตอนนี้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะครับ ไม่ปวดหัว แต่ก่อนต้องใช้แรงงานคน เราจะจ่ายเงินทุนไปตรงนั้นเยอะมาก ไหนจะต้องดูแลคนงาน ซึ่งเขามักจะขอเบิกเงินล่วงหน้า เอาเงินเราไปแล้วก็มาบ้างไม่มาบ้าง ถ้าเป็นอ้อยสดเขาก็ไม่ยอมตัดให้ จะตัดแต่อ้อยไฟไหม้ท่าเดียว ผิดกับตอนนี้หลังจากออกรถตัด ผมเลยมีอ้อยสดเกือบทั้งหมด วางแผนปลูกอ้อยในปีต่อไปได้ดีมีคุณภาพมากขึ้น ถ้าเทียบแล้วอ้อยสดยังไงเสียก็ดีกว่า ทำง่ายกว่า อีกอย่างตัดอ้อยสดเราได้ปุ๋ยจากใบที่เราทิ้งไว้คลุมดินด้วย ไร่เราก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ อ้อยตอก็ดี ไม่ค่อยตายแล้ว แถมช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้นด้วย ประหยัดค่าปุ๋ย ประหยัดค่าน้ำไปได้ในตัวเลย ต้นทุนที่ลดได้ก็เอากลับมาคิดเพิ่มประสิทธิภาพให้ไร่เรานั่นแหละ”
การทำงานในไร่อ้อยที่มีการวางแผนจัดการไร่อยู่เสมอ ทำให้คุณนุกูลรับมือกับปัญหาสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ล่าสุดคุณนุกูลวางแผนจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในไร่และทำน้ำหยดสู้แล้ง เพราะคุณนุกูลมองว่า มัวรอฝนอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้แล้ว และมัวมาทำไร่อ้อยแบบเดิมก็ดูไม่ทันการณ์ ต้องเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยแบบสมัยใหม่ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย ประโยชน์และข้อดีที่ได้ ต่างจากการทำไร่แบบเดิมอย่างเป็นที่น่าพอใจ