- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- พฤ., 18 ก.ค. 62
การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มิตรชาวไร่ควรออกแบบแปลงอ้อยให้เครื่องจักรกลการเกษตรสามารถเข้ามาทำงานในไร่อ้อยได้ ทั้งรถไถ รถตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อยต่าง ๆ เพื่อจัดการอ้อยให้ทันเวลา ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อย การออกแบบแปลงอ้อยจึงเป็นเรื่องจำเป็น และเมื่อได้แปลงอ้อยที่เหมาะสมแล้ว สิ่งต่อมาคือ การใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า
มิตรชาวไร่คงสังเกตเห็นพื้นที่ขอบแปลงอ้อย ที่ชาวไร่บางรายปล่อยไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร แต่มีชาวไร่อีกหลายรายที่เห็นบางสิ่งบางอย่างจากพื้นที่ว่างเปล่าตรงนั้น นั่นคือ “รายได้เสริม” จากการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย โตไว และขายได้ราคา
วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอแนะนำ “กระเจี๊ยบแดง” พืชปลูกง่าย ไวแสงที่สามารถปลูกได้ทั่วไป ในที่นี้มิตรชาวไร่สามารถปลูกขอบแปลงเพื่อเสริมรายได้นอกเหนือจากอ้อยได้
ทำไมต้องปลูกกระเจี๊ยบแดง ? ที่แนะนำกระเจี๊ยบแดง เพราะเป็นพืชที่ขายได้ราคา ปลูกง่าย ชอบอากาศร้อนหรือค่อนข้างร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง และไม่ชอบน้ำขัง เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมนำมาปลูกในนาข้าว แปลงข้าวโพด ภายหลังการเก็บเกี่ยว หรือปลูกควบคู่กับพืชไร่หลักชนิดอื่น ๆ ในพื้นที่ขอบแปลงได้
วิธีปลูกกระเจี๊ยบแดงขอบแปลงอ้อย
สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราคือพันธุ์ซูดาน และพันธุ์กลีบยาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเป็นอย่างช้า สามารถให้ผลผลิตผลสดหลังจาก 80 วันหลังปลูก และสามารถทยอยเก็บได้เรื่อยๆ จนหมดต้น
การเก็บเกี่ยวสามารถทำได้ 2 แบบ คือ เก็บเฉพาะดอกกระเจี๊ยบแดง โดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดเฉพาะดอกที่แก่ แล้วใส่ในภาชนะที่มีวัสดุรอง หรือเก็บเกี่ยวทั้งต้น โดยใช้เคียวเกี่ยวกิ่งที่มีดอกบริเวณโคนกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวนำดอกกระเจี๊ยบแดงไปแทงเมล็ดออก โดยใช้เหล็กกระทุ้งแทงบริเวณขั้วให้เมล็ดหลุดออกจากกระเปาะหุ้มเมล็ด
ส่วนที่เหลือเป็นกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอกของกระเจี๊ยบแดง นำกลีบดอก ไปตากแดดนาน 4-7 วันจนแห้งสนิท และควรตากบนชั้นสูงจากพื้นดินประมาณ 60-70 เซนติเมตร และคลุมด้วยผ้าขาวบางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นละออง และนำกระเจี๊ยบแดงที่แห้งสนิทแล้วมาบรรจุถุงพลาสติกใส และปิดปากให้สนิทนำเข้าจัดเก็บในห้องที่สะอาด เย็น ไม่อับชื้น เพื่อส่งจำหน่ายต่อไป
กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย ดังนี้
1. กลีบเลี้ยงที่มีสีแดงเข้มรวมถึงกลีบดอกนิยมนำมาต้มทำน้ำผลไม้ที่เรียกว่า น้ำกระเจี๊ยบ ให้รสเปรี้ยว ผสมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่ม ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
2. ดอกอ่อน นำมาปรุงอาหาร โดยนิยมนำส่วนดอกใส่ในอาหารจำพวกต้มยำเพื่อให้มีรสเปรี้ยว ส่วนใบอ่อน และยอดอ่อนนำมาปรุงอาหารลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงต้มหรือผสมเป็นผักสลัด
3. ดอกนำมาทำขนมหรือของหวาน อาทิ แยม เยลลี่ ไอศครีม
4. สีแดงเข้มของดอก นำมาสกัดเป็นสีผสมอาหาร เครื่องดื่ม หรือสีย้อมผ้า
5. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระเจี๊ยบแดง อาทิ ซอสกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบผง ไวน์กระเจี๊ยบ เป็นต้น
6. เปลือกของกระเจี๊ยบแดงสามารถลอกใช้ทำเป็นเชือกรัดของได้
7. ลำต้นสามารถใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษสาได้
8. สารเพกตินที่พบในดอกสกัดนำไปใช้เป็นสารป้องกันการแยกตัว (emulsifier) ของน้ำมันในเครื่องสำอาง
9. เมล็ดมีน้ำมันสูง ใช้สกัดสำหรับเป็นน้ำมันประกอบอาหารที่มีกรดไลโนเลอิกสูง (linoleic acid)
10. เมล็ดใช้ผสมกับสารส้มสำหรับตกตะกอนน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม
11. เมล็ดมีรสขมใช้บดผสมในอาหารเพื่อให้ได้รสขมเล็กน้อย
12. เมล็ดที่มีรสขมเหมือนกาแฟบางประเทศนำมาตากแห้ง และบดชงดื่มแทนกาแฟ
13. ทั้งใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
ด้วยคุณสมบัติ ปลูกง่าย ทนทานต่อภาวะแล้ง และที่สำคัญเป็นที่ต้องการของตลาดทุกฤดูกาล ทำให้กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชสร้างรายได้อีกทาง มิตรชาวไร่ลองเปรียบเทียบความคุ้มค่าต่อการลงทุน ลงแรง กับผลตอบแทนที่จะได้รับดูนะคะ ยุคนี้คนที่มีพื้นที่มากไม่ใช่คนที่ได้เปรียบ แต่คนที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า สร้างราคาได้มากกว่าต่างหาก คือคนที่น่านับถือ
ขอบคุณที่มา