หน้าแรก

การจะทำไร่อ้อยให้สำเร็จได้นั้น หากยังทำอยู่แบบเดิมซ้ำ ๆ ตลอดเวลา คงยากที่จะเห็นผลลัพธ์ใหม่ในโลกยุค 5G การปรับเปลี่ยน พัฒนา และคิดหาหนทางต่อยอดจึงเป็นดั่งสว่านดอกสำคัญที่จะเจาะทะลุเข้าไปให้ถึงแก่นเคล็ดลับการทำไร่อ้อยสมัยใหม่

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอพามิตรชาวไร่มาทำความรู้จักกับคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ผู้มากประสบการณ์ท่านหนึ่งของเรา ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอ้อยมานานเกือบสองทศวรรษ จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สวมบทบาทการเป็นลูกจ้างที่ไม่ย่อท้อ จึงได้รับความเมตตาจากนายจ้างให้การสนับสนุนจนเติบใหญ่ด้วยความพากเพียรส่วนตน ทำให้ทุกวันนี้ เขากลายเป็นเจ้าของโควตาส่งอ้อยเฉียดหมื่นตัน กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านบทพิสูจน์มามากมาย

คุณอำนวย สิงห์สำราญ มิตรชาวไร่ “มือเก๋า” วัย 44 ปี จากภูหลวง ที่ปัจจุบันยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ประสบการณ์ในวงการอ้อยของคุณอำนวยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นได้มีโอกาสทำงานเป็นพนักงานขับรถไถของเถ้าแก่ท่านหนึ่ง ต่อมาก็ได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเรื่อย ๆ ได้เป็นหัวหน้าคนงาน จนไต่เต้าขึ้นมาเป็นลูกไร่ของเถ้าแก่ท่านเดิม แล้วขยับขยายมาเปิดโควตาส่งอ้อยของตนเองช่วงปี พ.ศ.2545 เริ่มจาก 500 ตัน จนปัจจุบันโควตาส่งอ้อยของคุณอำนวยมีอยู่ 8,800 ตันแล้ว

เหตุผลที่มาประกอบอาชีพชาวไร่อ้อย

“เป็นเพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตวัยเด็กก็รับจ้างอยู่ในไร่อ้อยมาตลอด อยู่กับเถ้าแก่เขามาตลอด ขับรถไถ ให้น้ำ ให้ยา จนมาขับสิบล้อ จนได้ทำไร่ พอคลุกคลีอยู่ในวงการอ้อยมาตลอด ไม่รู้จะไปทำอะไรอย่างอื่น เราคลุกคลีอยู่กับแบบนี้แล้วก็คิดว่าเราควรจะเอาดีทางใดทางหนึ่งสักอย่าง แล้วไปให้สุดทางไปเลย สุดท้ายก็เลยตัดสินใจว่าคงไม่ทำอย่างอื่น เลือกทำไร่อ้อยนี่แหละ ถ้านับตั้งแต่ปี 2535 ก็อยู่กับอ้อยมาประมาณ 27 ปีแล้วครับ และคงจะอยู่ต่อไป”

อำนวย-003.jpg

ลองนำเครื่องจักรมาใช้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ

ด้วยความเป็นมือเก๋าในการทำไร่อ้อย คุณอำนวยจึงตัดสินใจที่จะนำเอาเครื่องจักรมาใช้ในการทำไร่ เพราะพิจารณาแล้วว่ามีส่วนช่วยลดทั้งต้นทุนและแรงงานคน รวมถึงลดการเผาใบอ้อยไปได้ในตัวประเด็นเรื่องการลดต้นทุนแรงงานนั้น คุณอำนวยเล่าให้เราฟังว่าเกิดจากการที่แรงงานคนเริ่มหายากขึ้น

“ถ้าเราทำอ้อยแค่ 10-20 ไร่ เครื่องจักรคงไม่จำเป็น แต่ถ้าเราทำ 300-500 ไร่ขึ้นไป ผมว่าถ้าใช้แรงงานคนอย่าเดียว ทำไม่ทันแน่นอน เราเลยจำเป็นต้องใช้รถตัด เพราะจะได้ตัดส่งเข้าหีบได้ทัน ถ้าไม่ทันจะเกิดความเสียหายมากกว่า แรงงานคนนี่เริ่มหายากขึ้นไปทุกวันนะ ต้องลองเปลี่ยนมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำไร่เราถึงจะไปได้ต่อ”

คุณอำนวยมองภาพการทำไร่ในอนาคตว่า หากมีการนำเครื่องจักรโดยเฉพาะรถตัดอ้อยมาใช้ในไร่มากขึ้น ยิ่งช่วยลดแรงงานคนได้มหาศาลอ้อยหมื่นตันอาจใช้แรงงานเพียง 5 คน ก็สามารถตัดอ้อยให้ลุล่วงได้ทันเวลา ในขณะที่ปัจจุบันรถตัดอ้อยยังมีไม่มาก ประกอบกับพื้นที่บางส่วนยังไม่ได้ปรับให้รถตัดอ้อยสามารถเข้าไปทำงานได้ ทำให้ล่าสุดอ้อย 8,800 ตัน ต้องใช้คนงานถึงเกือบ 30 คน จึงตัดอ้อยแล้วเสร็จ นำมาสู่ความคิดเรื่องการบริหารจัดการเครื่องจักรสมัยใหม่ให้ทันโลก ทำงานด้วยความสะดวกรวดเร็ว และต้องทำให้ทันเวลา

คุณอำนวยกล่าวว่า จากนี้ไปจะทยอยปรับพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ให้สามารถใช้รถตัดอ้อยเข้าไปทำงานแทนคนให้ได้ทั้งหมดในอนาคต เพราะว่ามีเครื่องมือสำหรับปรับพื้นที่แล้ว เพียงแต่เพิ่งเริ่มปรับพื้นที่อย่างจริงจัง

“หีบที่ผ่านมานี้ต้องใช้คนงานเพิ่มขึ้น เพราะว่าเราเลือกแล้วว่าจะไม่จุดไฟ ไม่ทำอ้อยไฟไหม้ แต่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าตัดอ้อยเข้าหีบได้ทันไหม ปีนี้จึงต้องเพิ่มคนงาน 20 คน เฉพาะคนตัดอ้อยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมใช้แรงงานต่างประเทศหมดส่วนคนไทยที่เคยจ้างเขา เขาก็รวยกันหมดแล้วบ้าง เลิกทำกันไปแล้วบ้างเราก็ไม่รู้จะไปหาจากที่ไหน ผมเลยคิดว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าอีกหน่อยแรงงานต่างประเทศเขาไม่มา หรือมาไม่ได้ มันจะไม่มีคนทำแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาการทำไร่อ้อยด้วยเครื่องจักรทั้งหมดให้ได้”

ด้วยเหตุผลเลือกตัดอ้อยสดงดเผาอ้อยนี่เอง ที่เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คุณอำนวยตัดสินใจซื้อเครื่องอัดใบอ้อยมาใช้

“หลัก ๆ ก็เรื่องนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ให้ จุดไฟเผาอ้อย เราจึงต้องตัดอ้อยสด โรงงานเองได้ปรับสัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้ลดลงสนองนโยบายรัฐบาล ยิ่งเป็นโอกาสให้เราตัดสินใจซื้อเครื่องอัดใบอ้อยได้ง่ายขึ้น ซื้อมาเอาไว้อัดใบอ้อยหลังตัดอ้อยสดแล้วยังส่งขาย ได้เงิน ถือเป็นรายได้เข้ามาอีกทางหนึ่ง” คุณอำนวยกล่าว

นอกจากนี้ ชาวไร่มือเก๋าของเรายังเล่ารายละเอียดเจาะลึกลงไปเพิ่มเติมว่า “ที่มาสนใจเรื่องเครื่องอัดใบอ้อย เพราะเคยศึกษาดูตัวอย่างมาบ้าง พอดูแล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นผลดี สร้างรายได้ทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นมาอีก ยิ่งพอมิตรผลเข้ามาส่งเสริมด้วยก็เลยตัดสินใจได้ไม่ยาก ยิ่งปีนี้เป็นปีแรกที่มิตรภูหลวงรับซื้อใบอ้อยปีแรกเราก็ได้เงินมาเพิ่มอีกตันละ 1,000 บาทแบบไม่หักความชื้นเวลาเราตัดอ้อยไร่หนึ่งก็ได้ใบอ้อยตันนิด ๆ ถ้าตัด 2,000 ไร่ ก็ได้ใบอ้อยอีก 2,500 ตัน พอได้เอามาแบ่งเบาภาระเรื่องเงินซื้อรถตัดไปได้ พอเปลี่ยนมาทำไร่สมัยใหม่ เครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องพร้อมตอนนี้มีครบแล้ว ทั้งรถตัดอ้อย ทั้งเครื่องอัดใบอ้อย พอรถตัดวิ่งไปทำงานทางไหน ตัดอ้อยสดทิ้งใบไว้ ก็ใช้เครื่องอัดใบอ้อยตามเก็บกวาดอัดเป็นก้อนส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ทางกลุ่มมิตรผลเขารับซื้อ มาแนวนี้ดีกว่าจริง ๆ”

สำหรับแผนการในอนาคต คุณอำนวยยังคงเน้นที่การปรับพื้นที่รองรับรถตัด เพื่อให้เครื่องจักรกลสมัยใหม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้นและเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น จึงเริ่มศึกษาเจาะลึกลงไปถึงหลักการทำไร่สมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการงานไร่ของตนเองต่อไป

“หากมีโอกาสเราต้องไม่หยุดพัฒนา อยากให้พวกเราเกษตรกรได้เรียนรู้และหันมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือเกษตรสมัยใหม่ จะได้ทุ่นค่าแรง เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำไร่ จะได้ทันเวลาในทุกขั้นตอน ถ้ายังไม่ลองทำ ไม่ลองศึกษานับแต่วันนี้ ก็จะไม่มีทางรู้ว่ามันดีกว่าการทำไร่อ้อยแบบเดิมมากแค่ไหน”

อำนวย-004.jpg

คำกล่าวทิ้งท้ายของคุณอำนวย คนเก่งมิตรชาวไร่มือเก๋า ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอ้อยหลายทศวรรษ ที่อยากส่งต่อความเชื่อมั่นสู่มิตรชาวไร่รายอื่น ๆ ถึงความคุ้มค่าในการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ด้วยการใช้เครื่องจักรในการบริหารจัดการไร่อ้อย ทดแทนการทำไร่อ้อยแบบเดิมที่ต้องพึ่งพาคนเป็นแรงงานสำคัญ.

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ฉบับ มีนาคม-เมษายน 2563

ข่าวปักหมุด