- ข่าวสารมิตรชาวไร่
- พฤ., 29 มิ.ย. 66
การปลูกอ้อยข้ามแล้ง หรือปลูกอ้อยปลายฝน เป็นการปลูกอ้อยโดยอาศัยความชื้นในดินช่วงปลายฤดูฝน เพื่อให้อ้อยงอกและเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ ไปจนกว่าอ้อยจะได้รับน้ำฝนต้นฤดู เป็นวิธีการปลูกอ้อยที่ใช้ได้ผลในเขตปลูกอ้อยอาศัยน้ำฝนบางพื้นที่ที่ดินเป็นดินทราย หรือร่วนปนทราย และที่สำคัญจะต้องมีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี และมีการกระจายตัวดี โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดู (กุมภาพันธ์ ถึงเมษายน) จะต้องมีปริมาณฝนที่พอเพียงกับการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วงแรก โดยการเตรียมดินปลูกจะต้องไถเตรียมดินหลายครั้ง จนหน้าดินร่วนซุย (เพื่อตัด capillary pore) เป็นการรักษาความชื้นในดินชั้นล่าง หลังจากเตรียมดินควรรีบยกร่องและปลูกให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันกับความชื้น และควรยกร่องปลูกวันต่อวัน
พันธุ์อ้อยที่ใช้ปลูกข้ามแล้ง จะเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแก่ คือ อายุประมาณ 8-10 เดือน เดิมเกษตรกรนิยมปลูกอ้อยแบบทั้งลำ โดยจะชักร่องให้ลึก ระยะแถว 1 - 1.3 เมตร และวางลำอ้อยในร่องแล้วใช้จอบสับลำอ้อยเป็น 2-3 ส่วน กลบดินหนาประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร และใช้เท้าเหยียบดินที่กลบให้แน่นพอประมาณ เพื่อให้ท่อนพันธุ์อ้อยสัมผัสกับดินชื้นมากที่สุด ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปลูกมากขึ้น โดยจะตั้งเครื่องปลูกให้ลึกกว่าปกติ
หลังจากการปลูกอ้อยกันแล้วการดูแลไร่อ้อยก็เป็นส่วนสำคัญ โดยการใส่ปุ๋ยเคมีให้ถูกต้องตรงกับชนิดดินและความต้องการของอ้อย จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี การใส่ธาตุอาหารลงไปในดินโดยที่ดินนั้น ๆ มีธาตุอาหารเพียงพออยู่แล้วจะเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ปุ๋ยส่วนเกินความต้องการของอ้อยจะถูกชะล้างลงสู่ บ่อ คู คลอง และแหล่งน้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างรุนแรงทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าเรามีการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งชนิดและอัตราที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยในไร่อ้อย เป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ย และลดมลภาวะที่จะเกิดจากการปนเปื้อนของปุ๋ยในอากาศ และน้ำ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศอีกด้วย
ดินลักษณะนี้มักจะมีธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอยู่บ้าง จึงเน้นหนักธาตุไนโตรเจน แนะนำเป็นปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14, 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 40-50 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยใส่ครั้งแรกหลังปลูก 1 เดือน หรือหลังแต่งตอทันที ใส่ครั้งที่ 2 หลังปลูกหรือแต่งตอ 2-3 เดือน ถ้าไม่สะดวกที่จะใช้ปุ๋ยสูตรที่กล่าวมานี้ อาจใช้ปุ๋ยสูตรอื่นที่หาได้ตามท้องตลาด เช่น 16-8-8, 20-10-10, 16-6-6, 18-6-6, 18-8-8, หรือ 25-7-7 อัตรา 70-90 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งครึ่งใส่หลังปลูกหรือหลังแต่งตอทันที ส่วนอีกครึ่งหนึ่งใส่หลังปลูกหรือหลังแต่งตอ 2-3 เดือน
ดินทรายมักจะขาดธาตุโพแทสเซียม เนื่องจากถูกชะล้างจากอนุภาคดินได้ง่ายจึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-12, 13-13-13 หรือ 14-14-21 อัตรา 40-60 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่พร้อมปลูกหรือหลังแต่งตอ 20 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือใส่ครั้งที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่หลังปลูกหรือหลังแต่งตอ 60 วัน หรืออาจใช้ปุ๋ยสูตรอื่นที่มีขายตามท้องตลาดได้ เช่น 16-8-14, 15-5-20 หรือ 16-11-14 โดยใส่ในอัตราเดียวกัน คือ 40-60 กิโลกรัมต่อไร่
สำหรับมิตรชาวไร่ที่มีแผนในการปลูกอ้อยข้ามแล้งก็คงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อจะได้ดำเนินการได้ทันตามแผน รวมทั้งเตรียมปุ๋ยสำหรับบำรุงอ้อยกันด้วย เพื่อที่อ้อยของมิตรชาวไร่จะได้มีการเจริญเติบโตที่ดีและให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ
ขอบคุณที่มา:
ขอบคุณทีมาภาพ:
https://www.technologychaoban.com/