เข้าหน้าหนาวทีไร หลายประเทศต่างตั้งตารอช่วงเวลาที่หิมะตก เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่กันอย่างโรแมนติก ตัดภาพมาที่บ้านเราค่ะ พอเข้าหน้าหนาวลมแล้งปุ๊บ สิ่งที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยคือ “หิมะดำมาแล้ว” “ฤดูเผามาแล้ว” “ฝุ่นควันมาแล้ว” แหม! ฟังดูแล้วช่างหดหู่ใจสิ้นดี กลายเป็นว่าการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในช่วงหน้าหนาวไปซะแล้ว และจะไม่ให้ชาวไร่อ้อยอย่างเราคิดมากได้อย่างไร ในเมื่อช่วงนี้คือช่วงหีบอ้อยเข้าโรงงาน ชาวไร่อ้อยอย่างเราก็ตกเป็นเป้าไปโดยปริยาย เพราะเราตัดอ้อย คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่า ตัดอ้อยต้องเผาใบ เหมือนเดิม!
สำหรับชาวไร่อ้อยที่ยังเลือกตัดอ้อยโดยการเผาใบ ขอบอก ณ ตรงนี้เลยว่า ท่านคือหนึ่งในผู้สร้างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอย่าง “หิมะดำ” หรือฝุ่นดำ ที่เกิดจากการเผาไหม้ของใบอ้อย ที่เจ้าของไร่อ้างว่า คนงานเข้าไปตัดอ้อยไม่ได้ เพราะใบอ้อยคม บาดแขนบาดขา ครั้นจะใช้รถตัด รถก็เข้าแปลงไม่ได้ เพราะเจ้าของไร่อ้อยไม่ได้จัดการรูปแบบแปลงอ้อยให้ได้มาตรฐานที่เครื่องจักรจะเข้าทำงานได้ตั้งแต่แรก
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า ชาวไร่อ้อยทราบและเข้าใจดีว่า การตัดอ้อยเผาใบ นอกจากความเสียหายที่เกิดโดยตรงกับคุณภาพอ้อยแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ โดยเฉพาะการเกิดปรากฏการณ์หิมะดำอย่างที่กล่าวข้างต้น ปัญหานี้รบกวนชุมชน ทำให้เถ้าไฟไหม้ลอยตกตามหลังคาบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ของพี่น้องที่อยู่ละแวกใกล้เคียงได้รับความเสียหาย รวมถึงปัญหาสุขภาพจากการสูดควันดำเข้าไปสะสมในร่างกายด้วย อีกทั้งเพลิงไหม้อาจลุกลามไปเผาทำลายเครื่องมือเกษตรในแปลงอ้อยได้ในกรณีที่ดับเพลิงไม่ทันท่วงที ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และต้องลงทุนใหม่ในฤดูกาลถัดไป
จะดีกว่าไหม หากเราเลือกวางแผนการปลูกอ้อยเสียใหม่ ด้วยการออกแบบแปลงอ้อยให้รถตัดอ้อยเข้าไปตัดอ้อยแทนแรงงานคน ที่ต้องงอนง้อขอให้ตัด ซึ่งจะตัดก็ต่อเมื่อต้องเผาอ้อย ในเมื่อผลกระทบเกิดมากมายจนประชาชนตราหน้าว่าเป็นผู้สร้างหิมะดำแล้ว เราจะยอมให้ตราบาปนี้ติดตัวเราต่อไป ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเลือกไม่ให้เกิดได้ เราสามารถวางแผนจัดรูปแบบแปลงอ้อยให้เครื่องจักรเข้าทำงานได้ อาจจะต้องเสียเวลารื้อแปลงหรือซ่อมแปลงใหม่เพียงครั้งเดียว เพื่อใช้รถตัดอ้อยแทนคนงานตัดแบบเผาใบ เท่านี้คำว่า “ผู้สร้างหิมะดำ” จะหลุดออกจากบ่าของชาวไร่อ้อยไปอย่างสิ้นเชิง