- เทคโนโลยีสมัยใหม่
- จ., 15 มิ.ย. 63
หนุ่มฟิลิปปินส์แปลงเศษผักเหลือทิ้ง เป็นแผงโซลาร์เซลล์! ดูดรังสียูวีเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า คว้ารางวัลนวัตกรรมยั่งยืน!
รางวัล Jame Dyson Award จัดขึ้นทุกปีเพื่อตัดสินผู้ชนะเลิศด้านการประดิษฐ์ ซึ่งปีนี้ทาง James Dyson ได้เพิ่มรางวัลอีกรางวัล ทำให้มีผู้ชนะเลิศนอกจากสาขาเดิมอย่างสาขา International winner of the James Dyson Award แล้ว ก็จะมีผู้ชนะเลิศในสาขาใหม่ นั่นก็คือสาขา Sustainability Award
โดยในปีแรกนี้ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ Carvey Ehren Maigue ได้รับรางวัล James Dyson Awards สาขา Sustainability Award ไปจากผลงาน “AuREUS” แผงโซล่าร์เซลล์จากเศษผักที่สามารถเปลี่ยนรังสี UV เป็นพลังงานได้
แผงโซลาร์เซลล์ของหนุ่มฟิลลิปปินส์วัย 27 ปี คนนี้ต่างจากแผงโซลาร์เซลล์แบบเดิมที่มักจะทำงานเฉพาะในสภาวะที่มีแสงจ้า มองเห็นได้ชัด และต้องเผชิญกับแสงแดดโดยตรง แผงแบบใหม่ของเขาทำมาจากวัสดุที่โปร่งแสงสามารถดูดพลังงานจากรังสี UV ที่มองไม่เห็นผ่านก้อนเมฆ หรือจากรังสี UV ที่สะท้อนออกมาจากตึก ถนน และกำแพงรอบข้างได้
แสงที่เข้ามาพวกนี้จะถูกจับ และแปลงเป็นไฟฟ้าด้วยเซลล์โฟโตวอลเทอิก (Photovoltaic) เช่นเดียวกับที่พบในแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป และจะสามารถจัดเก็บเป็นพลังงาน หรือใช้ได้ทันทีด้วยความช่วยเหลือของแผงวงจรควบคุมไฟฟ้า
Carvey กล่าวว่า “ด้วยวิธีนี้ มันสามารถอยู่เดี่ยว ๆ หรือสามารถเชื่อมต่อเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถรวมเข้ากับระบบโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากกำลังไฟฟ้าของมันเหมาะสำหรับระบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน”
การทดสอบในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า “AuREUS” สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 48 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 10-25 เปอร์เซ็นต์ที่แผงโซลาร์ทั่วไปผลิตออกมา
แต่สิ่งที่ทำให้แผงนี้โดดเด่นกว่าแผงแบบเดิมคือ มันทำมาจากพืชพลทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง ไอเดียนี้มาจากการที่ผลผลิตของฟิลิปปินส์เป็นเหยื่อจากวิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรง เกษตรกรสูญเสียผลผลิตไปมากจากสถานการณ์นี้ เขาเลยคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้พืชผลเน่า ทำไมไม่นำมันมาใช้ประโยชน์
ด้วยเหตุนี้ Carvey จึงพยายามใช้ผลผลิตที่เหลือมาเป็นสารประกอบดูดซับรังสี UV ซึ่งหลังจากทดสอบพืชในท้องถิ่นเกือบ 80 ชนิด Carvey พบว่ามีพืช 9 ชนิดที่มีศักยภาพสูงสำหรับการใช้งานในระยะยาว
เขานำพืชดังกล่าวมาผสมกับเรซิน แล้วค่อยนำมาขึ้นรูป แผงที่ออกมาจะออกมาทนทาน โปร่งแสง และสามารถขึ้นรูปเป็นหลายรูปร่างหลายสี ทำให้สามารถเป็นทั้งวัสดุตกแต่งอาคาร และกรองรังสี UV ที่จะเข้าตัวอาคารได้ในเวลาเดียวกัน
ในอนาคต Carvey กำลังมองหาวิธีที่เขาสามารถพัฒนาวัสดุของเขาเพื่อใช้ติดนอกเหนือจากหน้าต่างและผนัง เขาตั้งใจจะนำสิ่งนี้ไปติดได้ทั้งที่ผ้า และฝังลงในรถยนต์ เรือและเครื่องบิน
“ฉันเชื่อมาตลอดว่าคนรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก
และแน่นอนว่าพวกเขาควรจะทำเพราะมันเป็นโลกของเขา
และเป็นโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ
และเขาคิดว่าปัญหาต้องได้รับการแก้ไข และมั่นใจว่าจะทำมันได้”
James Dyson
Founder & Chief Engineer
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=cq8YWWoDVXM&t=2s&ab_channel=Dyson
https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1757249537736819/3243737922421299/