ภายหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล สิ่งที่ชาวไร่ต้องจัดการต่อคือ เศษซากใบอ้อยที่เหลือจากการตัดอ้อยสด ซึ่งประกอบด้วยส่วนของใบ กาบใบ และยอดอ้อยที่เหลือจากการมัดอ้อย ประมาณการณ์น้ำหนักของเศษซากเหล่านี้อยู่ที่ 1-2 ตันต่อไร่
มิตรชาวไร่คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เศษซากใบอ้อยเหล่านี้ เป็นวัสดุปรับปรุงดินชั้นดีที่ตกค้างอยู่ในแปลงอ้อย ไม่ต้องซื้อหามาจากไหน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนย้ายมาใส่ และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใส่เพื่อนำมาปรับปรุงดิน เพียงแค่รักษาไว้โดยการไม่เผาทำลายและเสียค่าใช้จ่ายในการพรวนสับเศษซากใบให้ละเอียดเพียงเล็กน้อย แล้วนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากับดินเท่านั้น ชาวไร่ก็สามารถบำรุงดินได้อย่างง่ายดายพร้อมประโยชน์จากเศษซากอ้อยมหาศาล
มีการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่สำคัญในเศษซากใบอ้อยพบว่า มีปริมาณธาตุไนโตรเจนประมาณ 0.49 % ฟอสฟอรัสประมาณ 2.10 % และโพแทสเซียมประมาณ 5.80 % ดังนั้น หากปรับปรุงบำรุงโดยการพรวนคลุกเคล้าเศษซากใบอ้อยซึ่งมีปริมาณ 1 - 2 ตันต่อไร่ ลงไปในดินจนมีการย่อยสลายแล้ว จะทำให้ดินได้รับธาตุไนโตรเจน ประมาณ 4.9-9.8กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัสประมาณ 2.1-4.2กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทสเซียมประมาณ 5.8-11.6 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ประหยัดปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะใส่ลงไปได้พอสมควร ซึ่งเป็นผลดีที่ได้รับ นอกเหนือจากการที่ดินมีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มสูงขึ้น
จากข้อมูลข้างต้น สามารถยืนยันได้ว่า เศษซากใบอ้อยที่เหลือจากการตัดอ้อยสด ให้คุณเอนกอนันต์ด้านคุณค่าสารอาหารจากใบอ้อยสู่ดิน อีกหนึ่งคุณประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้ามคือ ใบอ้อยนำไปขายเข้าโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงได้ อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผล ที่ประกาศรับซื้อใบอ้อยตันละ 1,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พี่น้องชาวไร่ ตัดอ้อยสด ไม่เผาอ้อย เพื่อส่งเข้าโรงงาน นอกจากจะได้เงินจากการขายอ้อยสดแล้ว กำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ จากใบอ้อยที่ขายได้ ยังเป็นเงินเก็บอีกทางของพี่น้องมิตรชาวไร่ได้อีกด้วย
ขอบคุณที่มา: