เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (31 มี.ค. 64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,348 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,419 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,417 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,748 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,082 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีฝนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี จึงได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนั้น เหลือเวลาอีกเพียง 30 วันจะสิ้นสุด พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้นั้นมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการว่างงาน ส่งผลให้มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 2.79 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวได้ทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว และไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำที่เป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดลำดับความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย การอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และภาคการเกษตร นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำประมาณ 265,000 ไร่ โดยจะให้เริ่มเพาะปลูกในวัน 1 เมษายน 2564 เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคม ซึ่งกรมชลประทานจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงในช่วงเดือนปลายเดือนสิงหาคม ในกรณีที่ลำน้ำยมมีน้ำส่วนเกิน เพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดที่ว่างเว้นจากการเพาะปลูก เนื่องจากรอเริ่มต้นเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน สามารถเข้าร่วมโครงการจ้างงานกับทางชลประทานได้ เพื่อสร้างรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูก โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่สำนักงานชลประทานในภูมิลำนำ นอกจากนี้หากเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ ปรึกษาหรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนด้านการใช้น้ำ สามารถติดต่อกรมชลประทานในพื้นที่ หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460
ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000030945
https://www.matichon.co.th/economy/news_1577050/attachment/1-4-580
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/474148