หน้าแรก

หากมิตรชาวไร่เคยประสบปัญหา ปลูกอ้อยยังไงผลผลิตก็ไม่เป็นไปตามเป้าสักปี ยิ่งปลูกยิ่งแย่ ปลูกเท่าไหร่ผลผลิตยิ่งตกต่ำ ไม่รู้จะแก้ปัญหาหรือเริ่มต้นที่จุดไหนก่อน…อ่านรายละเอียดทางนี้ก่อนค่ะ

จากผลการศึกษาของโครงการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตอ้อยที่ลดลง (The Sugar Yield Decline Joint Venture) พบว่าสาเหตุของผลผลิตที่ตกต่ำของอ้อยมาจาก 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

003.jpg

1. ชีววิทยาของดิน (Soil Biology)

เนื่องจากในดินจะมีโรคและแมลงศัตรูอ้อยสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นได้จากระบบรากอ้อยในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยต่อเนื่องโดยไม่มีการพักดิน รากจะสั้น ไม่แข็งแรง และเจริญเติบโตได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีการพักดิน และดินเปิดป่าใหม่

2. การปลูกอ้อยติดต่อกันโดยไม่มีการพักดิน (Re-plant, No Fallow)

โรคและแมลงศัตรูอ้อยมีแหล่งอาศัยอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณไปได้เรื่อย ๆ ทำให้อ้อยที่ปลูกอย่างต่อเนื่องอ่อนแอลง เจริญเติบโตน้อยกว่าแปลงที่มีการพักดิน เราจึงแนะนำให้พี่น้องมิตรชาวไร่พักดินปลูกพืชตระกูลถั่ว นอกจากเป็นการบำรุงดินแล้วยังเป็นการตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูอ้อยอีกด้วย

3. ดินอัดแน่นและดินดาน (Soil Compaction)

เกิดจากการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก วิ่งบดทับอยู่บนแปลงอ้อยมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี อย่างในประเทศออสเตรเลียน้ำหนักรถตัดอ้อยและน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น้ำหนักเครื่องจักรอื่น ๆ เช่น รถแทรกเตอร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน น้ำหนักเหล่านี้นานวันยิ่งทำให้ดินถูกบดอัดแน่นและแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรอยล้อ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มส่งเสริมให้พี่น้องมิตรชาวไร่ เว้นระยะห่างระหว่างล้อวิ่ง 1.85 เมตร ในไร่อ้อย เพื่อไม่ให้เกิดการบดอัดบนร่องอ้อย ทำให้เกิดเป็นชั้นดินดานนั่นเอง

4. การไถพรวนที่มากเกินความจำเป็น (Too Much Tillage)

การไถพรวนบ่อยครั้งเป็นการทำลายโครงสร้างดิน ดินจะถูกย่อยเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเป็นฝุ่น ทำให้สูญเสียความสามารถในการอุ้มน้ำและอากาศ การไถพรวนจะทำให้อินทรียวัตถุในดิน ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศสูญเสียอินทรียวัตถุในรูปก๊าซ นอกจากนี้ยังส่งผลให้สิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อาศัยอยู่ไม่ได้

5. สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป (Climate Change)

สภาพอากาศแปรปรวนเป็นสภาวะที่คนทั่วโลกต่างกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น มีผลทำให้โลกร้อน โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงกับภาคเกษตรกรรม กล่าวคือ ทำให้ปริมาณฝนและการกระจายตัวของฝนไม่เหมาะสมและสม่ำเสมอ ทำให้ปริมาณความชื้นไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอ้อย อ้อยจึงกระทบแล้ง ผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ค่าความหวานและคุณภาพอ้อยจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า 5 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จากผลการศึกษาของโครงการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตอ้อยที่ลดลง จะเป็นแนวทางให้มิตรชาวไร่ที่ประสบปัญหาผลผลิตอ้อยตกต่ำไม่เป็นไปตามเป้า ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่อ้อยในแปลงไม่เจริญเติบโตให้ผลผลิตตามที่ควร ได้ทราบและหาสาเหตุ พร้อมการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ทำให้ไร่อ้อยที่กำลังย่ำแย่ กลับมางอกงามสร้างผลกำไรได้ตามเป้าหมายที่ต้องการนะคะ

ที่มา : Blueprint

ข่าวปักหมุด