หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้ จะพาทุกท่านไปรู้จักกับปราชญ์ชาวไร่แห่งหนองเรือ ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ พ่อเหี้ยม จำปาหวาย มิตรชาวไร่มืออาชีพ ต้นแบบความสำเร็จ จากชาวไร่ธรรมดาที่ไปขอพันธุ์อ้อยจากคนอื่นมาปลูก สู่บทบาทผู้รับเหมาปลูกอ้อยครบวงจร ทั้งเตรียมดิน ปลูกอ้อย ให้น้ำ กำจัดวัชพืช ตัด เก็บเกี่ยว ตลอดจนเก็บใบอ้อยขายส่งเข้าโรงงาน

บทที่หนึ่ง ก้าวแรกของการเป็นชาวไร่

พ่อเหี้ยมเริ่มต้นชีวิตชาวไร่อ้อยอย่างเต็มตัวในปี 2533 บนพื้นที่ 8 ไร่ ด้วยพันธุ์อ้อยที่ไปขอมาปลูก 

“พ่อไปขออ้อยพันธุ์มากอสจากกุมภวาปีมาปลูก สมัยนั้นละแวกนี้ปลูกพันธุ์มากอสกันเยอะ ปลูกมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัว จากพื้นที่ 8 ไร่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 400 กว่าไร่ ทั้งพื้นที่ตัวเองและเช่าปลูก เน้นพื้นที่แปลงใหญ่เพื่อจัดการได้ง่าย และปลูกอ้อย 3 พันธุ์ คือ ขอนแก่น 3 ภูเขียว 1 และภูเขียว 2” 

จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ 

จากการทำไร่แบบดั้งเดิมสู่การใช้นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ ระยะเวลากว่า 30 ปีของการเป็นชาวไร่ พ่อเหี้ยมเริ่มต้นและมีวิถีชาวไร่แบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน คือการทำไร่อ้อยโดยพึ่งพาแรงงานคนร้อยเปอร์เซ็นต์  จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้พ่อไม่ใช่ชาวไร่อ้อยธรรมดาอีกต่อไป

“สมัยก่อนใช้แรงงานคนทำทุกอย่าง กว่าจะหาแรงงานได้แต่ละรอบ ลำบากมาก ทั้งหายาก ทั้งเงื่อนไขเยอะ พอได้คนมาทำงานก็โดนโกงสารพัด บางทีโกงจำนวนท่อนอ้อย บางทีโกงจำนวนมัด ที่เจ็บปวดจนแทบร้องไห้และทำให้ต้องตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่คือ หาคนงานได้ จ่ายเงินเรียบร้อยและตกลงจะมาทำงาน แต่สุดท้ายเขาไม่มากันเลย ส่งแต่ข้าวสารมาหลอกเราว่าคนจะตามมา ครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้พ่อตัดสินใจลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมาทำงานในไร่แทนคน”

เลือกทำไร่อ้อยสมัยใหม่อย่างมีแบบแผนตามคำแนะนำของโรงงาน

เมื่อพ่อเหี้ยมเจ็บแล้วจำ จนต้องตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการทำไร่โดยพึ่งพาอุปกรณ์ จังหวะนั้นเองพ่อเหี้ยมได้รู้จักกับโรงงานน้ำตาลของมิตรผล ที่เปิดโอกาสให้พ่อได้ไปศึกษาดูงานทั้งดูแปลงสาธิต และดูเครื่องมือของโรงงาน ซึ่งจุดประกายให้พ่อเหี้ยมลงทุนเครื่องจักรกับโรงงาน จากรถตัด 1 คันสู่อาณาจักรไร่อ้อยที่ครบครันด้วยเครื่องมือ

“พ่อไปดูงานแปลงสาธิตของโรงงาน ไปดูเครื่องไม้เครื่องมือของเขา มันทันสมัยมาก อยากทำให้ได้เหมือนโรงงาน สิ่งที่เราเห็นคือ โรงงานเขาปลูกอ้อยเว้นระยะ 1.65 เมตร แต่ของพ่อปลูกห่างแค่ 1-1.2 เมตร ถ้าจะใช้เครื่องมือแบบโรงงานมันแคบเกินไป รถเข้าไปทำงานไม่ได้ โรงงานเลยแนะนำให้พ่อเว้นระยะเพิ่มให้ห่างขึ้น ครั้งแรกที่ทำเสียดายมาก เพราะระยะมันห่างเกินไป เสียที่ไปเยอะ แต่พอผลิตออกมากลับตรงกันข้าม กับสิ่งที่เราเสียไป รายได้เราเพิ่มขึ้น และไว้ตอได้เยอะขึ้นด้วย”

พ่อเหี้ยมกล่าวว่า “ปัจจุบันที่ไร่มีเครื่องมือเกือบครบถ้วนแล้วนะ มีรถตัด 2 คัน เครื่องสางใบ 2 เครื่อง BIN 1 เครื่อง รถกล่องสิบล้อ 4 คัน รถแทรกเตอร์ 185 แรง 1 คัน / 108 แรง 1 คัน /24 แรงอีก 3 คัน ช่วงแรกที่มีรถตัดคันเดียว พ่อเอาไปช่วยไร่อื่นเขาตัดด้วย ทุกคนดีใจมาก ตัดแทบไม่ทัน เลยตัดสินใจเพิ่มอีกคัน จะได้ทำงานได้ทันเวลา”

เมื่อปลูกอ้อยแบบสมัยใหม่ อ้อยตอคือกำไรที่ได้ตามมา

พ่อเหี้ยมเล่าว่า ช่วงแรกที่ตัดสินใจเว้นระยะห่างตามที่โรงงานแนะนำ รู้สึกเสียดายพื้นที่มาก แต่สิ่งที่ได้กลับคือมาคือ กำไรจากอ้อยตอที่ไม่คาดคิดว่าจะมากมายขนาดนี้ 

“แต่ก่อนปลูกอ้อยเว้นระยะนิดเดียว 2-3 ปีต้องโละตอทิ้ง แต่พอร่องห่างเว้นระยะ 1.65 เมตร ไว้ตอได้ 7-8 ตอ จัดการก็ง่าย ได้ผลผลิตดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝนกับแล้งด้วยนะ พ่อเคยได้ผลผลิตอ้อยตอมากที่สุดเฉลี่ย 11 ตันต่อไร่ อ้อยปลูกใหม่ได้ปีแรก ช่วงเดือนตุลาคมได้ 16-18 ตันต่อไร่ อ้อยตอแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไร ถ้าเราเตรียมแปลงดีตั้งแต่แรก หญ้าก็ไม่เยอะ เข้าจัดการง่าย ไว้ตอได้นาน แต่ต้องมีเทคนิคดูแลนิดหน่อย”

พ่อเหี้ยมเปิดเผยถึงเทคนิคการดูแลอ้อยตอที่ทำให้ไว้ตอได้ถึง 7-8 ตอ ด้วยหลักการที่ปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองคือ “เอาใบอ้อยออกให้หมด ฉีดยาคุมแห้ง แล้ววางสายน้ำหยด อ้อยตอจะขึ้นดี งอกดี แต่ต้องทำภายใน 7 วันหลังตัดอ้อย ถ้าทำได้ทันที นั่นแหละคือกำไร”

ซึ่งเทคนิคนี้พ่อเหี้ยมไม่เคยหวงวิชา ยินดีแนะนำเพื่อนชาวไร่คนอื่นให้ลองทำ และลองปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพราะภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน 

ปรับหลักการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ยึดคติ “ลงมือทำให้เต็มที่ ผลจะออกมาดีตามที่หวัง”

พื้นที่หนองเรือของพ่อเหี้ยม จำปาหวาย มักประสบปัญหาไฟป่าลามเข้าไร่อ้อย สร้างความเสียหายแก่ชาวไร่เป็นประจำ แม้ปัจจุบันจะมีรถดับเพลิงของเทศบาลคอยช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ แต่ความเสียหายจากอ้อยไฟไหม้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เป็นสิ่งที่ชาวไร่อ้อยหนองเรือต้องการ

ในส่วนของพ่อเหี้ยม ที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานมาตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี เลือกใช้วิธี ตัดอ้อยสด เก็บใบอ้อยส่งเข้าโรงงาน เพื่อไม่ให้มีใบอ้อยเหลือในแปลงอ้อย เพราะพื้นที่ของพ่อเหี้ยมเป็นดินร่วนปนเหนียว หากทิ้งใบอ้อยไว้คลุมดิน เมื่อฝนตก ใบอ้อยจะย่อยสลายไม่หมด ทำให้มีใบอ้อยแห้งในไร่ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีเมื่อมีไฟป่าลามเข้ามา พ่อเหี้ยมจึงปรับหลักการทิ้งใบคลุมดิน เป็นการเก็บใบอ้อยส่งขายเป็นเชื้อเพลิงเข้าโรงงาน ด้วยเครื่องเก็บใบอ้อยที่พ่อมี นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อมีไฟป่า สิ่งที่ได้มาคือกำไรในการขายใบอ้อยที่มีมูลค่ามากมาย

“ไร่พ่อไม่เคยเผาอ้อยเลย มีแต่ไฟป่าไหม้ลามลงมา ผลผลิตอ้อยไฟไหม้ที่ลามมา กับอ้อยที่ตัดเอง แตกต่างกันมาก ทั้งค่าความหวาน และความเสียหายเพราะเราตัดส่งโรงงานไม่ทัน โดนปรับตันละ 20 บาทเพราะไฟไหม้อีกด้วย เราก็เสียดายเงินตรงนั้น แต่มันคือไฟป่า เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่พอจะควบคุมได้คือ ลดความเสี่ยงเสียหาย คือไม่ปล่อยให้มีใบอ้อยแห้งในไร่ เน้นการฉีดยาคุมแห้ง แล้ววางสายน้ำหยด หลังตัดอ้อยไม่เกิน 7 วัน รายได้จากการขายใบอ้อยพ่อได้เงินตันละ 1,000 บาท ปีที่แล้วได้ 1,000 กว่าตัน ได้เงินเท่ากับปลูกอ้อยเพิ่ม 1 ตัน พอใจมาก ๆ ครับ”

จากชาวไร่ธรรมดาสู่หัวหน้าผู้รับเหมาปลูกอ้อยครบวงจร

เมื่อมีเครื่องมือครบครัน พ่อเหี้ยมได้เริ่มไปให้บริการเพื่อนชาวไร่แปลงอื่น และแนะนำให้เก็บใบอ้อยขายให้กับโรงงาน ซึ่งสร้างความยินดีให้แก่เพื่อนชาวไร่เป็นอย่างมาก ด้วยความพร้อมของเครื่องมือ และความชำนาญของทีมงาน ที่พร้อมบริการตั้งแต่เตรียมดิน ปลูกอ้อย กำจัดวัชพืช ให้ปุ๋ย ตัดอ้อย และเก็บใบ ทำให้ธุรกิจงานรับเหมาในไร่ครบวงจรของพ่อเหี้ยม ต้องมีกำลังสนับสนุนสำคัญ แน่นอนว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่ใครที่ไหน คือลูกสาวลูกชายที่พร้อมสานต่อธุรกิจของพ่อเหี้ยมนั่นเอง

คุณแป๋ม สุธาสินี จำปาหวาย และน้องชาย คือกำลังหนุนสำคัญของพ่อเหี้ยม ที่คอยดูแลงาน จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ช่วยบริหารจัดการงานในไร่อ้อย ทั้งกิจกรรมปลูก บำรุง ส่งเสริมเพิ่มผลผลิตบริหารจัดการรถตัด และงานในไร่อื่น ๆ  ซึ่งทายาททั้งสองคนของพ่อเหี้ยมพร้อมขานรับเต็มที่เพื่อสานต่องานในไร่ และตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่ทำไร่ออกไปเรื่อย ๆ  ตามกำลังที่มี

แม้สถานการณ์จากวิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกประสบอยู่ในขณะนี้ ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่า การดำรงชีวิตแบบปกติจะกลับมาได้เหมือนเดิมหรือไม่ แต่หลาย ๆ คนรวมถึงครอบครัวพ่อเหี้ยมเองต่างยังมุ่งมั่นตั้งใจทำตามหน้าที่ตามวิถีชีวิตของตนเอง พ่อเหี้ยมกล่าวว่า พ่อโชคดีที่อยู่ในพื้นที่ของตนเอง มีกิน มีอยู่ โดยไม่ต้องเสี่ยงเดินทางไปในพื้นที่แออัด เพราะนอกจากปลูกอ้อยแล้ว พ่อเหี้ยมยังจัดสรรพื้นที่ทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักที่ทั้งกินทั้งขายได้ยืนยาว นับว่าเป็นความโชคดีในความมุมานะที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อเหี้ยมและครอบครัว ที่ทำให้ชาวไร่ธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่เริ่มต้นจากการขอพันธุ์อ้อยคนอื่นมาปลูก สู่ชาวไร่อ้อยเจ้าของธุรกิจรับเหมาปลูกอ้อยครบวงจร ต้นแบบความสำเร็จแก่เพื่อนชาวไร่อีกหลายคน

ข่าวปักหมุด