หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกท่าน คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้ มีเรื่องราวของหญิงเก่งแห่งตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ชาวไร่จากโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรีที่พาครอบครัวชาวนาในอดีตก้าวสู่เถ้าแก่ไร่อ้อยที่ประสบความสำเร็จและวางรากฐานอาชีพชาวไร่ที่มั่นคงส่งต่อให้รุ่นลูกได้เข้ามาพัฒนาร่วมกัน สู่การทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืนค่ะ

คุณพัฒนฉัตร พวงเงิน หรือแม่ยุพา มิตรชาวไร่หญิงเก่งวัย 65 ปี ได้สละเวลาจากการบริหารจัดการไร่อ้อยให้สัมภาษณ์กับทีมงาน เกี่ยวกับเส้นทางการทำไร่อ้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ความมั่นคงในปัจจุบันที่พร้อมส่งต่อให้รุ่นต่อไปได้ดูแล

จุดเริ่มต้นของการทำไร่อ้อย

ก่อนเข้าวงการอ้อย แม่ยุพาเป็นชาวนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก เงินทองที่ได้จากการปลูกข้าวพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แถมพ่วงด้วยหนี้สินที่ไม่จบสิ้น ทำให้แม่ยุพามองหาวิถีใหม่ที่จะสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวและหมดภาระหนี้สินได้

“ทำนาไม่ค่อยได้เงินหรอก มีแต่หนี้สิน พอดีมีคนชวนให้ลองปลูกอ้อย ปลูกส่งให้โรงงานมิตรผลนี่แหละ แม่ก็ลังเลนะ ตอนแรกก็กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่กล้าตัดสินใจ แต่สุดท้ายก็ลองทำ แม่เริ่มปลูกอ้อยด้วยพื้นที่ 5 ไร่ของตัวเอง ตอนนั้นอายุประมาณ 30 ปี จำได้ว่าลูกชายอายุประมาณ 3 ขวบ ทำก็ไม่ค่อยเป็นหรอกนะ ค่อย ๆ ทำไป เรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง ถามจากคนอื่นบ้าง พอทำช่วงแรกก็ได้เงินมาใช้หนี้ ก็รู้สึกดีขึ้นมาก เลยเริ่มใส่ใจไร่มากขึ้นและเรียนรู้ที่จะทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้นต่อ ๆ ไป”

เส้นทางสู่การทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

จุดเปลี่ยนจากการทำไร่อ้อยแบบดั้งเดิมสู่การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มของแม่ยุพา มีลักษณะคล้ายคลึงกับมิตรชาวไร่รายอื่น ๆ ของมิตรผล คือการมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานต้นแบบการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มที่ด่านช้างกับภูเขียว พร้อมกับได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของมิตรผล เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีทำไร่อ้อยสู่รูปแบบใหม่ที่เน้นการจัดการแปลงให้เครื่องจักรเข้าทำงานได้ เพื่อลดต้นทุน ลดเวลาในการทำไร่

“เดิมทีแม่รู้จักมิตรผลอยู่แล้ว เพราะทำอ้อยเข้าโรงงาน แต่ไม่ได้เข้าโควต้าใหญ่อะไรมากมาย จากนั้นมีโอกาสไปดูแปลงต้นแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม แล้วนำกลับมาปรับใช้ในไร่อ้อย สิ่งที่แม่เริ่มเปลี่ยนคือ เปลี่ยนระยะร่อง เพราะเมื่อก่อนอ้อยแม่เป็นอ้อยไฟไหม้ ระยะร่องจะแคบ แค่ 1.10-1.20 เมตร เราจึงเริ่มปรับระยะร่องเป็น 1.50 เมตร แล้วนำรถตัดเข้ามาใช้ แต่ก็ยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เลยปรับเป็น 1.65 เมตร ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ”

ปัจจุบันไร่อ้อยของแม่ยุพาเป็นอ้อยสดรถตัดร้อยเปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่เพียง 5 ไร่ในวันนั้น สู่ 200 ไร่ในวันนี้ แม้จะไม่ใช่ที่ตัวเองทั้งหมด แต่นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความมุมานะที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอาชีพเมื่อ 35 ปีที่แล้วของแม่ยุพา ไม่ได้เสียเปล่าเลยจริง ๆ

003.jpg

เคล็ดลับการทำไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตดี

แม้การทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม จะมีแบบแผนที่วางไว้ชัดเจน แต่การนำมาปรับใช้งานจริงในแต่ละพื้นที่มักแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยของไร่อ้อยและผู้ดูแล สำหรับแม่ยุพาเอง นอกจากการนำเครื่องจักร เครื่องปลูก รถตัด เข้ามาใช้งานและจัดการแปลงแล้ว เคล็ดลับในการดูแลจัดการอ้อยให้ได้ผลผลิตดีของแม่ยุพาคือ ใส่ใจเรื่องวัชพืช

“แม่จะให้ความสำคัญกับการดูแลกำจัดวัชพืชมาก ๆ เพราะสังเกตแล้วว่าถ้าหญ้ารก อ้อยจะขึ้นไม่ค่อยได้ผลผลิตดี เทคนิคของแม่คือ เราทำอ้อยสด รดตัด จะเหลือใบอ้อยบางส่วนไว้คุมวัชพืช จากนั้นก็ให้น้ำ พอให้น้ำเสร็จดินเหมาที่รถไถจะลงได้ แม่จะนำเครื่องจักรพรวนพร้อมฝังปุ๋ยทันที ถ้าพรวนแล้ววัชพืชยังไม่หมด ก็ฉีดยาคุมด้วยสารเคมีบ้างนิดหน่อยเพื่อไม่ให้หญ้าขึ้น ถ้ามีหลุดรอดขึ้นมาบ้าง ก็ใช้แรงงานคนถาง ตัดอ้อยสดนี่คุ้มมาก ๆ นะ ใบขายได้ด้วย ได้ค่าอ้อยสดด้วย ที่เหลือก็คุมวัชพืช”

นอกจากเรื่องวัชพืช แม่ยุพายังเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในไร่อ้อยของแม่ยุพา ใช้วิธีขุดบ่อบาดาล โดยใช้พลังงานโซล่าร์เซลล์ สูบน้ำและให้น้ำอ้อยด้วยระบบน้ำหยดทุกแปลง แม้จะอยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน ก็ต้องวางแผนสำรองน้ำเพื่อรองรับเมื่อไม่มีน้ำ ซึ่งนอกเหนือจากการขุดบาดาลแล้ว แม่ยุพายังมีสระสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในไร่ให้เพียงพอต่อความต้องการของอ้อยอีกด้วย

004.jpg

สร้างอาชีพที่มั่นคงพร้อมถ่ายทอดและส่งต่อให้ลูกหลาน

กว่า 35 ปีที่แม่ยุพาโลดแล่นในวงการอ้อย ลูกชายวัย 3 ขวบของแม่ยุพาในตอนนั้น ปัจจุบันคือหัวเรี่ยวหัวแรงของแม่ ที่คอยช่วยงานในไร่และพร้อมสานต่อร้อยเปอร์เซ็นต์

คุณธนภัท พวงเงิน หรือคุณต้น ทายาทคนเก่งของแม่ยุพา ได้เรียนรู้และซึมซับงานในไร่ตั้งแต่เด็ก และสามารถช่วยงานในสิ่งที่พอจะช่วยได้ตั้งแต่สิบขวบ และเมื่อถึงวัยอันควร คุณต้นได้เข้ามามีบทบาทในไร่อย่างเต็มตัว

“ผมเรียนรู้จากแม่ตั้งแต่เด็ก แม่สอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ช่วยแม่ทำงานตรงนี้มาเรื่อย ๆ ผมมองว่าอาชีพนี้คืออาชีพที่มั่นคง รายได้ดีกว่าทำงานบริษัทอีกครับ นอกจากงานในไร่แล้ว เรามีรถตัด 2 คัน ทำให้สามารถไปรับจ้างตัดอ้อยได้ด้วย ทั้งอ้อยเราอ้อยคนอื่นตัดได้ประมาณ 40,000 ตันต่อปี อนาคตก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ให้ได้ผลผลิตดีและบริหารจัดการให้ง่ายขึ้น ตอนนี้ผมก็ช่วยแม่ดูเรื่องเครื่องจักร ขับรถ อะไรที่เขาอยากให้เราช่วยตรงไหนก็ทำตรงนั้นครับ” คุณต้นกล่าว

นอกจากนี้แม่ยุพายังมีแนวคิดในการพัฒนาไร่อ้อยในอนาคต โดยนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการเกษตรอย่างโดรนเข้ามาใช้งานไร่อ้อย ทั้งโดรนใส่ปุ๋ย ฉีดยา ซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาใช้ในเร็ว ๆ นี้ เพราะโดรนน่าจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานคนที่หายากมากขึ้นทุกวัน สำหรับงานปุ๋ย งานฉีดยา เพื่อช่วยให้การดูแลอ้อยง่ายและสะดวกรวดเร็ว และเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดตามระยะของอ้อย

สุดท้ายนี้ความสำเร็จของผู้หญิงเก่ง หัวใจสิงห์ (บุรี) คนนี้จะไปถึงเป้าหมายไม่ได้หากขาดหัวใจหลักในการทำไร่อ้อย ซึ่งแม่ยุพายึดแนวคิด “ดูแลให้ดี เหมือนเลี้ยงลูก” เพราะอ้อยที่เราปลูก หากเราดูแลเอาใจใส่ดี ผลผลิตที่ได้กลับมาก็ดีตามไปด้วย หากปลูกแล้วทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เหมือนเลี้ยงลูก ก็คงมีเกเรออกนอกลู่นอกทางบ้าง ซึ่งถ้าเป็นอ้อยก็คือไม่เจริญเติบโตเต็มที่นั่นเอง

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

 

 

ข่าวปักหมุด