สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกท่าน คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้ มีตัวอย่างครอบครัวมิตรชาวไร่ ที่ผนึกกำลังครอบครัวสู่ความสำเร็จได้ ด้วยพลังแห่งความรักความสามัคคี จากการเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และจะเติบโตขึ้นต่อไปด้วยพลังของทุกคน
ขอแนะนำให้รู้จัก ครอบครัว “กุมารสิทธิ์” โดยพ่อคำวาน กุมารสิทธิ์พร้อมทายาททั้งสอง คุณต๊ะ-อภิมัญ และคุณแขก-นุชจรี ครอบครัวชาวไร่อ้อยแห่งบ้านศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรค่ะ ซึ่งปัจจุบันคุณพ่อคำวานได้รับการดูแลและส่งอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ
พ่อคำวานเล่าว่า “พ่อเริ่มทำไร่อ้อยประมาณปี พ.ศ.2543 ปัจจุบันอายุ 56 ปี ก็ทำไร่ยี่สิบกว่าปีแล้ว ก่อนทำไร่อ้อย พ่อทำนาและปลูกมันสำปะหลัง ต่อมาปี 2543 มีนักส่งเสริมอ้อยกลุ่มมิตรผลมาแนะนำให้ปลูกอ้อย เลยอยากลองทำดูบ้าง เริ่มทำไร่อ้อยตอนแรก ปลูกเพียง 10 ไร่ ในพื้นที่ของตัวเอง เหลือแบ่งปลูกข้าวบางส่วน ปีแรกที่เริ่มปลูกอ้อย ปรากฎว่าขาดทุน เพราะเรายังทำอ้อยแบบลงมือทำเองทุกอย่าง ขุดเอง ทำร่องเอง ยังไม่พร้อม ยังไม่เก่ง ก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่ประมาณ 2-3 ปี นั่นแหละ จุดเปลี่ยนคือ มีหัวหน้ากลุ่มที่เป็นพ่อตา เขามาถามขอเช่าที่ พูดประมาณว่าถ้าเราไม่ทำต่อ เขาจะเช่าทำเอง พ่อเลยรู้สึกว่าเราต้องสู้ ต้องลุยต่อ”
พ่อคำวานรู้จักการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มอย่างจริงจังจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมที่เข้ามาแนะนำการทำไร่อ้อย
“ก่อนจะมารู้จักเจ้าหน้าที่ส่งเสริม ตอนแรกก็ทั้งทำทั้งท้อ นอกจากของตัวเองก็รับจ้างขึ้นอ้อยตัดอ้อยให้คนอื่นด้วย พ่อเลยมีโอกาสได้ไปตัดอ้อยที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เจอเถ้าแก่ไร่อ้อยที่ไม่หวงวิชา เขาให้ความรู้เรื่องการปลูกอและการดูแลรักษาอ้อยเยอะมาก เล่าให้ฟังตั้งแต่การเลือกพันธุ์ การปลูก เขาสอนพ่อหลายอย่างมาก พ่อเลยนำความรู้ตรงนั้นมาใช้ในไร่ แต่เราไม่พร้อมเรื่องเครื่องจักร พอดีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเขาเข้ามา เขาเห็นว่าพ่อจริงจัง ตั้งใจทำ แต่กังวลเรื่องทุน เขาก็มาสนับสนุนส่วนนี้ให้ ทำให้พ่อเริ่มมีกำลังใจสู้ต่อ”
เมื่อพ่อคำวานได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของมิตรผล ทั้งเรื่องการใช้รถไถ ไถเตรียมดิน เตรียมร่องปลูก การใช้เครื่องปลูกอ้อย แทนการปลูกอ้อยเองทีละร่อง ทำให้ผลผลิตในไร่พ่อคำวานดีขึ้นถึง 60-70% และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ไร่ สู่พื้นที่ปลูกอ้อย 400 ไร่ ทั้งของตนเองและที่เช่าปลูก โดยปัจจุบันครอบครัวกุมารสิทธิ์เปิดโควตาที่ 3,500 ตัน
นอกจากการนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาใช้งานในไร่อ้อย ไม่ว่าจะเป็นรถปลูกอ้อย รถไถ รถตัดแล้ว ไร่อ้อยของครอบครัวกุมารสิทธิ์มีเคล็ดลับเรื่องการปรับปรุงดิน ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้อ้อยเจริญเติบโตดี
“พ่อเน้นการบำรุงดิน ตรงไหนไม่ดี เราก็ปรับปรุง โดยเฉพาะเศษใบอ้อยที่เหลือจากรถตัดก็นำมาคลุมดิน ที่บ้านเราเป็นดินทราย บางแปลงก็ต้องใช้วีแนสมาราด ปรับปรุงให้ดินดีขึ้นดิน บางแปลงดูแล้วต้องใช้มูลสัตว์ เราก็ใส่ปุ๋ยขี้ไก่เข้าไป เรื่องน้ำก็สำคัญ เราก็ทำบ่อบาดาลในพื้นที่ของเราเพื่อให้อ้อยได้น้ำเพียงพอต่อความต้องการ พ่อก็พยายามทำเต็มที่ตามกำลังที่เรามี”
สำหรับเรื่องเคล็ดลับการปลูกอ้อย คุณต๊ะ อภิมัญ ลูกชายของพ่อคำวานเสริมว่า
“ทำไร่สมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก เมื่อก่อนเราไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์อะไร ก็ทำค่อนข้างลำบาก ส่วนใหญ่จะทำไม่ทัน ปลูกไม่ทัน สมัยนี้มีเครื่องจักร เครื่องมือพร้อมมากขึ้น เราก็ทำไร่ได้ทันเวลา โดยเฉพาะเรื่องปรับปรุงดิน ดินตรงไหนสภาพไม่ดี เราก็ปรุงดิน เตรียมดินให้พร้อมปลูก เมื่อเราพร้อมตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือเตรียมดิน ขั้นตอนต่อ ๆ ไป ก็จะพร้อมตามไปด้วย เครื่องมือปัจจุบันมีประโยชน์มาก เพราะทำให้เราปลูกอ้อยได้ทันเวลา สมัยก่อนต้องรอรถ รอคน มีแต่ขาดทุนครับ”
ไร่อ้อยของครอบครัวกุมารสิทธิ์ ประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งเพราะเครื่องมือการเกษตร เพราะหากไม่พึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้ จะทำให้การทำไร่ถูกจำกัดด้วยเวลา
“พอเรามีเครื่องมือ เครื่องยนต์ของเราเอง เราทำทุกอย่างได้เต็มที่ เรามีรถตัด มีเครื่องตีใบทำให้เราตัดอ้อยสดได้ 100% เหลือใบไว้คลุมดินปรุงดินได้ด้วย”
คุณต๊ะและคุณแขก ทายาทของพ่อคำวานเสริมว่า “ปัจจุบันเรามีเครื่องปลูก ริปเปอร์ รถคีบ รถไถ รถตีใบ รถปั่น และคูโบต้า 4 คัน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ใช้เวลากว่า 20 ปี ที่พ่อเริ่มจากไม่มีอะไร เราจำได้ว่ารถไถคันแรกพ่อซื้อปี พ.ศ. 2553 ออกรถตอนแรกก็ล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีแม้เงินเติมน้ำมัน เพราะหลาย ๆ อย่างยังไม่ลงตัว แต่ตอนนี้เรามีรถไถเอง เราก็ดีขึ้นมาก ไถเตรียมดินได้สมบูรณ์แบบ อ้อยก็งาม สำคัญมากคือการเตริยมดิน ถ้าไม่เตรียมดินมีโอกาสขาดทุนสูงมาก พอเรามีเครื่องมือ และวางแผน เราก็รู้ว่าช่วงเดือนไหนต้องทำอะไร สามารถดูแลตั้งแต่ปลูกจนตัดอ้อยเข้าหีบได้ตามเวลา”
ครอบครัวกุมารสิทธิ์ ทำไร่อ้อยร่วมกันด้วยความรักและสามัคคี ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือทำงานของครอบครัว ตามกำลังและหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลผลิตแต่ละปีสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ครอบครัว
“ตอนนี้พ่อยังมีกำลังดี พ่อตั้งใจจะสร้างทุกอย่างไว้ให้ลูก ๆ ทำให้มั่นคงไว้ให้มากที่สุด เพื่อลูกหลานของเราจะได้สบายและแข็งแกร่งขึ้น ที่ทำทุกอย่างไม่ได้เพื่อตนเอง แต่พ่อทำเพื่อลูก ๆ เพื่อครอบครัวของเรา” พ่อคำวานกล่าวถึงพลังจากความเป็นพ่อที่ตั้งใจสร้างไร่อ้อยแห่งนี้เพื่อให้เป็นความยั่งยืนที่จะดูแลครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
ซึ่งคุณทายาททั้งสองทั้งคุณต๊ะและคุณแขกกล่าวถึงความภูมิใจต่ออาชีพชาวไร่อ้อยที่พ่อสร้างขึ้นมาว่า
“ผมคลุกคลีกับงานในไร่ของพ่อมาตั้งแต่เด็ก จนโตขึ้น สามารถช่วยงานพ่อได้ ผมก็ตั้งใจเข้ามาทำงานตรงนี้เต็มที่ ทั้งช่วยเตรียมดิน ขับรถ เตรียมแปลง ทำทุกอย่างที่จะทำได้ เพราะพ่อดูแลเรามาแล้ว อนาคตก็ต้องสานต่อพ่อ และผมตั้งใจจะให้ไว้ให้ลูกหลานของพวกเราสานต่อกันไปเรื่อย ๆ ” คุณต๊ะกล่าว
นอกจากนี้คุณนุชจรีหรือคุณแขกยังกล่าวเสริมด้วยความภูมิใจว่า
“ในฐานะลูกสาว เราก็ช่วยงานในไร่เต็มที่ทุกอย่าง ช่วยดูแลคนงานตัดอ้อย หว่านปุ๋ย ดูเรื่องบัญชีการเงินด้วย อาชีพนี้เป็นอาชีพหลักที่เลี้ยงตัวเรา เลี้ยงครอบครัวเราได้ ไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้มากขนาดนี้ ทำไร่อ้อยจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่เรารักตรงนี้ เราก็ไม่รู้สึกว่ายากอะไร มีอะไรทุกคนในครอบครัวก็ช่วยเหลือกัน ปรึกษาหาทางออกร่วมกัน มันเป็นอาชีพที่ทำให้เรามาได้จนถึงทุกวันนี้ ลืมตาอ้าปากได้ก็เพราะปลูกอ้อย อนาคตยังไงก็ทำต่อแน่นอน”
สำหรับไร่อ้อยของครอบครัวกุมารสิทธิ์ งานในไร่ทุกคนในครอบครัวสามารถช่วยเหลือกันได้ ถึงแม้ทำงานกันหลายคน แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงแสดงออกถึงความสามัคคีของครอบครัว ทำให้จากก้าวเล็ก ๆ เพียง 10 ไร่ในครั้งแรก สู่ 400 ไร่ในปัจจุบันอย่างมั่นคงค่ะ