วันนี้เรามีเรื่องราวดี ๆ ของ เกษตรกรท่านหนึ่งที่กล่าวว่า “มิตรผล กับ มิตรชาวไร่” ไม่ใช่ “นายทุน กับ เกษตรกร” แต่จะเป็นอะไรนั้น ต้องไปติดตามในบทความนี้ค่ะ
สมิง ภูฆัง เกษตรกรจากอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มต้นชีวิตการเป็นชาวไร่เมื่อราว ๆ 30 ปีที่แล้ว ด้วยการทำไร่อ้อยควบคู่กับมันสำปะหลัง นำผลผลิตจากไร่อ้อยที่ได้ส่งไปยังโรงงานที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพราะค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้คุณสมิงแบกรับภาระไม่ไหว จนเมื่อโรงงานมิตรผลเข้ามาในพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น
“โรงงานมาเปิดที่นี่เป็นปีที่ 2 จึงเข้าไปขอโควตา แรก ๆ ยังไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นอะไร แต่ดีที่ทางโรงงานเขาส่งเสริม ให้คำแนะนำทุกอย่าง ตอนนั้นขอโควตาไป 1,000 ตัน เพราะว่ามีรถไถลากคันเดียว แต่พอหมดปีแล้วส่งได้ 1,800 ตัน แรก ๆ ทางโรงงานเขาก็อนุโลมให้ เพราะรถไถวิ่งช้า มาถึงแล้วก็เข้าชั่งไปดั๊มเลย เขาก็ให้ลง”
นับจากนั้นมิตรภาพระหว่างมิตรชาวไร่กับโรงงานก็เกิดขึ้น ลุงสมิงเลือกที่จะส่งผลผลิตในทุก ๆ ปีให้กับทางมิตรผลแต่เพียงเจ้าเดียวมาจนถึงทุกวันนี้ รวมระยะเวลาแล้วก็กว่า 30 ปี
“ที่ตัดสินใจเลือกส่งโรงงานมิตรผลโรงงานเดียวก็เพราะว่าเขาไม่ปล่อยปละละเลยเรา จะมีพนักงานมาคอยสอบถามตลอด ว่าเราอยากได้เครื่องมือตัวนี้ไหม อยากได้รถไถเพิ่มอีกไหม หรือมีอะไรดี ๆ เขาก็จะแนะนำบอกต่อ แล้วอีกอย่างเราใช้เกี๊ยวเขา บางปีเราก็ต้องเผื่อไว้บ้าง ยิ่งถ้าปีไหนฝนแล้งเยอะ ๆ ใช้หนี้ไม่หมด มันก็ทำให้คุยกันง่าย ที่สำคัญเกี๊ยวก็ออกไวด้วย เห็นเพื่อนบางคนที่เขาส่ง 2 โรงงาน เขาต้องรอพิจารณาก่อน บางทีของผมใช้หมดไปแล้ว ของเขายังไม่ออกเลยก็มี”
และเพราะความสัมพันธ์ที่มากกว่าแค่การทำธุรกิจ มิตรชาวไร่อย่างคุณสมิงจึงได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับการทำไร่อ้อยของเขาได้เป็นอย่างดี
“ทีมส่งเสริมของทางโรงงานเคยพาไปดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย ก็เอาเรื่องร่องระเบิดดานมาใช้ เพราะอ้อยถ้าได้ระเบิดดานแล้วก็ปลูกให้ร่องห่างเอาไว้ ผลผลิตก็จะดี แล้วก็ได้มารู้จักกับโครงการโมเดิร์นฟาร์ม แต่ก็ยังทำได้ไม่ 100% นะ เพราะแหล่งน้ำผมไม่พร้อม เลยทำไร่แบบเก่าควบคู่ไปกับการทำโมเดิร์นฟาร์ม ก็เอาความรู้จากโมเดิร์นฟาร์มมาปรับใช้กับการทำไร่แบบเก่า ประยุกต์ใช้กับของที่เรามี ซึ่งมันง่ายกว่า และไม่ต้องซื้อเครื่องไม้เครื่องมือใหม่หมดด้วย”
คุณสมิงเล่าว่า ความช่วยเหลือจากทางโรงงานนั้นไม่ได้มีเพียงแค่องค์ความรู้เท่านั้น แต่ยังมีความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมให้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นตามลำดับ
“บางคนบอกว่าโรงงานชอบเอาเปรียบชาวไร่ โดยเฉพาะเรื่องเงิน ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าจะไปว่าเขาอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะทางโรงงานเองเขาก็ต้องดูกำลังส่งด้วย อย่างเกี๊ยวนี่บางปีเขาก็ให้เต็มบ้างไม่เต็มบ้าง นั่นคือ เขาพิจารณาจากหนี้ของเรา เพราะกลัวว่าหนี้สินของเราจะไม่หมด ทุกวันนี้ถ้าเขาไม่เอาทุนมาให้ก็ไม่มีปัญญาหรอกครับ ไหนจะซื้อรถสิบล้อ รถคีบ รถตัด ให้ซื้อเงินสดก็คงไม่ไหว
กว่า 30 ปีที่ส่งอ้อยให้กับทางมิตรผล ผมได้เงินมาก็ซื้อรถบ้าง ซื้อที่บ้าง อย่างที่ดินนี่ก็เริ่มจาก 20 ไร่ ก็ซื้อเพิ่มมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้มีรวม ๆ 150 ไร่ ก็แบ่งให้ลูก ๆ กันไป หรืออย่างซื้อรถเนี่ย อยากได้รถอะไร มันก็คุยกันง่าย เพราะเขาไว้ใจเรา ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะเราซื่อสัตย์กับเขา ไม่ใช่ว่าพอขอเกี๊ยวได้เยอะปุ๊บ แล้วแอบเอาอ้อยไปโน่นไปนี่ ทางโรงงานก็เลยมีสิ่งดี ๆ มาให้เราเรื่อย ๆ
จากความช่วยเหลือที่ได้รับมาโดยตลอดนี้เอง ที่ทำให้เกิดเป็นความผูกพันระหว่างคุณสมิงและโรงงานมิตรผล ความผูกพันที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวไปโดยปริยาย
“การที่มิตรผลมีทีมส่งเสริมเข้ามาช่วยให้ความรู้ให้คำแนะนำต่าง ๆ มาโดยตลอด ทำให้ผมรู้สึกว่าเขาเป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา ฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ วนเวียนกันมา เวลามีความรู้อะไร มีโครงการอะไร มีนโยบายอะไร เขาก็มาเล่าสู่ฟัง มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว ตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกอุ่นใจว่ามีคนคอยสนับสนุนเรา”
วันนี้คุณสมิงคือหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นว่า ผลกำไรในการทำธุรกิจที่ได้มานั้นไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองหรือผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่เขาได้แถมกลับมาคือมิตรภาพดี ๆ นั่นเองค่ะ