- ข่าวสารมิตรชาวไร่
- พฤ., 8 ธ.ค. 65
สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ ช่วงนี้ข่าวการทำงานอย่างหนักของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) กำลังแพร่หลายทุกช่องทางเลยนะคะ ทั้งจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ แม้กระทั่งการแชร์การโพสต์ข้อมูลจากเหยื่อแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์โดยตรงผ่านช่องทางโซเชียลของตนเอง ทั้งเฟสบุค ไอจี ทวิตเตอร์ และไลน์ เป็นต้น
ทั้งนี้มีข้อมูลจาก ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ สอท.รายงานว่า ตัวเลขความเสียหายปี 2564 ของเหยื่อที่เข้าแจ้งความกับ บช.สอท.กว่า 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเห็นว่า ความเสี่ยงจากการอาละวาดของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์นี้ อาจเกิดความเสียหายต่อพี่น้องชาวไร่ได้ เพราะปัจจุบันข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์ของเราถูกเปิดเผยได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเรามาแนะนำวิธีที่จะรับมือและรู้ทันการทำงานของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์เพื่อป้องกันตัวเองจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภทนี้กันค่ะ
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” (Call Center) กันก่อนค่ะ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ คือ ขบวนการต้มตุ๋นทางโทรศัพท์ เพื่อหลอกให้เจ้าของบัญชีโอนเงิน หรือดูดเงินออกไปจากบัญชี ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักใช้ประโยคเดิม ๆ เพื่อหลอกเยื่อแต่ละราย โดยมีลักษณะคำถามหรือการพูดคุย ดังนี้
ซึ่งช่วงนี้การแอบอ้างเป็นพนักงาน DHL โทรมาแจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งออกนอก แล้วจะโอนสายให้แจ้งความกับตำรวจปลอม แล้วตำรวจปลอมจะขู่เอาเงิน กำลังอาละวาดทั่วประเทศ ดังนั้นเราควรจดจำวิธีการ ที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งมี 7 ข้อสำคัญคือ
1.หลอกขายของออนไลน์ แต่ไม่ส่งสินค้าจริง หรือส่งสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ตกลง หรือไม่มีคุณภาพมาให้ มิจฉาชีพจะนำภาพสินค้าจาก อินเทอร์เน็ต หรือภาพจากผู้ใช้งานอื่นที่ขายสินค้าจริง นำมาโพสต์ขายในช่องทางตัวเอง เพื่อหลอกให้ลูกค้า หลงเชื่อว่ามีสินค้านั้นอยู่จริง โอนเงินสั่งซื้อ แต่จะไม่ส่งสินค้า หรือส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลง
2.เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยมหาโหด มีผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อแก๊งค์ปล่อยเงินกู้ออนไลน์ กลุ่มคนร้ายจะหลอกว่ามีบริการเงินกู้ คิดอัตราดอกเบี้ย ราคาถูก ผ่อนจ่ายระยะยาว แต่เมื่อทำสัญญาแล้ว ไม่ได้รับเงินกู้ตามจำนวนที่ตกลง อีกทั้งดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย
3.เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) จะต่างจากกรณีข้างต้น คือ คนร้ายจะหลอกผู้เสียหายว่าก่อนได้รับเงินกู้จะต้องเสียค่าบริการ ค่ามัดจำ หรือค่าดำเนินการต่าง ๆ ให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เรื่อย ๆ จนสุดท้ายไม่ได้รับเงินกู้จริงตามที่กล่าวอ้าง
4.หลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหายลงทุนต่าง ๆ เช่น ลงทุนธุรกิจ หรือลงทุนแชร์ลูกโซ่ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะเสนอผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก ได้เงินไว แรก ๆ อาจจะได้รับผลจริง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ และร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากขึ้นจะเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่ให้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้
5.หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มิจฉาชีพจะหว่านล้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุน หรือเล่นการพนันออนไลน์ หากท่านถูกโกง จากการพนันออนไลน์แล้วอาจไม่สามารถแจ้งความหรือดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้
6.โรแมนซ์สแกม หลอกให้รัก หลอกให้โอนเงิน กลุ่มมิจฉาชีพจะทำงานเป็นขบวนการ โดยจะใช้รูปภาพ และโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติที่ดูดีมีฐานะ ทักมาคุย สร้างความสนิทสนม จากนั้นจะหลอกผู้เสียหายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จะส่งของมาให้ หรือหลอกให้ลงทุน ฯลฯ ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้เป็น จำนวนมาก
7.ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะส่งข้อความต่าง ๆ เช่น ท่านได้รับความ ช่วยเหลือต่าง ๆ ท่านเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล หรือ แม้กระทั่งหลอกว่าเป็นลิงก์จากหน่วยงาน หรือธนาคาร ให้ผู้เสียหายกดลิงก์เข้าไปเพื่อตรวจสอบข้อมูล แต่เมื่อกดลิงก์เข้าไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะแฮกข้อมูลในโทรศัพท์ หรือบัญชีธนาคาร ทำให้สูญเงินไปทันที
การรู้ทันและตั้งสติทุกครั้งเมื่อได้รับโทรศัพท์จากเบอร์แปลก ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งกวาดล้าง อาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด แต่การรู้เท่าทันวิธีการและป้องกันตนเองป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งนี้หากใครที่พบเบาะแส หรือเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่สายด่วน PCT 1599 หรือ บช.สอท. 1441 ตลอด 24 ชม. หรือสายตรง 08-1866-3000 หรือ http://www.pct.police.go.th
ที่มาข้อมูล-ภาพ