แม้อ้อยจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของไทย ที่เกษตรกรปลูกกันมาอย่างยาวนาน แต่การปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตดี โดยเฉพาะเป้าหมาย 20 ตันต่อไร่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นใคร ที่มีเทคนิคและมีหลักในการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตสูงสุด ซึ่งมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอแนะนำ 5 กิจกรรมหลัก ซึ่งเป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรพิชิตเป้าหมายมากกว่า 20 ตันต่อไร่ ดังนี้
การจะปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตสูง และต้นทุนต่ำ จะต้องมีการจัดการที่ทันเวลา เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ยิ่งจัดการได้ช้าจะเกิดผลผกระทบต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของอ้อย ทั้งยังต้องเพิ่มต้นทุนการจัดการ แทบทุกขั้นตอนการปลูก และบำรุงรักษาอ้อย จึงต้องรีบทำภายในกรอบเวลา
เช่น การเตรียมดินปลูกอ้อยข้ามแล้ง ต้องรีบทำทันทีหลังจากหมดฝน และรถแทรกเตอร์ลงแปลงได้ เพื่อให้เก็บความชื้นไว้ในดินให้มากที่สุด ถ้าจัดการได้ไม่ทันเวลา ดินจะสูญเสียความชื้นไปมากจะแห้งและไถได้ไม่ละเอียด อาจต้องเพิ่มรอบการไถ หรือให้น้ำเป็นการเพิ่มต้นทุน ดินมีความชื้นน้อยอ้อยที่ปลูกก็จะงอกไม่ดีทำให้จำนวนลำต่อไร่น้อย ผลผลิตอ้อยต่ำ
ต่อมาคือการปลูกถ้าเตรียมดินได้ดี และปลูกได้ไม่ทันเวลา เช่น ตัดพันธุ์อ้อยทิ้งไว้นาน ความงอก ท่อนพันธุ์ก็จะเสื่อมลง งอกน้อย ผลผลิตต่ำหรือถ้าต้องให้น้ำ ปลูกแล้วไม่สามารถให้น้ำได้ทันที ทิ้งไว้นานก็จะทำให้ความงอกต่ำ การจัดการวัชพืชถ้าไม่จัดการให้ทันเวลาปล่อยให้วัชพืชโต แย่งอาหารอ้อยมากเกินไป จะทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง การใส่ปุ๋ยถ้าล่าช้ามากจนเลยช่วงที่ต้องการทำให้อ้อยแตกกอและสร้างลำลดลง เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นปัจจัยแรกที่จะทำให้ได้ผลผลิตอ้อยมากกว่า 20 ตันคือ ต้องมีการจัดการทันเวลา ทั้งนี้การจะจัดการให้ได้ทันเวลาจะต้องมีเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพอยู่ในสภาพพร้อมใช้
อ้อยเป็นพืชต้องการน้ำมากทุกระยะการเจริญเติบโต แต่ปริมาณและการกระจายของฝนในพื้นที่ปลูกอ้อยไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของอ้อย โดยทั่วไปปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีจะเป็นตัวกำหนดว่าอ้อยจะผลผลิตสูงหรือต่ำ ดังนั้นการที่ตะผลิตอ้อยให้ได้มากกว่า 20 ตันต่อไร่ จำเป็นต้องมีน้ำให้เพียงพอเพื่อเสริมปริมาณน้ำฝน จากการถอดรหัสก็แสดงให้เห็นว่าแปลงที่อ้อยผลผลิตมากกว่า 20 ตันต่อไร่ เป็นแปลงที่มีระบบชลประทานทั้งสิ้น และให้น้ำได้ประมาณ 6 ครั้ง ตลอดอายุอ้อย
นอกจากมีน้ำเพียงพอแล้ว ระบบการให้น้ำต้องมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ถ้าใช้ระบบราดร่องก็ต้องสูบน้ำที่พร้อมใช้งาน มีท่อส่งน้ำหัวแปลง พื้นที่ไม่ควรเป็นดินทรายจัด มีการปรับพื้นที่ให้ลาดเทเหมาะสม หรือถ้าเป็นน้ำหยดบนดิน สานย้ำหยดก็ไม่ควรแตกรั่วเสียหาย และแปลงอ้อยก็ไม่ควรสูงต่ำเป็นคลื่น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ คนงานหรือผู้รับเหมาให้น้ำต้องมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ มีการตรวจเช็คการไหลของหัวน้ำหยด และรอยต่อต่าง ๆ ดูแลให้แปลงอ้อยได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอทั่วถึง และไม่มีน้ำท่วมขัง
การพักดินและบำรุงดินมีความจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้อ้อยได้ผลผลิตมากกว่า 20 ตันต่อไร่ เนื่องจากดินในพื้นที่ปลูกอ้อยมีสุขภาพ (Rail Health) เสื่อมลงอย่างมาก เนื่องจากการเผาอ้อยทำให้อินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารลดลง การไถพรวนบ่อย ๆ ครั้ง และการใช้เครื่องมือหนักลงเหยียบย่ำแปลงทำให้โครงสร้างของดินเสียไป นอกจากนี้การปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการพักดิน ทำให้เกิดการสะสมของโรคและแมลง จึงจำเป็นต้องมีการพักดิน และบำรุงดิน โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ คือการปลูกพืชตระกูลถั่วสลับ การใส่ฟิลเตอร์เค้ก หรือกากอ้อยเก่า การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รายละเอียดของแต่ละกิจกรรม
เนื่องจากผลผลิตของอ้อยต่อไร่ จะขึ้นอยู่กับจำนวนลำอ้อยต่อไร่ ดังนั้นถ้าต้องการผลผลิตอ้อยเกิน 20 ตันต่อไร่ จะต้องทำให้จำนวนลำมากกว่า 10,000 ลำต่อไร่ และมีน้ำหนักลำเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าลำละ 2 กิโลกรัม วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ได้จำนวนลำมาก ๆ คือการปลูกให้งอก 100% ซึ่งพอจะมีหลักประมาณความงอกของอ้อยได้ว่าในความยาวแถวอ้อย 10 เมตร จะต้องมีตาที่งอกไม่ต่ำกว่า 60 ตา ถือว่างอก 100% ถ้าปลูกอ้อยแล้วความงอกต่ำงอกไม่เต็มพื้นที่ การที่จะทำให้อ้อยแตกกอและสร้างลำมาชดเชยหลุมที่หายจะทำได้ยากกว่ามาก สุดท้ายจะทำให้ไม่ได้จำนวนลำตามที่เราต้องการ ผลผลิตจะต่ำกว่า 20 ตันต่อไร่
การที่จะปลูกอ้อยให้งอก 100% จะต้องพิถีพิถันตั้งแต่การควบคุมคุณภาพของท่อนพันธุ์ โดยไปทำการตรวจสอบแปลงอ้อยที่จะตัดมาทำพันธุ์ อ้อยควรจะมีสภาพสมบูรณ์ไม่มีพันธุ์ปน และปราศจากโรคแมลง ขณะที่คนงานตัดพันธุ์ต้องคัดเอาลำที่เป็นโรคแมลงหรือตาไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ไม่เอามาทำพันธุ์ แปลงที่จะปลูกก็จะต้องเตรียมดินให้ละเอียดเพื่อให้แนบท่อนพันธุ์ รักษาความชื้นให้เพียงพอสำหรับการงอกของตาอ้อย และให้มีช่องอากาศขนาดใหญ่ รอบท่อนพันธุ์ที่ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่สัมผัสความชื้น ปัจจุบันแนะนำให้ใช้วิธีการเตรียมดินตามหลักของ Modern Farm
ขณะที่วางท่อนพันธุ์ลงดิน ความชื้นในดินขณะนั้นต้องเพียงพอต่อการงอก ตามหลักวิชาการแล้วควรเป็นระดับความชื้นสนาม (Field capacity) อาจประเมินอย่างหยาบ ๆ โดยขุดดินที่ความลึกระดับท่อนพันธุ์ (10-12 ซม.) แล้วกำดูถ้ากำแล้วแบมือออกดินยังคงเป็นก้อนไม่แตกกระจายก็ถือว่ามีความชื้นเพียงพอ ถ้าความชื้นไม่เพียงพอต้องให้น้ำทันทีหลังปลูกไม่เกิน 2 วัน เพราะถ้าทิ้งไว้นานตาอ้อยจะแห้งความงอกจะลดลง วิธีที่ดีที่สุดคือปลูกไปให้น้ำไป ในกรณีของดินเหนียวที่จะเตรียมดินให้ละเอียดได้ยาก จะต้องเตรียมดินหลายครั้งทำให้ต้นทุนสูง ถ้าสามารถให้น้ำช่วงปลูกได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเตรียมดินละเอียดมาก ใช้วิธีให้น้ำช่วยก็จะทำให้อ้อยงอกได้ดี
การตัดอ้อยมาจากแปลงพันธุ์ควรมีการวางแผนการตัดพันธุ์ การเตรียมแปลงปลูกและการปลูกให้สัมพันธ์กับแรงงานและเครื่องจักรกลที่มี โดยตัดพันธุ์ให้พอดีปลูกในแต่ละวัน ไม่ควรตัดพันธุ์ทิ้งไว้นานเกิน 3 วัน การตัดพันธุ์และการบรรทุก และขนส่งอ้อยต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ทำอันตรายต่อตาอ้อย เช่นการโยนมัดอ้อยด้วยแรงงานคน มักจะทำให้ตาอ้อยเสียหาย ความลึกของท่อนพันธุ์จะขึ้นกับความชื้นของดิน ความลึก มาตรฐาน จะอยู่ที่ 10-12 เซนติเมตร แต่ถ้าดินความชื้นน้อยก็ต้องปลูกให้ลึกมากกว่านี้ หรือถ้าดินมีความชื้นสูงก็ปลูกให้ตื้นกว่านี้
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปลูกอ้อยไม่ประสบความสำเร็จได้ผลผลิตต่ำ และขาดทุน เนื่องจากการทำงานของผู้รับเหมาไม่ได้คุณภาพ เจ้าของแปลงก็ไม่ได้ไปตรวจสอบคุณภาพงานของผู้รับเหมาอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมในไร่แทบทุกขั้นตอนมักจะมีผู้รับเหมามารับดำเนินการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของแปลง ในภาระเรื่องการจัดหาแรงงาน อุปกรณ์และเครื่องจักรกลต่าง ๆ
กิจกรรมดังกล่าวตั้งแต่การตัดพันธุ์ การขนท่อนพันธุ์ การเตรียมดิน การปลูก การใส่ปุ๋ยรองพื้น การควบคุมวัชพืช การให้น้ำ การเก็บเกี่ยว การขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ตลอดจนการบำรุงตอ ทุกขั้นตอนเหล่านี้ ถ้าทำไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้ผลผลิตอ้อยไม่สูงตามที่ตั้งไว้ แต่จะทำให้ต้นทุนสูง เนื่องจากต้องแก้ไขงานทำให้กิจกรรมล่าช้าไม่ทันเวลา
ดังนั้นในการจะทำให้อ้อยได้ผลผลิตมากกว่า 20 ตันต่อไร่ ควรต้องกำหนดมาตรฐานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ความลึก และความสม่ำเสมอของการไถ ความลึกของริปเปอร์ระเบิดดินดาน ความละเอียดของเม็ดดิน ความสม่ำเสมอของการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย พ่นสารเคมี การตัดอ้อย เมื่อกำหนดมาตรฐานแล้วต้องมีการตรวจสอบคุณภาพงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมีมาตรการลงโทษ เช่น การแก้ไขหน้างาน การว่ากล่าวตักเตือน การปรับเงิน และการขึ้นบัญชีดำ เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์และการทำงานในไร่ของมิตรชาวไร่เอง จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้มิตรชาวไร่ ประสบความสำเร็จในฐานะชาวไร่อ้อยคนหนึ่ง ทั้งนี้เพียงแค่ประสบการณ์อย่างเดียวคงยากจะพิสูจน์ได้ว่าเราคือชาวไร่ที่สมบูรณ์ หากต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมให้การปลูกอ้อยเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และได้ผลผลิตตามเป้าหมาย จึงจะเรียกว่าสำเร็จโดยแท้จริง