สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ หากถามว่า วัสดุใดที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด เชื่อว่าหลายคนต้องตอบ “พลาสติก” จริงไหมคะ เพราะพลาสติกเป็นวัสดุพื้นฐานที่เป็นส่วนประกอบในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเรามากมาย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มาในรูปแบบบบรจุภัณฑ์ ถุงพลาสติก ขวดน้ำ หลอด แก้ว จาน ชาม และอื่น ๆ อีกมากมาย
ถามต่ออีกว่า ปลายทางของพลาสติกที่เราใช้เหล่านี้ไปไหน คำตอบคือ “ถูกทิ้ง” ค่ะ กลายมาเป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก เพราะพลาสติกผลิตจากปิโตรเคมี ใช้เวลาย่อยสลายไม่ต่ำกว่า 400-500 ปีทีเดียวค่ะ
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ไทยมีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 0.5 ล้านตันเท่านั้นที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) เช่น แก้วน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ไม่มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และส่วนใหญ่ยังถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศเมื่อไหลลงสู่ทะเล กระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารและสัตว์น้ำ สถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกจึงนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
เรากำลังจะพามิตรชาวไร่ไปรู้จักกับ พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจาก ‘อ้อย’ พืชที่เราปลูก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ของคนรักษ์โลก เพราะพลาสติกชีวภาพนี้ ไม่ต้องรอย่อยสลายถึง 400 ปีเหมือนพลาสติกทั่วไป
“อ้อย” พืชบ้านเราที่นอกจากจะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย โดยการนำมาต่อยอดสู่การผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ โดยนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล จากนั้นนำน้ำตาลมาเข้าสู่กระบวนการหมักโดยมีจุลินทรีย์ที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติค (Lactic Acid) แล้วจึงนำกรดแลคติคที่ได้มาผ่านกระบวนการ "โพลิเมอไรเซชัน" เพื่อเปลี่ยนให้เป็น Polylactic acid (PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ และสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อไปนั่นเอง
มิตรชาวไร่ลองนึกภาพตามว่า หากมีการนำพลาสติกที่ย่อยสลายได้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งต่าง ๆ รอบตัวเรา เช่น แก้วน้ำ หลอด กล่องอาหาร จาน ชาม ช้อน ส้อม มีด ถุงหูหิ้ว หรือแม้แต่วัสดุทางด้านการเกษตร เช่น แผ่นฟิล์มสำหรับคลุมดิน เพื่อป้องกันการเติบโตของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน ถุงและกระถางสำหรับเพาะต้นกล้าไม้ เพื่อทดแทนพลาสติกแบบเดิม จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมายขนาดไหน นอกจากนี้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ยังสามารถนำไปใช้ในด้านการแพทย์ เช่น การผลิตผิวหนังเทียม ไหมละลาย อุปกรณ์ประเภทสกรู และแผ่นดามกระดูกที่ฝังอยู่ในร่างกาย
เมื่อพลาสติกแบบเดิมซึ่งใช้เวลานานในการย่อยสลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของภาวะโลกร้อน จึงนำมาสู่การออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าว อย่าง“ภาษีพลาสติก” (Plastic Tax) ที่ในบางประเทศเริ่มมีการบังคับใช้หรืออยู่ในระหว่างเตรียมการบังคับใช้แล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยมาตรการดังกล่าวจะเรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิตหรือนำเข้า ที่มีการผลิตหรือใช้ ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก ซึ่งการจัดเก็บภาษีพลาสติกจะทำให้ต้นทุนของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคหันมาเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือเลือกใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เพื่อช่วยให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง
แม้ว่ามาตรการภาษีพลาสติกที่เริ่มใช้ในหลายประเทศ จะยังไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยในขณะนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มที่ตลาดต่าง ๆ จะเริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติกมากขึ้น ประเทศไทยจึงควรเตรียมรองรับการปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยการใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง หรือ ข้าวโพด ที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพได้ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศของเราในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันรักษาโลกของเราให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ