- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- จ., 16 ก.ย. 62
ปัจจุบันอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยยังมีการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีต้นทุนการผลิตสูง ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมชีวภาพมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยโครงการเพิ่มมูลค่าจากน้ำอ้อยเป็นกรดลีวูลินิกเพื่อใช้เป็นสารควบคุมวัชพืช เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการศึกษาการผลิตกรดลีวูลินิกความเข้มข้นสูงเพื่อพัฒนาเป็นสารควบคุมวัชพืช
กรดลีวูลินิก ได้จากการทำปฏิกิริยาเปลี่ยนน้ำตาลในน้ำอ้อยด้วยอุณหภูมิ ความดันสูง โดยมีกรดซัลฟิวริกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จากการทดสอบการใช้กรดลีวูลินิก (LA) และอนุพันธ์ของกรดลีวูลินิก (5-ALA) ที่ได้จากการสกัดน้ำอ้อยมาใช้ควบคุมวัชพืชที่เป็นปัญหาของภาคการเกษตร
โดยทีมพัฒนาได้ทดสอบกับวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่ และกก ในสภาพห้องปฏิบัติการ โดยเลือกวัชพืช ได้แก่ หญ้าตีนนก ผักเสี้ยนผี ไมยราบ และแห้วหมู พบว่ากรดลีวูลินิคมีศักยภาพในการเข้าทำลายวัชพืชกลุ่มดังกล่าว 100% ที่ระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังพ่นสาร
นอกจากนี้ได้นำสารดังกล่าวไปทดสอบความเป็นพิษต่อต้นอ้อย พบว่าที่ระยะเวลาหลังได้รับสาร 24-96 ชั่วโมง สารทั้งสองชนิดสามารถสร้างความเป็นพิษต่อใบอ้อยได้ โดยทำให้เกิดอาการไหม้ที่ใบ เกิดบาดแผลสีน้ำตาล ขอบของแผลมีสีน้ำตาลเข้ม และหลังจากระยะเวลา 120 ชั่วโมง ไม่พบการพัฒนาของอาการใบไหม้เพิ่ม
ส่วนใบใหม่เพิ่งออกไม่พบความผิดปกติ และไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตโดยทั่วไปของต้นอ้อย ดังนั้นสารดังกล่าวอาจมีศักยภาพเบื้องต้นในการนำไปควบคุมวัชพืช จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต เพื่อหารูปแบบและวิธีการใช้สารดังกล่าวที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดน้ำอ้อยที่เป็นอุตสาหกรรมภายในประเทศ ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากน้ำอ้อยนั่นเอง
ขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพ