- ข่าวสารมิตรชาวไร่
- อ., 20 เม.ย. 64
สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ เข้าสู่ฤดูร้อนที่ทั้งร้อนและแล้งเช่นนี้ การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ปีนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1-2 องศาฯ รวมถึงปริมาณฝนของปี 2567 คาดว่าจะมาช้าและปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว
ยิ่งอากาศร้อน ๆ มาก ๆ การใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค รวมถึงการเกษตรยิ่งมีความต้องการมากขึ้น ดังนั้นกรมชลประทาน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้เปิดเผยถึงการจัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 66/67 ทั่วประเทศไปแล้ว 15,355 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 5,608 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผน จนถึงขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว 8.50 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 147 ของแผนฯ โดยมีพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้ว 0.63 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 5.68 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 188 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.41 ล้านไร่
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุน โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ที่มีปริมาณน้ำจำกัด กรมชลประทาน
จึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ไม่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ให้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า พร้อมกันนี้ยังได้กำชับโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำไว้คอยช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรได้ทันที
ทั้งนี้กรมชลประทานยังประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนทุกภาคส่วนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย
ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ