หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ในปีที่อ้อยราคาดีเช่นนี้ คงไม่มีใครอยากให้อ้อยของตน ติดเชื้อหรือเกิดโรคใด ๆ ที่จะทำให้ผลผลิตและคุณภาพอ้อยลดลง รวมถึงต้องเพิ่มต้นทุนในการดูแลกำจัดโรคใช่ไหมคะ

แน่นอนว่าตัวเราเองยังต้องการให้ไม่มีโรคภัยในร่างกาย อ้อยก็เช่นกันค่ะ ในฐานะชาวไร่อ้อย ไม่มีใครอยากให้อ้อยที่เราฟูมฟักเลี้ยงดู เกิดโรคทั้งจากเชื้อโรคหรือแมลงศัตรูอ้อยต่าง ๆ แน่นอน ดังนั้นการดูแลและสำรวจอ้อยอย่างสม่ำเสมอก็มีส่วนสำคัญในการเลี้ยงดูอ้อยนะคะ

สำหรับวันนี้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มีโรคชนิดหนึ่งที่มักเกิดกับอ้อยมาแนะนำให้มิตรชาวไร่รู้ทัน และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคนี้กับอ้อย เพราะเราเชื่อว่า หากเรารู้ทัน ก็สามารถป้องกันได้ก่อนแน่นอนค่ะ ซึ่งโรคอ้อยที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้คือ โรคกอตะไคร้ หรือ Grassy shoot นั่นเองค่ะ

โรคกอตะไคร้ หรือ Grassy shoot เป็นโรคอ้อยที่มีลักษณะคล้ายโรคใบขาว ซึ่งมีสาเหตุมาจาก เชื้อไฟโตพลาสมา (green grassy shoot phytoplasma)

003.jpg

ลักษณะอาการของอ้อยที่เป็นโรคกอตะไคร้

อ้อยที่เป็นโรคจะแตกกอฝอยกลางต้น ใบอ้อยมีลักษณะเรียวเล็ก เป็นฝอยคล้ายกอตะไคร้ ใบจะมีสีเขียวปกติ ถึงเขียวอ่อน หรืออาจมีสีซีดบ้าง แต่ไม่ซีดขาว ในอ้อยปลูก อ้อยที่เป็นโรคจะให้ลำตามปกติแต่อาจสังเกตเห็นอาการลักษณะลำเล็ก หรือคล้ายกอตะไคร้ในภายหลังบริเวณโคนกอ จำนวนลำอ้อยจะน้อยกว่าอ้อยปกติ ซึ่งส่งผลให้ ผลผลิตต่อไร่ลดลง อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นในอ้อยตอ หากเกิดในพันธุ์ที่อ่อนแอ อ้อยอาจ ตายได้

เมื่ออ้อยติดเชื้อโรคแล้ว จะแพร่ระบาด ติดเชื้อไปทางท่อนพันธุ์จากกอที่เป็นโรค

ดังนั้นหากมิตรชาวไร่ไม่ต้องการให้อ้อยในไร่เกิดโรคกอตะไคร้ สามารถป้องกันได้ ดังนี้

  1. หมั่นตรวจแปลง และขุดหรือทำลายต้นที่เป็นโรค
  2. ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาด
  3. ทำแปลงพันธุ์ของตนเอง
  4. ปลูกอ้อยข้ามแล้งช่วยลดการเกิดโรค
  5. บำรุงอ้อยให้เจริญเติบโตอย่างดีไม่ให้เกิดสภาพความเครียด เช่น ให้น้ำในเวลาที่ใช่ คือ ให้น้ำตามระยะเวลาที่อ้อยต้องการ และปรับปรุงดินโดยการไถกลบใบอ้อย หรือปลูกพืชตระกูลถั่วเมื่อแปลงว่างก่อนการปลูกอ้อยใหม่ จากนั้นให้ไถกลบเป็นปุ๋ยสดให้ดินต่อไป

เทคนิคสำคัญ ที่ทำได้ไม่ยาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้อยคือ การหมั่นตรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอค่ะ เพราะหากเห็นว่าเกิดความผิดปกติในอ้อย เราก็จะสามารถจัดการได้ทันที ก่อนที่จะลามสร้างความเสียหายไปทั้งแปลงนั่นเองค่ะ

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://en.wikipedia.org/

http://www.sugarzone.in.th/

 

ข่าวปักหมุด