หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกท่าน คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับชาวไร่ผู้มากประสบการณ์ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาว ฝ่าปัญหาอ้อยไฟไหม้ อ้อยโดนภัยแล้งมานักต่อนัก แต่ด้วยความตั้งใจและกล้าเปลี่ยนแปลง วางแผนบริหารไร่อ้อยด้วยแนวคิดการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่นำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนด้วยหลัก “เตรียมดินให้ดี ปลูกอ้อยให้ทันเวลา แก้ปัญหาแล้งด้วยระบบน้ำหยด ตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน” ทำให้ไร่อ้อยของคนเก่งมิตรชาวไร่ผู้นี้ ได้ผลผลิตสูง ไว้ตอได้นาน จนเป็นที่กล่าวขานโดยทั่วกัน

พ่อเทียนชัย ยศทะแสน คือคนเก่งมิตรชาวไร่ที่เรากำลังพูดถึง ด้วยประสบการณ์ทำไร่อ้อยตั้งแต่ปี 2527 เรียกได้ว่าเป็นมิตรชาวไร่ของโรงงานภูหลวงยุคแรก ๆ ทำให้พ่อเทียนชัย เป็นที่รู้จักของเพื่อนชาวไร่ในหนองบัวลำภู และละแวกใกล้เคียงเป็นอย่างดี

พ่อเทียนชัย วัย 75 ปี เล่าที่มาที่ไป กว่าจะเป็นพ่อเทียนชัย มิตรชาวไร่คนเก่งในปัจจุบันให้เราฟังว่า

 “ก่อนจะมาปลูกอ้อย พ่อทำมาหลายอย่างมาก ทั้งทำนา ค้าข้าว ขายข้าวโพด ขายของฝาก รับซื้อมัน ซื้อปอ สีข้าวโพด สีข้าวส่งโรงสี เยอะแยะไปหมด หลัง ๆ สีข้าวโพดอย่างเดียว จนกระทั่งเห็นโรงงานมิตรภูหลวงมาตั้ง เลยตัดสินใจเลิกทำทุกอย่าง ลองมาปลูกอ้อยดูสิ โรงงานก็อยู่แค่ตรงนี้ ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้”

IMG_7140-2.jpg

จากอดีตสู่ปัจจุบัน การทำไร่อ้อยแตกต่างกันอย่างไร

พ่อเทียนชัย เริ่มอาชีพชาวไร่อ้อยบนพื้นที่ของตัวเองประมาณ 30 ไร่ ทำไร่ตั้งแต่ยุคที่ต้องพึ่งพาแรงงานคนสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนมีไร่อ้อยเป็นของตนเองกว่า 1,000 ไร่ในปัจจุบัน

“ช่วงแรกพ่อเริ่มจากการเป็นลูกไร่เขาอยู่ 2 ปี จากนั้นค่อยมาขอเปิดโควตาเอง เมื่อก่อนทำไร่อ้อยลำบากมาก ไถเตรียมดินเอง ชักร่อง สับท่อนอ้อย แบกไปวาง แล้วค่อยกลบ ไหนจะปัญหาแล้งอีก สมัยก่อนน้ำท่ามีซะที่ไหน ปลูกอ้อยไม่มีน้ำเลย ทำอ้อยรอฝนอย่างเดียว”

และจุดเปลี่ยนที่ทำให้พ่อเทียนชัยตัดสินใจปรับพื้นที่แปลงอ้อยให้รองรับการทำงานของรถตัดและเครื่องจักรกลการเกษตรต่าง ๆ คือปัญหาสุดคลาสสิกสำหรับเถ้าแก่ไร่อ้อย คือขาดแคลนแรงงานคน ทั้งเจอปัญหาโกงเงินค่ามัดจำ ต้องไปหาคนงานไกล ๆ เพิ่มต้นทุนค่าเดินทาง สารพัดปัญหา เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ทำให้พ่อเทียนชัยตัดสินใจลงทุนซื้อรถตัดอ้อย

“ก่อนจะซื้อรถตัด พ่อตัดอ้อยไฟไหม้ เผาอย่างเดียว เงินไม่ได้ (หัวเราะ) โดนหักอ้อยไฟไหม้ ค่าความหวานก็ไม่ได้ พอมีรถตัดชีวิตเปลี่ยนทันที ทำงานสะดวกสบายขึ้น มีรถตัดอ้อยใช้คนแค่ 2-3 คนก็จัดการได้ นอกจากรถตัดแล้ว พ่อมีเครื่องใส่ปุ๋ย ริปเปอร์ รถไถ และอีกหลายอย่าง ทำไร่สมัยนี้สบายกว่าเมื่อก่อนเยอะครับ”

นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ดีกว่าอย่างไร

“การใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่าง ๆ ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก พ่อใช้รถตัด ตัดอ้อยสดได้อ้อยจริง ๆ ได้ค่าอ้อยสดด้วย ได้ใบอ้อยเป็นปุ๋ย คลุมดิน คลุมวัชพืช ลดต้นทุนกำจัดวัชพืชหญ้าต่าง ๆ เก็บความชื้นในดินได้ดี ตอทน ไว้ตอได้ 4-5 ตอ มีแต่ได้กับได้”

การลงทุนกับนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ หลายคนอาจมองว่าเป็นการสร้างหนี้ สร้างภาระ แต่สำหรับพ่อเทียนชัยกลับมองว่า นั่นคือการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้มีแต่มากขึ้นเรื่อย ๆ

“พ่อคิดว่าเป็นหนี้ก็จริง แต่สิ้นปีก็มีใช้คืนหมด หักลบต้นทุน มีกำไรต่อยอด ได้ทรัพย์สินเพิ่ม ได้รถ ได้ที่ดิน ซื้อที่ดิน ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่ม เอาเงินเก็บไว้กับตัวเก็บไม่อยู่หรอก สู้เราวางแผนลงทุนกับทรัพย์สินเหล่านี้ เราก็เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน” พ่อเทียนชัยกล่าว

น้ำคือปัจจัยสำคัญ แก้ปัญหาแล้งด้วยระบบน้ำหยด

พื้นที่ไร่อ้อยของพ่อเทียนชัย เดิมเป็นที่ต้องปลูกอ้อยรอฝน แต่พ่อเทียนชัยได้ศึกษาวิธีให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด โดยใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ทำให้พ่อเทียนชัยแก้ปัญหาน้ำในไร่อ้อยได้อย่างดี

“หน้าแล้งพ่อก็ทำเรื่องน้ำหยด โดยใช้โซลาร์เซลล์ มีคนมาขอดูงานเยอะ เพราะพ่อเป็นต้นแบบการใช้โซลาร์เซลล์ให้น้ำรุ่นแรก ๆ การให้น้ำหยดอ้อยมีความแตกต่างเห็นได้ชัดเจนเลยนะ อ้อยทน ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แต่ก่อนไม่ให้น้ำหยด ได้ผลผลิตแค่ไร่ละ 7-8 ตัน พอใช้น้ำหยดในไร่ เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 12-15 ตัน ที่สำคัญอ้อยไว้ตอได้นาน แปลงหลัก ๆ ที่ให้น้ำหยดไว้ได้ 6-7 ตอ เคล็ดลับของพ่อคือ พอตัดเสร็จอ้อยงอกก็ให้น้ำหยด ฝังปุ๋ย แล้วก็ให้น้ำอีกรอบ อ้อยงามโตดีแน่นอน”

DJI_0081 (2).JPG

ไร่อ้อยแห่งนี้คือศูนย์เรียนรู้แห่งความภาคภูมิใจ

ด้วยความพิถีพิถัน มุ่งมั่น ตั้งใจทำไร่อ้อยจนประสบความสำเร็จ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้งานในไร่ จนได้ชื่อว่าเป็นชาวไร่ในดวงใจของเขต บวกกับนิสัยส่วนตัวของพ่อเทียนชัยที่เป็นคนอัธยาศัยดี ชอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่ของพ่อเทียนจึงกลายเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งความภาคภูมิใจ

IMG_6993-2.jpg

มองอนาคตไร่อ้อยเป็นอย่างไร

“ตอนนี้พ่อมีแรงพ่อก็ทำเต็มที่ แต่พ่อไม่ห่วงอะไร เพราะมีทายาทมาช่วยงานอย่างแข่งขัน 3 แรง ลูกชาย 2 คน ลูกเขย 1 คน ทุกคนมีหน้าที่ชัดเจน นี่ก็ใกล้เปิดหีบ ก็แบ่งงานกันแล้ว ที่นี่เราอัดใบเอง บางคนคุมรถตัด บางคนคุมคนตัด บางคนซ่อมรถ ดูแลการเงินการบัญชีก็ให้ทวีศักดิ์ลูกชายจัดการ ลูกชายอีกคนชื่อพิทักษ์ดูเรื่องตัด เรื่องน้ำ เรื่องรถให้ลูกเขยดู พ่อสอนทุกคนและถ่ายทอดให้ทุกอย่าง อยากให้ไร่อ้อยเรายั่งยืนไปถึงลูกหลานเลยแหละ”

สุดท้ายพ่อเทียนฝากแนวคิดในการทำไร่อ้อยแก่เพื่อนมิตรชาวไร่ว่า

“หากเราตั้งใจทำ และจริงใจ ไม่ว่าจะทำอะไรก็เกิดประโยชน์ หากมีปัญหาหรืออยากได้ความรู้ ปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของมิตรผลได้ เขามีอะไรให้เราเรียนรู้มากมาย สำหรับชาวไร่ที่เพิ่งเริ่ม พ่ออยากให้ความสำคัญเรื่องการลงริปเปอร์ก่อนไถ เอาปุ๋ยรองพื้น ถ้ามีน้ำหยดให้ใช้น้ำหยด หรือจะวิธีอะไรก็ได้ ทดลองในพื้นที่ตนเองดูก่อน เพื่อให้ได้วิธีปลูกอ้อยได้อย่างยั่งยืน”

 

 

ข่าวปักหมุด